ลอนดอน--24 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
สภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยรายงาน 'ทองคำและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ: ผลกระทบในปัจจุบันและอนาคต' หรือ 'Gold and Climate Change: Current and future impacts' เพื่อให้ความกระจ่างแก่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรม ทั้งในเรื่องการสร้างมลภาวะของผู้ผลิตทองคำและบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านสภาพอากาศในแผนกลยุทธ์ลงทุนระยะยาว
รายงานฉบับใหม่จัดทำขึ้นจากงานริเริ่มของสภาทองคำโลกในปี 2561 โดยนำเสนอมุมมองที่ครอบคลุมมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบด้านสภาพอากาศของทองคำ และวิธีการที่ภาคอุตสาหกรรมผลิตและเหมืองทองคำจะลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส
นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังพิจารณาด้วยว่า บทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ลงทุนจะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางกายภาพและการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์กระแสหลักอื่น ๆ
ผลการศึกษาสำคัญในรายงานฉบับนี้ ประกอบด้วย:
- ทบทวนผลการประเมินเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษทั้งในภาคการผลิตและการบริโภคทองคำ ซึ่งให้ข้อมูลที่แม่นยำและสร้างความเข้าใจที่ครอบคลุมขึ้นเกี่ยวกับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกของทองคำ (GHG) และปริมาณการปล่อยคาร์บอน ขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงข้อมูลในงานปี 2561 ให้มีความถูกต้อง นอกจากนี้ ผลการศึกษายังยืนยันว่าการใช้ทองคำในอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น เครื่องประดับ ทองคำแท่ง และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สร้างผลกระทบเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนของทองคำไม่มาก
- มีโอกาสที่อุตสาหกรรมทองคำจะลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุผลให้เชื่อว่าการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงในการทำเหมืองทองคำสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่วิธีปฏิบัติที่ลดคาร์บอนจนเป็นศูนย์และมีประสิทธิภาพได้
- ทองคำในฐานะสินทรัพย์ ดูมีความแข็งแกร่งในบริบทความเสี่ยงทางกายภาพและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ลงทุนในกระแสหลักส่วนใหญ่ ความยืดหยุ่นของทองคำสะท้อนให้เห็นกลไกขับเคลื่อนความต้องการทองคำในบางส่วน ซึ่งหนุนให้เกิดการลงทุนในทองคำอย่างกว้างขวาง
- เมื่อพิจารณาประกอบกันแล้ว ผลการศึกษาเหล่านี้ยังชี้ว่าทองคำอาจมีบทบาทเพิ่มเติม ในฐานะสินทรัพย์บรรเทาความเสี่ยงด้านสภาพอากาศในแผนกลยุทธ์ลงทุนระยะยาว
ดร. เบน คัลเดอคอตต์ ผู้อำนวยการโครงการการเงินที่ยั่งยืนของอ๊อกซฟอร์ด และรองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ให้ความเห็นว่า "นักลงทุนทั่วโลก ตั้งแต่นักลงทุนสถาบันรายใหญ่ไปจนถึงนักออมชาวมิลเลนเนียล ต่างตื่นตัวกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยคาร์บอนติดลบเป็นความท้าทายระดับโลก แต่ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสและช่วยเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์และบริษัททุกภาคอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจโลก รายงานฉบับใหม่โดยสภาทองคำโลกได้ตั้งโจทย์สำคัญให้กับอุตสาหกรรมทองคำ ในการแก้ปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ยังมองทองคำเป็นส่วนหนึ่งของทางออกด้วย ผมสนับสนุนรายงานฉบับนี้ และตั้งตาคอยที่จะได้เห็นความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมทองคำในไม่กี่ปีข้างหน้านี้"
เทอร์รี เฮย์แมนน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของสภาทองคำโลก กล่าวว่า "เรายอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก งานวิจัยชิ้นใหม่นี้แสดงให้เห็นบทบาทที่สำคัญของทองคำในการส่งเสริมเศรษฐกิจที่ลดคาร์บอน ทั้งในกระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนและในฐานะสินทรัพย์การลงทุนที่น่าดึงดูดใจ ในขณะที่นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่ยืดหยุ่นในพอร์ตของตน ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยจากความเสี่ยงทางกายภาพและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัญหาโลกร้อน"
ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.gold.org/goldhub/research/gold-and-climate-change-current-and-future-impacts
สามารถติดตาม World Gold Council บน Twitter ที่ @goldcouncil และกดไลก์บน Facebook
สำหรับบรรณาธิการ:
สภาทองคำโลก
สภาทองคำโลก เป็นองค์กรพัฒนาตลาดสำหรับอุตสาหกรรมทองคำ วัตถุประสงค์ของเราคือการกระตุ้นและรักษาอุปสงค์ทองคำให้มีความยั่งยืน ตลอดจนเป็นผู้นำอุตสาหกรรมและผู้มีอำนาจระดับโลกในตลาดทองคำ
เราพัฒนาโซลูชั่น บริการ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับทองคำ บนพื้นฐานข้อมูลเชิงลึกในตลาดที่เชื่อถือได้ เราทำงานร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลายในการนำแนวคิดของเราไปปฏิบัติ ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ เราทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำหรับอุปสงค์ทองคำในทั่วทุกภาคส่วนของตลาดที่สำคัญๆ เรามอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดทองคำระหว่างประเทศ ช่วยให้ผู้คนเข้าใจคุณค่าของการเก็บรักษาทองคำ รวมถึงบทบาทของทองคำในการตอบสนองความต้องการทางสังคมและสภาพแวดล้อม
สมาชิกของสภาทองคำโลกประกอบไปด้วยบริษัทเหมืองทองคำชั้นนำระดับโลกที่มีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกล
No comments:
Post a Comment