"เราเป็นแม่ชี ไม่ใช่แม่ครัว" คือคำกล่าวของแม่ชีจองควาน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารวัดในเกาหลี ที่กลายเป็นคนดังหลังจากปรากฏตัวในรายการ Chef's Table ทาง Netflix
อาหารกลายเป็นวิถีในการปฏิบัติศาสนกิจของแม่ชีท่านนี้ได้อย่างไร คุณสามารถศึกษาหลักปรัชญาของท่านได้ผ่านอาหารวัด
อาหารวัดหมายถึงอาหารที่พระและแม่ชีฉันที่วัด แต่นี่เป็นเพียงนิยามบางส่วนเท่านั้น สำหรับชาวพุทธในเกาหลี อาหารวัดถือเป็นหนึ่งในวิธีการปฏิบัติตามคำสอน การทำอาหารวัดเริ่มตั้งแต่การปลูก การปรุง ไปจนถึงการรับประทาน
ชาวพุทธเคารพในทุกชีวิตและมีความกลมกลืนกับธรรมชาติ วัดในเกาหลีจึงปรุงอาหารโดยไม่ใช้เนื้อสัตว์ ปลา หรือเติมแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ และไม่ใช้ผัก 5 อย่างที่มีกลิ่นฉุน ได้แก่ กระเทียม ต้นหอม กุ้ยช่าย หอมหัวใหญ่ และกระเทียมต้น โดยการปรุงอาหารจะใช้เพียงผักตามฤดูกาล เต้าเจี้ยว และซอสถั่วเหลืองทำเอง
วิธีที่ดีที่สุดในการลิ้มลองอาหารวัดคือการเข้าวัดและร่วมกิจกรรมพักค้างแรมที่วัด ปัจจุบัน วัดราว 130 แห่งทั่วเกาหลีมีการจัดกิจกรรมพักค้างแรมที่วัด และบางวัดเปิดโอกาสให้ลองทำอาหารวัดด้วยตัวเอง (ดูรายละเอียดได้ที่ eng.templestay.com)
"วัดแบ็คยังซา" เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับแฟนรายการ Chef's Table เพราะคุณอาจได้เรียนรู้การทำอาหารวัดจากแม่ชีจองควาน ด้าน "วัดจินกวานซา" ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงเรื่องอาหารวัด ส่วนที่ "วัดบงซอนซา" คุณจะได้ลองทำข้าวห่อใบบัว นอกจากนี้ "วัดดงฮวาซา" ยังให้คุณได้ลองทำอาหารวัด 3-4 อย่างในคราวเดียว
ถ้าคุณมีเวลาไม่พอ คุณสามารถแวะไปที่ศูนย์อาหารวัดเกาหลี ซึ่งตั้งอยู่ในย่านอินซาดงใจกลางกรุงโซล และมีการเปิดคลาสสอนทำอาหารหนึ่งวัน "Let's Learn Korean Temple Food" ในภาษาอังกฤษ (สามารถจองได้ที่อีเมล info@templestay.com หรือโทร. +82-2-733-4650)
หากคุณต้องการลิ้มลองอาหารวัดในร้านอาหาร ทางภัตตาคาร "บัลอูคงยาง" ก็พร้อมเสิร์ฟ การันตีด้วยรางวัล 1 ดาวมิชลินสามปีซ้อน สำหรับชื่อร้าน "บัลอูคงยาง" มีความหมายว่าวิถีดั้งเดิมในการรับประทานอาหารแบบพุทธในเกาหลี (เว็บไซต์ eng.balwoo.or.kr โทร.+82-2-733-2081)
หากคุณต้องการดูแลร่างกายและจิตใจของตนเอง การมาเยือนเกาหลีและลิ้มลองอาหารวัดก็ถือเป็นการท่องเที่ยวที่ดีต่อสุขภาพ
No comments:
Post a Comment