- ความร่วมมือในปีแรกเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนกว่า 16,000 คนทั่วอาเซียน
- สำหรับความร่วมมือในปีหน้าจะเน้นไปที่การศึกษาและการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสร้างอนาคตอันยั่งยืนให้แก่อาเซียน
- สิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน "ASEAN Data Science Explorers" รอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคในปีหน้า
มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) และ เอสเอพี (NYSE: SAP) ประกาศสานต่อความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในปีหน้า หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในปีนี้ เพื่อเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอาเซียนต่อไป โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) และจะร่วมกันจัดโครงการต่างๆ ภายใต้สองยุทธศาสตร์หลักสำหรับปีหน้า นั่นคือ การศึกษาและการเป็นผู้ประกอบการ
โครงการต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนในอาเซียน เพื่อให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการจัดการกับปัญหาทางสังคมและเติบโตอย่างมีคุณภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงเพิ่มความสามารถขององค์กรในการอ้าแขนรับเยาวชนเข้าทำงานและผลักดันให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ตลอดจนสร้างแรงงานทักษะสูงป้อนอุตสาหกรรมไอทีผ่านการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากร
สามยุทธศาสตร์หลักภายใต้การทำงานร่วมกันในปีแรก ประกอบด้วย
การศึกษา
- การแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers สามารถดึงดูดนักศึกษา 804 คน จาก 112 สถาบัน ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนให้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยก่อนการแข่งขัน นักศึกษาได้ฝึกใช้ซอฟต์แวร์ Analytics Cloud ของเอสเอพีผ่านการสัมมนาออนไลน์และการสัมมนาในประเทศ โดยมีนักศึกษาเข้าใช้แพลตฟอร์มมากกว่า 600 ราย
- การแข่งขันดังกล่าวนำเสนอข้อมูลเชิงลึกและแนวคิดในการแก้ปัญหาสังคมที่เร่งด่วนที่สุดในภูมิภาค ซึ่งทีมที่มีความโดดเด่นคือ "Omotesando" จากประเทศอินโดนีเซีย ที่นำเสนอวิธีแก้ปัญหาความยากจนด้วยการผลักดันให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการเงินออนไลน์ และทีม "Tonkar Data" จากประเทศลาว ที่นำเสนอระบบเกษตรอัจฉริยะแนวดิ่งเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
การมีจิตอาสา
- โครงการ The Youth Volunteering Innovation Challenge (YVIC) ภายใต้แนวคิด "Impact ASEAN" ให้การสนับสนุนเยาวชนจิตอาสาทั่วอาเซียนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการให้คำแนะนำและเงินทุนสำหรับเริ่มต้นหรือขยายขนาดโครงการที่เยาวชนริเริ่มขึ้น
- นักนวัตกรรมจิตอาสารุ่นเยาว์ 29 คนจาก 10 ทีมทั่วอาเซียนได้เข้าร่วมโครงการ YVIC ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างโครงการอาสาสมัครขององค์การสหประชาชาติ (UNV), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), มูลนิธิอาเซียน, สำนักเลขาธิการอาเซียน และเอสเอพี ทั้งยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาลเยอรมนี
การเป็นผู้ประกอบการ
- ภายใต้ความร่วมมือนี้ เอสเอพีได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม 9 ราย จากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมชั้นนำ 50 รายในอาเซียน ผ่านสองโครงการ ได้แก่ โครงการ SAP Social Sabbatical และโครงการ NUS Crossing the Chasm Challenge ซึ่งพนักงานของเอสเอพีได้ให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้เพื่อให้ดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
เอเลน ตัน กรรมการบริหารมูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า "การประสานความร่วมมือครั้งนี้ทำให้เราสามารถใช้ทรัพยากรของทั้งสององค์กรในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในอาเซียนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่อาเซียน ปัจจุบัน ระบบดิจิทัลถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องร่วมมือกันมอบทักษะดิจิทัลให้แก่เยาวชน ซึ่งเอสเอพีก็เป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันมาโดยตลอด เราหวังที่จะสานต่อความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานแห่งอนาคตของอาเซียน"
MoU ฉบับนี้ลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ณ สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และนับแต่นั้นมา มูลนิธิอาเซียนและเอสเอพีก็ได้ร่วมกันดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้สามยุทธศาสตร์หลักข้างต้น
เคลาส์ แอนเดอร์เซ่น ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการของ เอสเอพี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ปี 2560 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญสำหรับประชาคมอาเซียน เนื่องจากเป็นปีที่อาเซียนมีอายุครบ 50 ปี และมูลนิธิอาเซียนมีอายุครบ 20 ปี ประชาคมอาเซียนเดินทางมายาวไกล และเอสเอพีภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเพื่อช่วยอาเซียนสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนกว่าเดิม การช่วยให้โลกหมุนไปในทิศทางที่ดีขึ้นและช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนถือเป็นหัวใจของทุกสิ่งที่เราทำ เรายินดีกับผลที่เกิดจากความร่วมมือในปีแรก และมั่นใจว่าการสานต่อความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกำหนดทิศทางโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของเรา อันจะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมทั่วทั้งภูมิภาค"
IMDA จากสิงคโปร์เตรียมร่วมจัดการแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers ปีหน้า
ในฐานะที่สิงคโปร์เป็นประธานอาเซียนปี 2561 การแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers รอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคจึงจัดขึ้นที่สิงคโปร์ในปีหน้า โดยมีหน่วยงานพัฒนาสารสนเทศและการสื่อสารของสิงคโปร์ (IMDA) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
ASEAN Data Science Explorers เป็นการแข่งขันของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาจาก 10 ประเทศอาเซียน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นอาเซียนในหมู่เยาวชน นักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนและแพลตฟอร์ม Analytics Cloud ของเอสเอพี ที่จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น อนึ่ง โครงการนี้มีเป้าหมายในการฝึกทักษะด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ให้แก่เยาวชน 5,000 คนทั่วอาเซียนในปี 2561
ตัน ฮุง เซ็ง ผู้แทนถาวรสิงคโปร์ประจำอาเซียน กล่าวว่า "สิงคโปร์มีความยินดีที่ได้จัดการแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers รอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคในปีหน้า โดยถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับพันธกิจของสิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งให้ความสำคัญกับความสามารถในการปรับตัวและนวัตกรรม การแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers จะสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชน ผ่านการผลักดันให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลมากขึ้น"
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ASEAN Data Science Explorers ได้ที่ http://www.aseandse.org/