Wednesday, October 26, 2022

การแข่งขันแผนธุรกิจระดับโลกลี กวนยู ครั้งที่ 11 เชิญชวนนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ทั่วโลกเข้าร่วมพลิกโฉมอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

      สถาบันนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ (Institute of Innovation and Entrepreneurship หรือ IIE) ของมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ (Singapore Management University หรือ SMU) ประกาศเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมการแข่งขันแผนธุรกิจระดับโลกลี กวนยู (Lee Kuan Yew Global Business Plan Competition หรือ LKYGBPC) ครั้งที่ 11

การแข่งขันในหัวข้อนวัตกรรมไร้พรมแดน - พลิกโฉมอนาคตที่ชาญฉลาด ยั่งยืน และยืดหยุ่น (Innovations Without Boundaries - Reimagining a Smart, Sustainable, and Resilient Future) มีจุดมุ่งหมายในการรวบรวมพรสวรรค์เฉียบคมและความคิดของผู้ประกอบการจากมหาวิทยาลัยทั่วโลก เพื่อเสนอแนวคิดและการแก้ปัญหาที่จะจัดการกับความท้าทายในยุคปัจจุบัน เพื่อพลิกโฉมอนาคต

LKYGBPC เป็นการแข่งขันสาขานี้ครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นที่โซลูชันเทคโนโลยีขั้นสูงจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น สุขภาพและศักยภาพมนุษย์ การผลิต การค้าและการเชื่อมต่อ สื่อและความบันเทิง ประเทศอัจฉริยะและเศรษฐกิจดิจิทัล โซลูชันเมือง ความยั่งยืน และอีกมากมาย

ผู้เข้าร่วมเลือกสมัครได้โดยมีให้เลือก 2 สาขา ได้แก่ 0 to 1 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ทีมที่ยังไม่มีการสร้างรายได้ด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือ 1 to Infinity ซึ่งมุ่งเน้นไปที่สตาร์ตอัปที่เพิ่งมีการสร้างรายได้ในระยะเริ่มต้น จนถึงระดับการระดมทุนซีรีส์ เอ

ฮอ โกห์ ฟู ( Hau Koh Foo) ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ สังกัดมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับ LKYGBPC ครั้งนี้ว่า "การแข่งขันครั้งนี้มุ่งหวังที่จะเป็นเวทีสำหรับสิงคโปร์ในการร่วมมือกับนักธุรกิจสายเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และอำนวยความสะดวกในการนำโซลูชันเหล่านี้ไปใช้ เพื่อให้สิงคโปร์และเอเชียเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจสำหรับการใช้ชีวิตในชุมชนเมืองด้วยดิจิทัลอย่างยั่งยืน"

ในเดือนมิถุนายน 2566 จะมีการเลือกทีมผู้เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 50 ทีม (RVLT50) โดยที่สมาชิกสองคนต่อทีมจะมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนการเดินทาง (ตั๋วเครื่องบินและที่พัก) ไปยังสิงคโปร์ เพื่อเข้าร่วมงานเบลซ (BLAZE) ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการประกวด LKYGBPC ระหว่างวันที่ 11-15 กันยายน 2566 พวกเขาจะเข้าร่วมกิจกรรมที่เน้นด้านนวัตกรรม ความรู้ การให้คำปรึกษา และการสร้างเครือข่าย

งานเบลซยังจะเปิดเวทีให้ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายได้นำเสนอผลงานกันแบบสด ๆ ต่อหน้าคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัล เพื่อคว้ารางวัลชนะเลิศในหมวดเบต้า (Beta) และอินฟินิตี (Infinity) โดยจะประกาศชื่อทีมที่ชนะในวันที่ 15 กันยายน 2566

รางวัลมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรดังต่อไปนี้

  • วิลมาร์ อินเตอร์เนชันแนล (Wilmar International) ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้ก่อตั้ง
  • เอพีอาร์ดับเบิลยู (APRW)
  • ลีแอนด์ลี (Lee & Lee)
  • เมย์แบงก์ (Maybank)
  • แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี (McKinsey & Company)
  • ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวติงแห่งชาติสิงคโปร์ (National Supercomputing Centre Singapore)
  • โอยูอี (OUE)
  • เซจ พาร์ตเนอร์ส (Sage Partners)
  • ซิโน กรุ๊ป (Sino Group)
  • เวฟเมกเกอร์ พาร์ตเนอร์ส (Wavemaker Partners)

การประกวด LKYGBPC ครั้งที่ 10 เมื่อปี 2564 มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 850 รายการ จากมหาวิทยาลัย 650 แห่ง ใน 60 ประเทศและดินแดน โดยทีมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐเข้าร่วมแข่งขันใน RVLT50

ปิดรับสมัครวันที่ 31 มีนาคม 2566

No comments:

Post a Comment