เมอร์ค (Merck) บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ ประกาศในวันนี้ว่า บริษัทได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับบริษัท Promega Corp. บริษัทผู้ผลิตระดับโลกในวงการชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเมดิสัน รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ข้อตกลงดังกล่าวอนุญาตให้บริษัทแห่งนี้สามารถเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญา CRISPR พื้นฐานของเมอร์ค โดย Promega จะใช้เทคโนโลยีปรับแต่งยีน CRISPR ของเมอร์คในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการทางการวิจัย รวมถึงในส่วนของการพัฒนายา
อูดิท บาทรา สมาชิกคณะกรรมการบริหารของเมอร์ค และซีอีโอกลุ่มธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) กล่าวว่า "ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิครั้งนี้ Promega ตั้งใจที่จะใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของเรา ในการพัฒนาเซลล์ไลน์ที่ปรับแต่งด้วย CRISPR ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดประสิทธิภาพ ความเป็นพิษ และคุณลักษณะอื่น ๆ ของยา"
ข้อตกลงดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้นักวิจัยอ่านค่าระดับการแสดงออกของโปรตีนทางสรีรภาพหรือทางธรรมชาติได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เข้าใจพฤติกรรมของโปรตีนได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น
"ใบอนุญาตนี้เป็นการยกระดับศักยภาพของ CRISPR ขึ้นไปอีกขั้น และที่สำคัญกว่านั้น คือการเปิดมุมมองใหม่ให้เหล่านักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทำงานของเซลล์ตามธรรมชาติ" บิล ลินตัน ประธานและซีอีโอของ Promega กล่าว "สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวิจัยเชิงประยุกต์ในสาขาต่าง ๆ เช่น มะเร็งและประสาทวิทยาศาสตร์"
Promega กำลังสร้างเซลล์ไลน์แบบ knock-in ด้วย CRISPR ทั้งยังให้บริการตามคำขอของลูกค้า เพื่อตอบรับกับความต้องการของลูกค้าที่กำลังศึกษาเรื่องกลศาสตร์โปรตีน
เมอร์ค หวังที่จะเดินหน้าพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา CRISPR ต่อไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น paired Cas9 nickase ซึ่งช่วยลดการจับยีนเป้าหมายผิดพลาด (off-target effect) และ proxy-CRISPR ซึ่งช่วยให้นักวิจัยได้มีตัวเลือกมากขึ้นในการเร่งการพัฒนายาและเข้าถึงวิธีใหม่ ๆ ในการรักษา
ปัจจุบัน เมอร์คถือสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี CRISPR จำนวน 22 ฉบับทั่วโลก ทั้งวิธีการและองค์ประกอบ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีพื้นฐาน CRISPR-Cas9 สำหรับการรวมยีนในเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ใช้และผู้จัดหาเทคโนโลยีปรับแต่งยีน เมอร์คสนับสนุนการวิจัยที่มีการปรับแต่งจีโนมภายใต้การพิจารณาอย่างรอบคอบตามมาตรฐานทางจริยธรรมและกฎหมาย บริษัทได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางชีวจริยธรรม (Bioethics Advisory Panel) อิสระจากภายนอก เพื่อกำหนดแนวทางการวิจัยที่ธุรกิจของบริษัทได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับหรือที่ใช้การปรับแต่งจีโนม นอกจากนี้ เมอร์คยังได้กำหนดจุดยืนการดำเนินงานที่ชัดเจนโดยคำนึงถึงประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสังคม เพื่อเสนอแนวทางการรักษาโรคที่มีความหวังว่าจะสามารถนำไปใช้ในการวิจัยและการประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่าง ๆ
เกี่ยวกับ Promega
Promega Corporation เป็นผู้นำด้านการให้บริการโซลูชันล้ำสมัยและงานสนับสนุนทางเทคนิคแก่อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ บริษัทมีผลิตภัณฑ์รวมกันราว 4,000 รายการ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถยกระดับองค์ความรู้ของตนในเรื่องจีโนมิกส์ โปรติโอมิกส์ การวิเคราะห์เซลล์ การคิดค้นยา และการตรวจพิสูจน์บุคคล บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเมดิสัน รัฐวิสคอนซิน และมีสำนักงานสาขาใน 16 ประเทศ และผู้จัดจำหน่ายกว่า 50 รายทั่วโลก รับชมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Promega ได้ที่ www.promega.com
ข่าวประชาสัมพันธ์ของเมอร์คทั้งหมดได้รับการเผยแพร่ผ่านทางอีเมลในเวลาเดียวกับที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของเมอร์ค กรุณาเข้าไปที่ www.merckgroup.com/subscribe เพื่อลงทะเบียนออนไลน์ เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกบริการนี้
เกี่ยวกับ เมอร์ค
เมอร์ค คือบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ โดยมีการดำเนินงานครอบคลุมด้านการดูแลสุขภาพ ชีววิทยาศาสตร์ และวัสดุสมรรถนะสูง พนักงานประมาณ 56,000 คนของบริษัทต่างทุ่มเทในการสร้างความแตกต่างที่ดีต่อชีวิตของผู้คนหลายล้านคนในทุก ๆ วัน ด้วยการนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตที่มีความสุขและยั่งยืนยิ่งขึ้น เมอร์คเป็นทั้งผู้พัฒนาเทคโนโลยีตัดต่อยีน ไปจนถึงการเสาะหากลวิธีใหม่ ๆ ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่ท้าทายที่สุด ตลอดจนการคิดค้นอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยในปี 2561 เมอร์คทำยอดขายได้ 1.48 หมื่นล้านยูโร ใน 66 ประเทศ
การสำรวจทางวิทยาศาสตร์และการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ คือหัวใจหลักในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเมอร์ค ทั้งยังอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเมอร์คนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2211 ปัจจุบัน ครอบครัวผู้ก่อตั้งยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมอร์คครอบครองสิทธิ์ในชื่อและแบรนด์ "เมอร์ค" ทั่วโลก ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งบริษัทดำเนินธุรกิจในชื่อ อีเอ็มดี เซโรโน ในวงการดูแลสุขภาพ, มิลลิพอร์ซิกมา ในวงการชีววิทยาศาสตร์ และอีเอ็มดี เพอร์ฟอร์แมนซ์ แมททีเรียลส์
No comments:
Post a Comment