รายงานฉบับใหม่จากโกลบอล มาริไทม์ ฟอรัม (Global Maritime Forum) ซึ่งจัดทำขึ้นในนามของกลุ่มความร่วมมือ เกตติง ทู ซีโร่ โคลลิชัน (Getting to Zero Coalition) ได้ประเมินความคืบหน้าในการพัฒนา "ระเบียงการเดินเรือสีเขียว" (Green Shipping Corridors) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างท่าเรือหลัก ๆ ที่มีการสนับสนุนและประยุกต์ใช้โซลูชันการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และพบว่ากิจกรรมในช่วงปี 2565 เกินความคาดหมาย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โครงการระเบียงการเดินเรือสีเขียวมีความคืบหน้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมที่สำคัญบางราย โดยเฉพาะเจ้าของสินค้าและผู้ผลิตเชื้อเพลิง จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยเร็วที่สุด และในส่วนของภาครัฐ รัฐบาลนานาประเทศจำเป็นต้องให้การสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทายในการอุดช่องว่างต้นทุนเชื้อเพลิงระหว่างเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์กับเชื้อเพลิงฟอสซิล
รายงานความก้าวหน้าของระเบียงการเดินเรือสีเขียว ประจำปี 2565 (2022 Annual Progress Report on Green Shipping Corridors) ได้รับการเผยแพร่เนื่องในวาระครบรอบหนึ่งปีของปฏิญญาไคลด์แบงก์ (Clydebank Declaration) ซึ่งมี 24 ประเทศลงนามสนับสนุนการสร้างระเบียงการเดินเรือสีเขียว เพื่อสาธิตและประยุกต์ใช้โซลูชันปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมการเดินเรือไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
ในขณะที่โครงการระเบียงสีเขียวทางทะเลส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น รายงานฉบับนี้ได้พิจารณาศักยภาพ ประเมินความคืบหน้า ระบุความท้าทาย และให้คำแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการยกระดับการใช้เชื้อเพลิง เรือเดินสมุทร และโครงสร้างพื้นฐานเชิงพาณิชย์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ตามเส้นทางเดินเรือ ทั้งนี้ การวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ระบุว่า ในการเปลี่ยนผ่านการเดินเรือให้เป็นไปตามแผนนั้น เชื้อเพลิง 5% ที่ใช้ในเส้นทางเดินทะเลลึกจะต้องมีความยืดหยุ่นและปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ เช่น แอมโมเนียสะอาด เมทานอล หรือไฮโดรเจน
- ในภาพรวม รายงานฉบับนี้ได้บันทึกระดับกิจกรรมของโครงการระเบียงสีเขียวทางทะเลในปี 2565 ซึ่งเกินความคาดหมาย โดยมีโครงการริเริ่มมากกว่า 20 โครงการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 110 รายจากภาคส่วนหลักของอุตสาหกรรมการเดินเรือเข้าร่วม นอกจากนั้นรัฐบาลของประเทศที่ลงนามในปฏิญญาไคลด์แบงก์ยังมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และครอบคลุมเส้นทางเดินทะเลลึกที่สำคัญที่สุดหลายเส้นทาง
- โครงการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนา โดยมีเพียงไม่กี่โครงการที่ไปถึงขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและการวางแผน
- จนถึงตอนนี้ โครงการระเบียงสีเขียวทางทะเลมุ่งเน้นแต่การขนส่งสินค้ามากเกินไป และจำเป็นต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อให้เจ้าของสินค้าและผู้ผลิตเชื้อเพลิงแห่งอนาคตมีส่วนร่วมมากขึ้น หากต้องการเอาชนะอุปสรรคสำคัญ ๆ
- รัฐบาลหลายประเทศได้พัฒนานโยบายสนับสนุนต่าง ๆ แต่ก็ยังจำเป็นต้องพิจารณาการใช้นโยบายระดับชาติเพื่ออุดช่องว่างต้นทุนเชื้อเพลิงระหว่างเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์กับเชื้อเพลิงฟอสซิล
คุณเจสซี ฟาห์นสต็อก (Jesse Fahnestock) ผู้อำนวยการโครงการลดคาร์บอนของโกลบอล มาริไทม์ ฟอรัม กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ เช่นเดียวกับกิจกรรมที่กล่าวถึง เป็นการสร้างพื้นฐานสำหรับการดำเนินการในอนาคต
"ระเบียงสีเขียวทางทะเลพยายามสานฝันของอุตสาหกรรมการเดินเรือ และจำนวนโครงการริเริ่มที่เปิดตัวในหนึ่งปีก็น่าตื่นเต้นมาก" คุณฟาห์นสต็อก กล่าว "โครงการเหล่านี้ล้วนอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อก้าวสู่การดำเนินการจริง รายงานนี้สามารถเป็นแพลตฟอร์มสำหรับติดตามและแบ่งปันความคืบหน้าทั่วโลก โดยจนถึงตอนนี้รายงานก็ได้ให้คำแนะนำที่สำคัญบางประการสำหรับการเร่งดำเนินการและการเพิ่มผลกระทบในวงกว้างแล้ว"
อ่านรายงานได้ที่ https://cms.globalmaritimeforum.org/wp-content/uploads/2022/11/The-2022-Annual-Progress-Report-on-Green-Shipping-Corridors.pdf
เกี่ยวกับเกตติง ทู ซีโร่ โคลลิชัน
เกตติง ทู ซีโร่ โคลลิชัน (Getting to Zero Coalition หรือ GtZ) เป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างโกลบอล มาริไทม์ ฟอรัม (Global Maritime Forum) กับ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) โดยเป็นชุมชนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วทั้งอุตสาหกรรมทางทะเล พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และการเงิน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหลายประเทศ องค์การระหว่างรัฐบาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่มีความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนจากการเดินเรือ
เป้าหมายของกลุ่มคือการมีเรือเดินสมุทรปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ตามเส้นทางเดินทะเลลึกภายในปี 2573 โดยได้รับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการจัดหาพลังงานคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างยืดหยุ่น ซึ่งรวมถึงการผลิต การจ่าย และการกักเก็บ เพื่อนำไปสู่การลดคาร์บอนอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2593
เกี่ยวกับโกลบอล มาริไทม์ ฟอรัม
โกลบอล มาริไทม์ ฟอรัม (Global Maritime Forum หรือ GMF) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งอุทิศตนเพื่อกำหนดอนาคตของการค้าทางทะเลทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืนและเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
อีเมล: comms@globalmaritimeforum.org
No comments:
Post a Comment