เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน เวลา 13.30 น. พิธีรำลึกของสมาคมสร้างคุณค่าได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมโทดะ เมโมเรียล ออดิทอเรียม ในกรุงโตเกียว เพื่อรำลึกถึงไดซาขุ อิเคดะ (Daisaku Ikeda) ประธานกิตติมศักดิ์ของสมาคมสร้างคุณค่า (Soka Gakkai) และประธานของสมาคมสร้างคุณค่าสากล หรือ เอสจีไอ (Soka Gakkai International หรือ SGI) ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ด้วยวัย 95 ปี โดยพิธีดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดไปยังศูนย์ของสมาคมสร้างคุณค่ากว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น
หลังจากการสวดสัทธรรมปุณฑริกสูตรบางส่วน และการสวดมนต์นัมเมียวโฮเร็งเงเคียวจบลง ฮิโรมาสะ อิเคดะ (Hiromasa Ikeda) รองประธานอาวุโส ได้กล่าวขอบคุณในนามของตระกูลอิเคดะ ในขณะที่ คิมิโกะ นากาอิชิ (Kimiko Nagaishi) ผู้นำสตรีระดับชาติ และ มิโนรุ ฮาราดะ (Minoru Harada) ประธานสมาคมสร้างคุณค่า ได้กล่าวคำสรรเสริญ
ฮาราดะระบุว่า สารแสดงความเสียใจที่ได้รับจากบุคคลที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของอิเคดะในการ "สร้างสายสัมพันธ์ นำผู้คนมารวมกัน และเชื่อมโยงความดีที่มีอยู่ในหัวใจของทุกคน โดยก้าวข้ามเชื้อชาติ อุดมการณ์ และศาสนา" ในโอกาสนี้ เขาเน้นย้ำว่าสมาชิกของสมาคมสร้างคุณค่ามุ่งมั่นที่จะสืบสานมรดกของอิเคดะในการปูทางไปสู่สันติภาพต่อไป โดยตั้งเป้าหมายไว้ในวาระครบรอบ 100 ปีขององค์กรในปี 2030
เอกอัครราชทูต อันวารุล เค. เชาว์ดูรี (Anwarul K. Chowdhury) อดีตรองเลขาธิการสหประชาชาติและผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติ เขียนคำสรรเสริญว่า "เขาได้มอบความหวังและนำทางมนุษยชาติให้เผชิญหน้ากับความซับซ้อนและความท้าทายของโลกปัจจุบันด้วยความกล้าหาญ ผมขอสรรเสริญพลังสร้างสรรค์และสติปัญญาอันกว้างไกลของเขาในการอธิบายและแจกแจงมิติของคุณค่าและอุดมคติของมนุษย์ เพื่อดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวพวกเราแต่ละคนออกมา"
ไดซาขุ อิเคดะ คือนักพุทธปรัชญา นักสร้างสันติภาพ นักการศึกษา นักเขียน และกวี ผู้อุทิศชีวิตเพื่อส่งเสริมสันติภาพผ่านการเสวนา และเป็นหัวหอกในการนำพาสมาคมสร้างคุณค่าให้เติบโตในระดับนานาชาติ เขาเกิดที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 2 มกราคม 1928 และได้สัมผัสกับความน่าสะพรึงกลัวของสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น อีกทั้งการเสียชีวิตของพี่ชายคนโตในสนามรบที่เมียนมายังทำให้เขาเกิดความรู้สึกเกลียดชังสงครามมาตลอดชีวิต
ในปี 1947 อิเคดะได้พบกับโจเซ โทดะ (Josei Toda) นักต่อสู้เพื่อสันติภาพและผู้นำของสมาคมสร้างคุณค่า ซึ่งเคยถูกรัฐบาลทหารคุมขังในช่วงสงคราม อิเคดะยกย่องให้โทดะเป็นที่ปรึกษา และช่วยเผยแพร่พุทธศาสนานิกายนิชิเรน โดยมีเป้าหมายในการสร้างสังคมที่เคารพในศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมขั้นพื้นฐานของทุกคน นอกจากนี้ อิเคดะยังส่งเสริมแนวคิด "การปฏิวัติมนุษย์" ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจเพื่อจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไป
ในเดือนพฤษภาคมปี 1960 อิเคดะได้รับตำแหน่งประธานคนที่สามของสมาคมสร้างคุณค่าในขณะที่มีอายุ 32 ปี เขาให้กำลังใจผู้คนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความเป็นจริงอันโหดร้ายของชีวิต โดยทำให้เชื่อว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของตนเองได้
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา อิเคดะได้เสวนากับบุคคลสำคัญที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เช่น อาร์โนลด์ ทอยน์บี (Arnold Toynbee) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ และมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) อดีตประธานาธิบดีโซเวียต เพื่อร่วมกันแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาอันซับซ้อนที่มนุษยชาติเผชิญอยู่ โดยบทสนทนาเหล่านี้มากกว่า 80 บทได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบหนังสือ
นอกจากนี้ เขายังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากเชื่อว่าการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับจีนคือพื้นฐานของเสถียรภาพในภูมิภาค ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 เขายังมีส่วนร่วมในการทูตภาคประชาชนระหว่างจีน สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยคลายความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็น
อิเคดะยังเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อสนับสนุนการเลิกใช้อาวุธนิวเคลียร์ และเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในบทบาทสำคัญขององค์การสหประชาชาติในฐานะเวทีแห่งสันติภาพ ทั้งนี้ ในระหว่างปี 1983 ถึง 2022 เขาได้เขียนข้อเสนอเพื่อสันติภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อมอบข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมในการสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติภาพอย่างยั่งยืน
อ่านคำสรรเสริญฉบับเต็มได้ที่ https://www.daisakuikeda.org/
สมาคมสร้างคุณค่า (Soka Gakkai) เป็นองค์กรชาวพุทธระดับโลกที่มีสมาชิกราว 12 ล้านคน โดยไดซาขุ อิเคดะ (ค.ศ. 1928-2023) ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมสร้างคุณค่าในระหว่างปี 1960-79 และดำรงตำแหน่งประธานผู้ก่อตั้งสมาคมสร้างคุณค่าสากล หรือ เอสจีไอ (Soka Gakkai International หรือ SGI) ตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา
ที่มา: สมาคมสร้างคุณค่า
ติดต่อ:
ยูกิ คาวานากะ (Yuki Kawanaka)
สำนักงานประชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สมาคมสร้างคุณค่า
โทร: +81-80-5957-4919
อีเมล: kawanaka[at]soka.jp
No comments:
Post a Comment