Tuesday, March 29, 2022

สกายไดรฟ์ และ ซูซูกิ เล็งสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและเทคโนโลยีรถบินได้

 - เริ่มพิจารณาเรื่องการพัฒนาและผลิตรถบินได้ รวมถึงการพัฒนาตลาดในอินเดีย -

บริษัท สกายไดรฟ์ อิงค์ (SkyDrive Inc.) (ต่อจากนี้เรียกว่า "สกายไดรฟ์") และบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (Suzuki Motor Corporation) (ต่อจากนี้เรียกว่า "ซูซูกิ") ประกาศสร้างความร่วมมือในธุรกิจรถบินได้ (*) เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา

สกายไดรฟ์คือผู้นำด้านการผลิตรถบินได้ในญี่ปุ่น โดยปัจจุบันกำลังพัฒนารถบินได้พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กสองที่นั่ง พร้อมกับวางแผนผลิตอย่างเต็มรูปแบบ

ซูซูกิคือหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น โดยมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ขนาดเล็กในตลาดต่างประเทศ

เงื่อนไขของข้อตกลงระบุว่า สกายไดรฟ์และซูซูกิจะเริ่มพิจารณาสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและเทคโนโลยีในหลากหลายส่วน ครอบคลุมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การวางแผนผลิตและการวางระบบผลิตปริมาณมาก การพัฒนาตลาดต่างประเทศโดยมุ่งเน้นที่อินเดียเป็นอันดับแรก และการส่งเสริมความพยายามในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน

สกายไดรฟ์ตั้งเป้าว่าจะเริ่มให้บริการแอร์แท็กซี่ (Air Taxi) ในมหกรรมเวิลด์เอ็กซ์โป 2025 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเริ่มให้บริการในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ

ซูซูกิถือคติที่ว่า "พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเหนือกว่าโดยให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก" และปัจจุบันได้นำเสนอผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการเดินทางเคลื่อนที่ 3 หมวดหมู่ ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์เรือ โดยบริษัทตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคขาดไม่ได้ ด้วยการปรับตัวให้ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคและทำหน้าที่เป็นยานพาหนะที่พาไปยังที่ต่าง ๆ สำหรับการสร้างความร่วมมือกับสกายไดรฟ์จะช่วยให้ซูซูกิมีโอกาสได้สำรวจและอาจเพิ่มรถบินได้เป็นธุรกิจหมวดหมู่ที่ 4 ของบริษัท

เกี่ยวกับสกายไดรฟ์ อิงค์
สกายไดรฟ์ ก่อตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2018 โดยมีภารกิจหลักคือ "การเป็นผู้นำการปฏิวัติการเดินทางที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบหนึ่งศตวรรษ" นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา บริษัทได้เดินหน้าพัฒนารถบินได้และโดรนขนส่งสินค้าอย่างไม่หยุดยั้ง และมุ่งมั่นผนึกกำลังกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันเกี่ยวกับโลกแห่งอนาคตที่ผู้คนสามารถใช้ยานบินเป็นพาหนะในการเดินทางในชีวิตประจำวัน สกายไดรฟ์เป็นบริษัทเพียงแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการทดสอบบินแบบมีคนขับ และปัจจุบันกำลังมีส่วนร่วมในการออกแบบระบบเพื่อรองรับการเดินทางทางอากาศในอนาคต ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสภาความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนเพื่อปฏิวัติการเดินทางทางอากาศของญี่ปุ่น ปัจจุบัน โดรนขนส่งสินค้าของบริษัทซึ่งรับน้ำหนักได้สูงสุด 30 กิโลกรัม ได้ถูกนำไปใช้แล้วในหลายสถานที่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ภูเขา นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าว่าจะเปิดให้บริการรถบินได้ในบริเวณอ่าวโอซากาในปี 2025 ทั้งนี้ สกายไดรฟ์มีสำนักงานใหญ่อยู่ในย่านชินจูกุ กรุงโตเกียว โดยมีคุณโทโมฮิโระ ฟุคุซาวะ ดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัท  

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://en.skydrive2020.com/

เกี่ยวกับซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น
ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น คือหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่นและผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ชั้นนำระดับโลก นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยานยนต์ เช่น เครื่องยนต์เรือและวีลแชร์แบบมีเครื่องยนต์ บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง รวมถึงผ่านทางบริษัทในเครือและบริษัทร่วมทุนหลายแห่งนอกประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ซูซูกิก่อตั้งขึ้นในปี 1920 และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองฮามามัตสึ จังหวัดชิซุโอกะ โดยมีคุณโทชิฮิโระ ซูซูกิ ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท  

เว็บไซต์ https://www.globalsuzuki.com/

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ
(*) รถบินได้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าอากาศยานไฟฟ้าที่บินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง หรือ eVTOL (electric vertical takeoff and landing) โดยเป็นอากาศยานที่ใช้พลังงานไฟฟ้า บินด้วยระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ และบินขึ้น-ลงจอดในแนวดิ่ง ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าล่าสุดในแวดวงการเดินทาง และการพัฒนารถบินได้กำลังได้รับการสนับสนุนในหลายประเทศทั่วโลก โดยในญี่ปุ่นนั้น สภาความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนเพื่อปฏิวัติการเดินทางทางอากาศ (Public-Private Council for Air Mobility Revolution) ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2018 และมีการประชุมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การให้บริการแอร์แท็กซี่ในเขตเมือง การขนส่งรูปแบบใหม่ในพื้นที่ภูเขาและเกาะที่ห่างไกล และการขนส่งในกรณีฉุกเฉินเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทั้งนี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว (MLIT) ได้ร่วมกันวางโรดแมปเพื่อเริ่มธุรกิจในปี 2023 และใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2030

ที่มา: สกายไดรฟ์ อิงค์ และ ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น

No comments:

Post a Comment