Thursday, December 22, 2022

CGTN: จีนเปิด 'แนวทางใหม่' ยกระดับการรักษาโควิด-19

      จีนทำงานแข่งกับเวลาในการพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 พร้อม ๆ ไปกับการสนับสนุนให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ปกป้องตัวเองและคนรอบข้าง

นอกจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดในช่วงสามปีที่ผ่านมาจะช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายร้ายแรงมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอน และป้องกันการเสียชีวิตได้เป็นจำนวนมากแล้ว จีนยังเดินหน้าพัฒนาวิธีการรักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพเพื่อขยายการป้องกันโรคไปยังผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

จีนริเริ่มพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 จากสามแนวทางหลักมาตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดใหญ่ แนวทางทั้งสามนี้ประกอบด้วย การยับยั้งกลไกการจำลองตัวเองของไวรัส ขัดขวางไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์เป้าหมาย และควบคุมการตอบสนองไวเกินของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์

ยาแอนติบอดีสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ตัวแรกของจีน เป็นแอนติบอดีค็อกเทล หรือยาแอนติบอดีแบบผสม ประกอบไปด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดีสองชนิด ได้แก่ อะมูบาร์วิแมบ (amubarvimab) และรอมลูเซวิแมบ (romlusevimab) และได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยหน่วยงานกำกับดูแลยาของประเทศเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564

การรักษาใช้วิธีฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ และการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มในหลายประเทศพบว่า ยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการลดการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงสูงได้ 80%

นอกจากนี้ แอนติบอดีที่ใช้ในการรักษายังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นแอนติบอดีที่มีฤทธิ์กว้างทำให้ไวรัสหมดฤทธิ์ได้ (broadly neutralizing antibody: bnAb) โดยสามารถกำหนดเป้าหมายไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ของไวรัส ตามข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยโดยศาสตราจารย์จาง หลินฉี (Zhang Linqi) แห่งโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยชิงหวา ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่มีส่วนร่วมในการรักษาโควิด-19 ด้วยยาแอนติบอดี

"ยาแอนติบอดีและวัคซีนเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน โดยต่างมีบทบาทในการป้องกันและรักษาโรค" ศ.จางกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ The Paper สำนักข่าวดิจิทัลของจีน เมื่อเดือนธันวาคม 2564

นอกเหนือจากการรักษาด้วยแอนติบอดีค็อกเทลนี้แล้ว จีนยังมีความก้าวหน้าในการพัฒนายาโควิด-19 ตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยยาตัวล่าสุดคือ F61 ซึ่งเป็นยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูก

F61 พัฒนาโดยซิโนฟาร์ม (Sinopharm) บริษัทเภสัชกรรมของจีนซึ่งรับผิดชอบในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย โดย F61 ได้รับการอนุมัติสำหรับการทดลองทางคลินิกเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นอกจากนี้ F61 ยังเป็นแอนติบอดีชนิด bnAb ที่มีการตอบสนองต่อสายพันธุ์โอมิครอนในระดับสูง

ข้อมูลจากบริษัทซิโนฟาร์มระบุว่า สเปรย์พ่นจมูกช่วยให้ยาสามารถออกฤทธิ์โดยตรงกับระบบทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณหลังโพรงจมูก โดยสร้างเยื่อป้องกันบนเยื่อบุจมูก

นอกจากดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาและการผลิตยาโควิด-19 ตัวอื่น ๆ แล้ว สเปรย์พ่นจมูกดังกล่าวยังช่วยลดความรุนแรงของอาการ รวมทั้งป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ดี การสนับสนุนให้ประชาชนฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ ตามที่ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (CDC) กล่าว

ในการให้สัมภาษณ์กับไชน่า มีเดีย กรุ๊ป (China Media Group) เมื่อเดือนเมษายน 2564 หวัง หัวชิง (Wang Huaqing) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ผู้รับผิดชอบแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของ CDC กล่าวว่า จีนจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อย 1 พันล้านคนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2565 มีการฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 3.45 พันล้านเข็ม และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีได้รับวัคซีนครบแล้วมากกว่า 228 ล้านคน ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน ซึ่งคิดเป็นกว่า 86% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มอายุดังกล่าว ตามข้อมูลของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Commission)

กล่าวคือ ประชาชนกว่า 90% ในประเทศจีนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว รวมถึงการฉีดเข็มกระตุ้นด้วย

ขณะนี้จีนกำลังเปิดตัวโครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สอง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

ด้วยความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาวัคซีน ปัจจุบันจีนมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนทั้งในรูปแบบฉีด สูดดม และพ่นจมูก

นอกจากนี้จีนยังเร่งพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งหนึ่งในนั้นได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในอินโดนีเซียเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

https://news.cgtn.com/news/2022-12-17/-New-Approaches-How-China-stepped-up-its-COVID-19-treatments-1fNYIqSorxS/index.html

No comments:

Post a Comment