เมืองผูเอ่อร์ ในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พัฒนาจนกลายเป็นแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าคุณภาพระดับโลก และมีชื่อเสียงเลื่องลือว่าเป็น "สวรรค์แห่งอาราบิก้า"
เมืองผูเอ่อร์เริ่มทำไร่กาแฟขนาดใหญ่ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2531 หลังจากที่เมล็ดกาแฟเมล็ดแรกได้เข้ามาสู่พื้นที่แห่งนี้เมื่อกว่าร้อยปีก่อน
เมืองผูเอ่อร์มีป่าไม้ปกคลุมสูงถึง 74.59% และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยผูเอ่อร์ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ปลูกกาแฟของโลกตามแนวเส้นศูนย์สูตร (coffee belt) และได้รับการขนานนามว่าเมืองหลวงแห่งกาแฟของจีน
ในปี 2563 เมืองผูเอ่อร์มีพื้นที่ปลูกกาแฟ 51,733.33 เฮกตาร์ คิดเป็น 48.8% ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดในประเทศ และผลผลิตเมล็ดกาแฟอยู่ที่ 58,600 ตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของเมล็ดกาแฟทั้งหมดที่เทียบเคียงได้ในประเทศจีน
เท็ด ลิงเกิล อดีตกรรมการบริหารของสมาคม Specialty Coffee Association of America (SCAA) รู้สึกประทับใจกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมกาแฟในเมืองผูเอ่อร์ และกล่าวว่ากาแฟผูเอ่อร์เป็นหนึ่งในกาแฟที่ดีที่สุดในโลก มีความเข้ม หอม แต่ไม่ขม ตลอดจนมีความมันและความเปรี้ยวสูง
ลิงเกิลได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของตลาดซื้อขายกาแฟ Yunnan International Coffee Exchange มาตั้งแต่ปี 2558 เขาชื่นชอบกาแฟผูเอ่อร์ และบอกกับผู้ค้ากาแฟทั่วโลกอยู่เสมอในทุกฤดูเก็บเกี่ยวว่า กาแฟได้พบ "บ้านใหม่" ในประเทศจีนแล้ว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กาแฟผูเอ่อร์ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมกาแฟทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ เมืองผูเอ่อร์ได้รับการขนานนามว่าเป็นห้องทดลองกาแฟระดับประเทศ และเป็นฐานเพาะพันธุ์เมล็ดกาแฟเมล็ดเล็กของมณฑลยูนนาน ร่วมกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยกาแฟอื่น ๆ อีกมากมายหลายแห่ง
ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกกาแฟกว่า 20,000 เฮกตาร์ในเมืองผูเอ่อร์ได้รับการรับรองมาตรฐาน 4C และพื้นที่เพาะปลูกกว่า 6,666.67 เฮกตาร์ได้รับการรับรอง C.A.F.E. Practices ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 1,333.33 เฮกตาร์ได้รับการรับรอง Rainforest Alliance และ UTZ
ในเดือนกันยายน 2563 กาแฟผูเอ่อร์ถูกบรรจุอย่างเป็นทางการให้เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มแรกในรายการคุ้มครองของข้อตกลงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จีน-สหภาพยุโรป
เท็ด ลิงเกิล กล่าวว่า ที่เมืองผูเอ่อร์ ผู้ค้ากาแฟจากทั่วโลกจะได้ค้นพบกาแฟชนิดพิเศษที่ได้มาตรฐานกาแฟพิเศษระดับนานาชาติ และหวังว่าผู้คนจะได้เรียนรู้และลิ้มลองกาแฟที่ผลิตในมณฑลยูนนานกันมากขึ้น
ดูลิงก์ต้นฉบับได้ที่ https://en.imsilkroad.com/p/324966.html
No comments:
Post a Comment