ผลการสำรวจของ DHL พบว่านักช็อปออนไลน์ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของการเลือกเวลาและสถานที่จัดส่งมากกว่าความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า อีกทั้งยังต้องการตรวจสอบสถานะการจัดส่งและชื่อบริษัทผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุได้ด้วยตัวเอง
ผลการสำรวจซึ่งจัดทำโดยบริษัท DHL เผยว่าร้านค้าปลีกออนไลน์สามารถสร้างจุดแข็งของตัวเองได้โดยการเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าสามารถเลือกวัน เวลา สถานที่ และวิธีการรับสินค้าที่สั่งซื้อได้เอง
"ความรวดเร็วในการจัดส่งเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่ใช่คำตอบ" คุณชาร์ลส์ บรูเออร์ CEO, DHL eCommerce กล่าว "จากการสำรวจความคิดเห็นของนักช็อปออนไลน์กว่า 1,000 รายในประเทศเยอรมนี พบว่าลูกค้า eCommerce 78% ต้องการะบุเวลาในการจัดส่งสินค้า ขณะที่ 68% ต้องการเลือกวันรับสินค้าได้ด้วยตัวเอง และ 94% พึงพอใจที่สามารถเลือกสถานที่รับสินค้า เช่น ตู้รับฝากสินค้าของ DHL ให้เป็นสถานที่ในการจัดส่งได้ ในขณะเดียวกันครึ่งหนึ่งของผู้ทำแบบสำรวจต้องการให้ฝากส่งสินค้าไว้กับเพื่อนบ้านในกรณีที่ลูกค้าไม่อยู่บ้าน"
นอกจากนี้ เรายังพบว่าค่านิยมดังกล่าวของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน โดยคุณมัลคอล์ม มอนติเอโร CEO, DHL eCommerce Asia Pacific กล่าวว่า "ในขณะที่ความรวดเร็วได้กลายเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการจัดส่งพัสดุไปแล้วนั้น ร้านค้าปลีกออนไลน์จะไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้ด้วยความรวดเร็วเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ซึ่งเห็นได้จากการที่ร้านค้าปลีกออนไลน์ในทวีปเอเชียจำนวนมากหันไปให้ความสำคัญกับการเพิ่มความหลากหลายของช่องทางในการเลือกรับสินค้า"
จากผลสำรวจพบว่า 66 % ของนักช็อปออนไลน์ให้ความสำคัญกับความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า แต่ก็ยังดูเหมือนว่าช่องทางที่หลายหลายสำหรับลูกค้าในการเลือกวันเวลาและจุดรับสินค้าได้จะสำคัญยิ่งยวดไปกว่าการจัดส่งที่รวดเร็ว
คุณมัลคอล์มกล่าวว่า "ความสำเร็จในการจัดส่งพัสดุจนถึงมือลูกค้าจะไม่ได้วัดจากความรวดเร็วเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว การจัดส่งพัสดุที่มีประสิทธิภาพจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการให้บริการไม่ว่าจะเป็นช่องทางการตรวจสอบสถานะการส่งพัสดุแบบเรียลไทม์ การแจ้งเตือนทาง SMS และแอพพลิเคชั่นบนมือถือ โดยระดับของความแม่นยำในการตรวจสอบจะเป็นตัวกำหนดความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อ eCommerce แบรนด์"
ในขณะเดียวกัน คาดว่าตลาด eCommerce ในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า ถึง 3,600 ล้านยูโรนับจากวันนี้ไปจนถึงปีพ.ศ.2563 ทั้งนี้มีผลสืบเนื่องมาจากอัตราการใช้สมาร์ทโฟนที่สูงถึง 49% ซึ่งคุณเกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า "การจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่ตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้บริโภคชาวไทยและร้านค้าปลีกออนไลน์จำนวนมากเริ่มหันมามองหาบริการจัดส่งพัสดุที่สามารถปรับใช้ได้ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย"
ทั้งนี้ คุณเกียรติชัยยังได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของทั้งผู้บริโภคและเจ้าของธุรกิจออนไลน์ที่ให้ความสำคัญกับบริการด้านการขนส่งที่สะดวกเรียบง่ายไม่ซับซ้อน และยังคงไว้ซึ่งระบบการดำเนินงานที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง
คุณเกียรติชัยกล่าวว่า "แน่นอนว่าการให้บริการจัดส่งพัสดุที่สามารถปรับใช้ได้ตามความต้องการของลูกค้า ประกอบกับระบบการจัดส่งที่มีประสิทธิภาพจะเป็นที่ต้องการในตลาดมากยิ่งขึ้น แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้เจ้าของธุรกิจออนไลน์สามารถมุ่งเน้นในการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจหลักของตนเองได้เต็มที่เพื่อสร้างการเจริญเติบโตของธุรกิจบนพื้นฐานของการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ"
นอกจากนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวยังพบว่า 88% ของนักช็อปออนไลน์ที่ทำแบบสำรวจต้องการตรวจสอบสถานะการขนส่งด้วยตัวเองโดยตรง ในขณะที่ 84% ต้องการทราบชื่อบริษัทผู้ให้บริการจัดส่งสินค้า และ 85% เห็นว่าหัวใจสำคัญของบริการคือการที่ลูกค้าสามารถติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่งได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการที่เครือข่ายการจัดส่งพัสดุแบบ B2C (Business to Consumer) ของ DHL eCommerce ในประเทศไทยให้บริการผ่านการส่ง SMS ถึงลูกค้าก่อนการจัดส่งทุกครั้ง
"ร้านค้าปลีกออนไลน์ในประเทศไทยจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการโลจิสติกส์แบบครบวงจรซึ่งไม่เพียงแต่ให้บริการจัดส่งที่รวดเร็วเท่านั้น แต่ยังต้องเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการจัดส่ง รวมถึงช่องทางการติดตามพัสดุให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ด้วย" คุณเกียรติชัยกล่าว "แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ผู้ให้บริการที่มีความพร้อมจะสามารถให้ทางเลือกที่หลากหลายและบริการที่มีความเรียบง่ายซึ่งจะเป็นโอกาสให้เจ้าของธุรกิจออนไลน์สามารถหันกลับไปทุ่มเทและดูแลธุรกิจของพวกเขาได้อย่างเต็มที่"
No comments:
Post a Comment