มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ (Habitat for Humanity) และพันธมิตรทั่วโลก เปิดตัวแคมเปญระยะเวลา 5 ปีที่มีชื่อว่า Home Equals หรือ บ้านเท่าเทียม เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก ในการเพิ่มการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เพียงพอสำหรับผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดและที่อยู่อาศัยนอกระบบ (Informal Settlement)
ประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและที่อยู่อาศัยนอกระบบ และตัวเลขดังกล่าวยังคงเพิ่มสูงขึ้น ชุมชนเหล่านี้เข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานได้อย่างจำกัด เช่น น้ำสะอาด สุขาภิบาล และไฟฟ้า นอกจากนี้ ผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดและที่อยู่อาศัยนอกระบบยังไม่มีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สิน จึงกลัวการถูกไล่ที่ อีกทั้งยังเผชิญกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น เช่น ภัยแล้ง และน้ำท่วม
"เมื่อพูดถึงสถานที่ที่เราเรียกว่าบ้าน ผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดและที่อยู่อาศัยนอกระบบมักไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม" คุณโจนาธาน เรกฟอร์ด (Jonathan Reckford) ประธานและซีอีโอของมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติสากล กล่าว "พันธมิตรของเราในแคมเปญบ้านเท่าเทียมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ และสนับสนุนวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ที่มาจากผู้อยู่อาศัยในชุมชนเอง ขอเชิญมาร่วมกันกับเราในการสร้างโลกที่เท่าเทียมกันมากขึ้น เพราะบ้านเท่ากับสุขภาพ บ้านเท่ากับความปลอดภัยและความมั่นคง และบ้านเท่ากับโอกาสสำหรับอนาคตที่ดีกว่า"
ในระดับโลกนั้น มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติเรียกร้องให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ซึ่งมีกำหนดการประชุมในช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ยอมรับว่าที่อยู่อาศัยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา และเรียกร้องให้ทางกลุ่มให้คำมั่นสัญญาว่าจะตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดและที่อยู่อาศัยนอกระบบ ในฐานะที่เป็นหนทางหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญในระดับสากล เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และการศึกษา
เศรษฐกิจและมนุษย์จะได้รับการพัฒนามากขึ้น หากมีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยนอกระบบในวงกว้าง ตามรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้เพื่อสนับสนุนแคมเปญบ้านเท่าเทียม โดยรายงานฉบับแรกจากมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (International Institute for Environment and Development หรือ IIED) ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการวิจัย ได้จำลองประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเหล่านั้น ในแง่ของการผลิตที่ประหยัด รายได้ สุขภาพ และการศึกษา
รายงานพบว่า จีดีพีและรายได้ต่อหัวอาจเพิ่มขึ้นมากถึง 10.5% ในบางประเทศ และอาจช่วยชีวิตประชากรได้มากกว่า 730,000 คนทั่วโลกในแต่ละปี ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ในแต่ละปีจากการกำจัดโรคมาลาเรีย แบบจำลองยังแสดงด้วยว่า เด็กอีกมากถึง 41.6 ล้านคนจะได้เข้าเรียนในโรงเรียน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคิดเป็น 1 ใน 6 ของเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือทั่วโลก
"การรับประกันว่าผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดจะสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างเพียงพอไม่เพียงเป็นสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น" คุณเรกฟอร์ดกล่าว "แต่ยังเป็นเรื่องฉลาดที่จะทำด้วย"
คุณอเล็กซานเดร อัปซาน เฟรดิอานี (Alexandre Apsan Frediani) นักวิจัยจาก IIED และหนึ่งในผู้เขียนรายงาน กล่าวว่า "ผลการวิจัยของเราแสดงให้เห็นประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ การศึกษา และรายได้ของผู้คน หากได้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น ระบบน้ำประปาและน้ำเสีย และปราศจากภัยคุกคามจากการขับไล่หรือการก่อกวน" โดยประโยชน์ที่จำลองไว้ในรายงานการวิจัยนั้นอาจจะเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป เพราะถึงแม้ว่านักวิจัยจะไม่สามารถวัดปริมาณได้ แต่ก็มีหลักฐานชัดเจนว่า สิ่งแวดล้อม การเมือง และระบบการดูแลดีขึ้นทั่วทุกชนชั้นของสังคม เมื่อผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดและที่อยู่อาศัยนอกระบบสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าทั้งภายในและภายนอกชุมชนเหล่านั้น "เรื่องนี้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่" เขากล่าว "เพราะเมื่อผู้อาศัยในที่อยู่อาศัยนอกระบบมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุกคนในสังคมก็จะดีขึ้นตามไปด้วย"
แคมเปญบ้านเท่าเทียมดำเนินการแล้วในกว่า 35 ประเทศทั่วโลก โดยในบราซิลนั้น มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติและพันธมิตรกำลังทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารชุดใหม่เกี่ยวกับโครงการที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดและที่อยู่อาศัยนอกระบบสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำและสุขอนามัย ขณะที่มูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ ประเทศมาลาวี เรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Management Bill) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าที่อยู่อาศัยในประเทศจะทนทานต่อภัยพิบัติเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนในเวียดนาม เรากำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่นเกี่ยวกับนโยบายที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ชาวเวียดนามที่เดินทางกลับจากกัมพูชามีบ้านที่ปลอดภัย และในมาซิโดเนียเหนือ ทางมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติกำลังร่วมมือกับชุมชนชาวโรมา (Roma) เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจทั้งในระดับเทศบาลและระดับชาติ
วิดีโอ - https://mma.prnewswire.com/media/2073672/Habitat_for_Humanity_Video.mp4
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2073671/Manaus_Brazil.jpg
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/95215/habitat_for_humanity_logo.jpg
No comments:
Post a Comment