Thursday, December 21, 2017

เขตนำร่องการพัฒนากับบทบาทสำคัญในการเปิดเสรีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

          ทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างเมืองหุนชุน ในมณฑลจี๋หลิน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และเมืองมาคาลีโน ในประเทศรัสเซีย นับเป็นเส้นทางการขนส่งที่สำคัญที่รองรับเขตนำร่องการพัฒนาฉางชุน-จี๋หลิน-ถูเหมิน (Changchun-Jilin-Tumen Development Pilot Zone) ตามแผนยุทธศาสตร์ของจีน ดังเห็นได้จากปริมาณการขนส่งสินค้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.66 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 49% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

          ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากเมืองฉางชุน เมืองหลวงของมณฑลจี๋หลิน ไปยังทวีปยุโรป ผ่านทางเมืองหม่านโจวหลี่ ซึ่งเป็นเมืองท่าทางบกในเขตปกครองตนเองมองโกเลีย ทางภาคเหนือของจีน มีจุดรับส่งสินค้า 80 แห่งตลอดเส้นทางในรัสเซีย ซึ่งเชื่อมสถานีรถไฟหลัก 18 สถานีในหกประเทศยุโรป สินค้าที่บรรทุกมีปริมาณเพิ่มขึ้นสามเท่าจากปีที่แล้ว และมีการเติบโตเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างจีน-ยุโรป

          หลังได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนในปี 2552 เขตนำร่องการพัฒนาฉางชุน-จี๋หลิน-ถูเหมิน ก็ได้มีบทบาทสำคัญกับการมีส่วนร่วมของจีนในความร่วมมือระดับนานาชาติตามเส้นทางแม่น้ำถูเหมิน ผ่านทางการพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างเมืองฉางชุนและเขตปกครองตนเองชนชาติเกาหลีเหยียนเปียนในมณฑลจี๋หลิน เขตนำร่องแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 30,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร 7.7 ล้านคน

          เขตนำร่องการพัฒนาฉางชุน-จี๋หลิน-ถูเหมิน มีเป้าหมายที่จะผลักดันการเปิดประตูสู่ภายนอกมากขึ้น และให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมต่อความร่วมมือในประเทศและต่างประเทศ เขตนำร่องแห่งนี้ถือเป็นพื้นที่สนับสนุนที่สำคัญสำหรับระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ซึ่งเป็นพื้นที่หลักสำหรับความร่วมมือระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นพื้นที่สาธิตสำหรับการเปิดเสรีภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

          โดยได้มีการวางแผนสร้างถนนระหว่างประเทศ ซึ่งเริ่มต้นจากเมืองหุนชุน ผ่านเมืองฉางชุน เมืองชอยปาลซานของมองโกเลีย และประเทศรัสเซีย ก่อนที่จะขยายต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป ทางผ่านนี้จะเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางบก นอกจากนี้ มณฑลจี๋หลิน ยังเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางทะเล ผ่านทางท่าเรือซารูบิโนของรัสเซีย และท่าเรือไรจินและชงจินของเกาหลีเหนือ โดยมีเมืองหุนชุนเป็นจุดเริ่มต้น

          สำหรับเส้นทางคมนาคมร่วมทางบก-ทางทะเล จากเมืองหุนชุนไปยังท่าเรือปูซานในเกาหลีใต้นั้น เปิดใช้งานแล้ว ขณะที่ทางผ่านข้ามชายแดนจากเมืองหุนชุนไปยังเมืองชายฝั่งทางใต้ของจีน โดยผ่านท่าเรือของเกาหลีเหนือ ได้รับการอนุมัติเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างกัน

          เขตนำร่องการพัฒนาฉางชุน-จี๋หลิน-ถูเหมิน ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กว้างไกลออกไป ผ่านทางการก่อสร้างพื้นที่พัฒนาหลายแห่ง

          เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการส่งออกของจี๋หลินมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งภาคอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูได้แก่ การขนส่งระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว การแปรรูปทรัพยากรจากต่างประเทศ และการค้าชายแดน

          โดยในปี 2559 มูลค่าการค้าต่างประเทศของมณฑลจี๋หลินแตะที่ 1.217 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบรายปี หรือสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของทั้งประเทศ 4.7% สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 การค้าชายแดนของจี๋หลินขยายตัวขึ้นเกือบสี่เท่าสู่ระดับ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          ที่มา: เขตนำร่องการพัฒนาฉางชุน-จี๋หลิน-ถูเหมิน

No comments:

Post a Comment