กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (Ministry of Communications and Informatics หรือ MCI) ของอินโดนีเซีย ผ่านขบวนการรู้ดิจิทัลแห่งชาติ (GNLD) หรือ "ซิเบอร์เครอาซี" (Siberkreasi) ได้ร่วมมือกับลาเลย์มานิโน (LALEILMANINO) และเจเคทีโฟร์ตีเอต (JKT48) ในการเปิดตัวแคมเปญส่งเสริมการรู้ดิจิทัลใหม่ล่าสุดอย่าง #BeraniBersuara แคมเปญนี้มีเนื้อเพลงฟังง่าย เพื่อให้ความรู้แก่คนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเจนซี (Gen Z) ให้รู้ทันโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น พร้อมสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่สร้างสรรค์ มีจรรยาบรรณ และปลอดภัย
ลาเลย์มานิโนได้แต่งเพลงใหม่อันไพเราะให้แคมเปญนี้ว่า "Berani Bersuara <3<3" ซึ่งปล่อยให้ฟังในวันที่ 27 พฤษภาคม โดยมีไอดอลกรุ๊ปชื่อดังขวัญใจวัยรุ่นอย่างเจเคทีโฟร์ตีเอตเป็นคนร้องเพลงนี้ การเปิดตัวเพลงนี้จะตามมาด้วยแคมเปญ "Duet Bareng JKT48" เพื่อเชิญชวนให้ชาวเจนซีร้องเพลงคู่กับเจเคทีโฟร์ตีเอตและลาเลย์มานิโนบนโซเชียลมีเดีย เช่น อินสตาแกรมและติ๊กต็อก เนื้อร้องของเพลงนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและเชื่อมโยงกับเจนซี
นิโน สมาชิกวงลาเลย์มานิโน กล่าวว่า "เราเชื่อว่าเพลงเป็นสื่อที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ ในการย้ำเตือนคุณค่าดี ๆ ที่เรามักมองข้าม เราหวังใช้บทเพลงที่ค่อนข้างรื่นเริงและสดใส ให้ผู้ฟังเข้าใจข้อความสำคัญที่เราพยายามจะสื่อเมื่อมาในรูปแบบเนื้อเพลงที่สร้างความบันเทิงใจ การใส่อีโมติคอน <3<3 ลงในท้ายชื่อเพลงนั้นเป็นการเล่นคำ hati-hati ซึ่งมีความหมายได้ทั้ง 'หัวใจคู่' หรือ 'สดใสเข้าไว้' ในภาษาอินโดนีเซีย เพลงนี้สดใสมากแต่ในขณะเดียวกันก็มีความหมายลึกซึ้งด้วย"
ในขณะเดียวกัน เจเคทีโฟร์ตีเอตได้แสดงความหวังว่า ชาวเจนซีจะแสดงบทบาทของตนในโลกดิจิทัลได้ โดยเชนี (Sheni) หนึ่งในสมาชิกวงเจเคทีโฟร์ตีเอตในฐานะกระบอกเสียงของวง กล่าวว่า "คนรุ่นใหม่และชาวเจนซีกำลังมองหาความบันเทิงและบุคคลต้นแบบบนโซเชียลมีเดีย เราหวังใช้เพลงและการเต้นในการสร้างความประทับใจให้ผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซีย"
การเปิดตัวแคมเปญนี้มีขึ้นในช่วงวันตื่นรู้แห่งชาติของอินโดนีเซีย ซึ่งตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม และเป็นไปตามคำสั่งของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ในการปลุกจิตวิญญาณความสร้างสรรค์ของชาวเจนซีในอินโดนีเซีย เพื่อสร้างคอนเทนต์พลังบวกและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล
เฝ้าดูชาวเจนซีของอินโดนีเซีย
ข้อมูลสถิติจากบิสิเนส ออฟ แอปส์ (Business of Apps) เมื่อปี 2563 แสดงให้เห็นว่า ชาวเจนซี 98% มีสมาร์ทโฟนที่มีแอปติ๊กต็อกและสแนปแชทอยู่ด้วย โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเขาใช้เวลาวันละประมาณ 4.1 ชั่วโมงในการใช้แอปพลิเคชันออนไลน์ นอกเหนือจากเวลาที่ใช้ไปกับการเล่นเกมออนไลน์
แม้ชาวอินโดนีเซียจะชอบเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ก็อยู่ในอันดับรั้งท้ายในดัชนีความสุภาพทางดิจิทัล (Digital Civility Index) ประจำปี 2563 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีคะแนนเพียง 76 คะแนน ทำให้ชาวอินโดนีเซียดูวางตัวได้แย่ที่สุดในโลกดิจิทัล ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของการหลอกลวง การฉ้อโกง และความเกลียดชัง ซึ่งมักจะพบและแชร์กันทางดิจิทัลในหมู่คนอินโดนีเซียด้วยกันเอง
คุณริซกี อมีเลีย (Rizki Amelia) ผู้ประสานงานโครงการรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) ในสังกัดกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า "เมื่อเห็นสภาวะเช่นนี้แล้ว เราหวังว่าแคมเปญ #BeraniBersuara จะไม่ได้เข้ามาให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวเจนซีในอินโดนีเซียสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่น่าสนใจเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้พวกเขาเข้าใจความสำคัญในการเล่นโซเชียลอย่างฉลาดและมีจรรยาบรรณด้วย พร้อมให้พวกเขาห่างไกลการหลอกลวง การฉ้อโกง และการรังแกทางไซเบอร์"
ในฐานะกลุ่มนักดนตรีที่ใส่ใจกับการรู้ดิจิทัลอย่างมีจรรยาบรรณ วงลาเลย์มานิโนกล่าวว่า "แม้เราจะดีใจที่ทุกคนกล้าแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น แต่เราก็ยังคงเห็นลิงก์หรือคอมเมนต์ที่ส่งเข้ามาแบบไม่มีจรรยาบรรณ เราหวังว่าเพลงนี้จะให้ความบันเทิงด้วยเนื้อเพลงที่สร้างแรงบันดาลใจให้ชาวเจนซีสื่อสารแต่สิ่งดี ๆ ในอินโดนีเซีย"
ดูข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม "Duet dan Nyanyi Bareng" ได้บนติ๊กต็อก อินสตาแกรม และยูทูบของขบวนการรู้ดิจิทัลแห่งชาติ ดูข้อมูลเพิ่มเติมและกิจกรรมส่งเสริมการรู้ดิจิทัลอื่น ๆ ได้ที่ http://info.literasidigital.id
เกี่ยวกับกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศอินโดนีเซีย
กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศอินโดนีเซีย มีหน้าที่ในการเผยแพร่และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลระดับประเทศ เพื่อเร่งยกระดับอินโดนีเซียสู่ยุคดิจิทัล
ทางกระทรวงกำลังทำงานกับพันธมิตรอย่างขบวนการรู้ดิจิทัลแห่งชาติ หรือซิเบอร์เครอาซี เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการรู้ดิจิทัลแก่บุคคลทั่วไปผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ โดยมุ่งใช้การรู้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศและประชาชนชาวอินโดนีเซีย
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1827738/Article_Photo_Rev.jpg
No comments:
Post a Comment