เนื่องในวันสากลโรคกระดูกพรุน 20 ตุลาคม 2559 มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (IOF) ได้ออกมาเตือนผู้คนให้ตื่นตัวกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน อันเป็นภัยเงียบที่ทำให้กระดูกเปราะและแตกหักได้ง่าย
แค่ถูกกระทบหรือหกล้มเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนก็อาจกระดูกหักได้ โดยในทั่วโลกนั้น เพศหญิงจำนวน 1 ใน 3 และเพศชายจำนวน 1 ใน 5 ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ถูกตรวจพบว่ามีอาการกระดูกหักเนื่องจากเป็นโรคกระดูกพรุน และพบทุกๆ 3 วินาที
ศ.จอห์น เอ คานิส ประธาน IOF เตือนว่า "เราไม่ควรมองข้ามอันตรายจากอาการกระดูกหักที่มีสาเหตุจากโรคกระดูกพรุน รวมถึงผลกระทบที่มีต่อคุณภาพชีวิตและการพึ่งพาตนเองของผู้สูงอายุ" โดยในกลุ่มผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหักนาน 1 ปีนั้น พบว่ากว่า 33% ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือต้องมีผู้ดูแลอยู่ที่บ้าน ในขณะที่อีก 24% เสียชีวิต นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไปที่มีอาการกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ยังมีสถิติพักฟื้นในโรงพยาบาลยาวนานกว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็งเต้านม
ตื่นตัวกับปัจจัยเสี่ยงของตน!
การใช้ชีวิตอย่างใส่ใจกระดูกถือเป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพกระดูกที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารที่มีแคลเซียม โปรตีน และวิตามินสูง การได้รับวิตามิน D อย่างเพียงพอ การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ไปจนถึงการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยการเกิดโรคกระดูกพรุนอีกหลายประการอยู่เหนือการควบคุม เช่น บิดามารดามีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหัก รวมถึงการเป็นโรคบางอย่างหรือการกินยาที่เป็นผลเสียต่อกระดูก เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคลำไส้เล็กและทางเดินอาหารอักเสบ ไปจนถึงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาเพิ่มฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ ยายับยั้งเอนไซม์อะโรมาเตส รวมถึงต้องรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการยับยั้งฮอร์โมนเพศชาย (ADT)
IOF ขอนำเสนอแบบทดสอบวัดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนในนาทีเดียว ( IOF One-Minute Osteoporosis Risk Test ) เพื่อแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงของการเกิดโรค นอกจากนี้ คุณอาจขอให้แพทย์ทำแบบประเมิน FRAX (R) เพื่อหาความเสี่ยงของอาการกระดูกหักที่มีสาเหตุจากโรคกระดูกพรุนในอีก 10 ปีข้างหน้า
ศ.คานิส กล่าวเพิ่มเติมว่า "ถ้าหากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ผมขอแนะนำให้คุณไปตรวจสุขภาพกระดูกและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตตามความจำเป็น และถ้าหากมีความเสี่ยงสูงมาก คุณควรพิจารณาทางเลือกการรักษาที่เหมาะสม เพื่อการป้องกันขั้นสูงสุดจากอาการกระดูกหักที่อาจเป็นภัยร้ายต่อชีวิต"
No comments:
Post a Comment