กองทุนโอเปกเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (OPEC Fund for International Development) ฉลองครบรอบ 45 ปีในวันนี้ โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมา สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาหลายด้านแห่งนี้ได้มอบเงินสนับสนุนที่จำเป็นกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ประเทศพันธมิตร 135 ประเทศ
กองทุนโอเปกก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2519 โดยมีพันธกิจที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และมอบพลังให้กับผู้คน โดยประเทศสมาชิกของกองทุนโอเปกประกอบด้วย แอลจีเรีย เอกวาดอร์ กาบอง อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก คูเวต ลิเบีย ไนจีเรีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวเนซูเอลา ทั้งนี้ กองทุนโอเปกประสานงานกับประเทศพันธมิตรโดยตรง อีกทั้งยังร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาแห่งอื่น ๆ รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับภูมิภาค และหน่วยงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ เพื่อผลักดันการพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในวาระครบรอบ 45 ปี กองทุนโอเปกยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างมั่นคงจากประเทศสมาชิก โดยเมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนโอเปกเพิ่งอนุมัติเงินสนับสนุนงวดที่สองมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะได้รับจากประเทศสมาชิกตลอด 4 ปีข้างหน้า โดยเงินก้อนนี้เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณสนับสนุนรอบที่ 4 มูลค่ารวม 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสภารัฐมนตรีของกองทุนโอเปกได้อนุมัติไปเมื่อปี 2544 ส่วนเงินสนับสนุนงวดแรกมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้มีการมอบตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
อับดุลวาฮับ เอ อัล-บาเดอร์ ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนโอเปก กล่าวว่า "เราสามารถดำเนินโครงการพัฒนาด้วยเงินทุนสนับสนุนภายในองค์กร เนื่องจากมีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบและมีรายได้จากการดำเนินงานอันแข็งแกร่งมาอย่างยาวนาน โดยเงินสนับสนุนงวดที่สองนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างศักยภาพของกองทุนโอเปก เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่เป็นเรื่องเร่งด่วนมากยิ่งขึ้นเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19"
โมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน สมาชิกสภารัฐมนตรีของกองทุนโอเปกและรัฐมนตรีคลังของซาอุดีอาระเบีย กล่าวถึงบทบาทอันโดดเด่นของกองทุนโอเปกที่มีต่อการพัฒนาระหว่างประเทศว่า "กองทุนโอเปกมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นสถาบันด้านการพัฒนาระดับโลกเพียงหนึ่งเดียวที่นำเงินสนับสนุนจากประเทศสมาชิกไปมอบให้แก่ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก โดยประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสามารถขอรับความช่วยเหลือได้"
ศรี มุลยานี อินทราวาตี สมาชิกสภารัฐมนตรีของกองทุนโอเปกและรัฐมนตรีคลังของอินโดนีเซีย กล่าวว่า "กลยุทธ์ใหม่ที่ประกาศไปเมื่อปี 2562 และได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก ส่งผลให้ทางองค์กรมีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศพันธมิตรได้ทันที ตอนนี้เราสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเงินช่วยเหลือจะไปถึงผู้ที่ต้องการมากที่สุด ในขณะที่ชุมชนรายได้น้อยทั่วโลกกำลังพยายามฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาด"
ดร.อับดุลฮามิด อัลคาห์ลิฟา ผู้อำนวยการใหญ่กองทุนโอเปก กล่าวว่า "เราขอขอบคุณวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและความมุ่งมั่นทุ่มเทของประเทศสมาชิกของเรา กองทุนโอเปกยังคงแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และยังคงมีบทบาทสำคัญในการลดความไม่เท่าเทียมทั่วโลก สำหรับตลอดปีนี้ เราจะให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามกรอบการทำงานเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนของเรา เพื่อเดินหน้ายกระดับผลพวงของการพัฒนาและสร้างสรรค์อนาคตในอีกหลายปีต่อจากนี้"
จนถึงปัจจุบัน การดำเนินงานในภาคสาธารณะของกองทุนโอเปกได้ช่วยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตไฟฟ้า 15 กิกะวัตต์ รวมถึงสนับสนุนการก่อสร้างและพัฒนาถนนและทางรถไฟความยาวรวม 11,360 กิโลเมตร และช่วยให้ 11.5 ล้านครัวเรือนเข้าถึงน้ำสะอาดและมีสุขอนามัยที่ดี ส่วนการดำเนินงานในภาคเอกชนและการดำเนินงานด้านการเงินซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2541 และ 2549 นั้น ได้มีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจ MSME กว่า 350,000 รายโดยตรง ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสามารถในการรองรับสินค้าของท่าเรือรวม 15 ล้านตันต่อปี และมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 750 เมกะวัตต์
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำเร็จของกองทุนโอเปกตั้งแต่ปี 2519 ได้จากรายงานประจำไตรมาสของกองทุนโอเปกฉบับพิเศษที่ https://bit.ly/2NAJ5Xl
เกี่ยวกับกองทุนโอเปก
กองทุนโอเปกเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (กองทุนโอเปก) ทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นพันธมิตรขององค์กรและชุมชนการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคมในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางทั่วโลก กองทุนโอเปกก่อตั้งขึ้นโดยประเทศสมาชิกของกลุ่มโอเปกในปี 2519 โดยมีพันธกิจที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และมอบพลังให้กับผู้คน การทำงานของกองทุนโอเปกมีคนเป็นศูนย์กลาง และเน้นให้เงินทุนสนับสนุนโครงการที่ตอบสนองความต้องการที่จำเป็น เช่น อาหาร พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน การจ้างงาน (โดยเฉพาะในธุรกิจ MSME) น้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี สุขภาพ และการศึกษา ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ของเราคือการสร้างโลกที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนกลายเป็นความจริงสำหรับทุกคน
No comments:
Post a Comment