Thursday, December 14, 2023

จีนตั้งสถาบันอุดมศึกษาในนิคมอุตสาหกรรม หวังเร่งพัฒนาผู้มีความสามารถด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

        ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ กลุ่มอาจารย์จากบริษัท กว่างซี ทัสอินโนเวชัน ครอสบอร์เดอร์ อีคอมเมิร์ซ จำกัด (Guangxi Tus-Innovation Cross-border E-commerce Co., Ltd. หรือ TusCBEC) ได้นำนักศึกษาภาควิชาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนรุ่นปี 2565 จำนวน 300 คน จากวิทยาลัยอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนอาร์ซีอีพี (RCEP Industrial College of Cross-border E-commerce) เข้าเยี่ยมชมเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเมืองหนานหนิง เพื่อ "เรียนรู้จากสถานการณ์ที่ใกล้เคียงจริง" กิจกรรมดังกล่าวเปิดโอกาสให้ได้ความรู้ทางทฤษฎีควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในสถานที่จริง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักศึกษามีโอกาสได้เห็นเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเมืองหนานหนิงด้วยตนเอง ได้รับความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับกลไกการดำเนินงานและการปฏิบัติงานจริงของเขตกำกับดูแลพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจเกี่ยวกับเขตกำกับดูแลพิเศษของเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเมืองหนานหนิงมากขึ้น

วิทยาลัยอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนอาร์ซีอีพีแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเมืองหนานหนิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะวิทยาลัยอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแห่งแรกของจีนที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม วิทยาลัยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาธุรกิจระหว่างประเทศกว่างซี (Guangxi International Business Vocational College หรือ GXIBVC) กับบริษัท กว่างซี ทัสอินโนเวชัน ครอสบอร์เดอร์ อีคอมเมิร์ซ จำกัด เมื่อเดือนกันยายน 2563

เติ้ง ไห่เต๋า (Deng Haitao) คณบดีวิทยาลัยการค้าระหว่างประเทศ ประจำวิทยาลัยอาชีวศึกษาธุรกิจระหว่างประเทศกว่างซี กล่าวว่า "ทางวิทยาลัยทำงานร่วมกับพันธมิตรมากมาย ทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน องค์กรอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และบริษัทผู้ให้บริการบุคคลที่สาม เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาโปรแกรมฝึกฝนผู้มีความสามารถ ตลอดจนออกแบบและพัฒนาหลักสูตร และในปี 2565 ภาควิชาธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนก็ยังได้รับการรับรองคุณสมบัติระดับสากลของศูนย์ข้อมูลสหราชอาณาจักร (UK ENIC) ด้วย"

วิทยาลัยแห่งนี้อาศัยระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน คลังสินค้า ซัพพลายเชนนำเข้าและส่งออก และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ภายในนิคมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเมืองหนานหนิง และความได้เปรียบด้านทรัพยากรของ TusCBEC ในการจัดกิจกรรมฝึกอบรมและให้ความรู้จากสถานการณ์ที่ใกล้เคียงจริง เพื่อให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมีบุคลากรมากความสามารถและเทคโนโลยีสนับสนุนเบื้องหลังต่อไป

เก้อ หรงเหอ (Ge Ronghe) รองผู้จัดการทั่วไปของ TusCBEC อธิบายว่า "นักศึกษาของทางวิทยาลัยจะได้ความรู้ทางวิชาชีพขั้นพื้นฐานเมื่อเรียนที่วิทยาเขตในช่วงปีแรก จากนั้นจะได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติภายในเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเมืองหนานหนิงในช่วงปีที่สอง อาจารย์ผู้สอนมากประสบการณ์ของบริษัทฯ จะสอนพวกเขาเกี่ยวกับการดำเนินการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การไลฟ์สตรีมและโปรโมต การถ่ายวิดีโอและการตัดต่อ การจัดการโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน และความรู้สำคัญอื่น ๆ ของอุตสาหกรรมนี้"

ปัจจุบัน ทางวิทยาลัยฯ กำลังเร่งพัฒนาบุคลากรด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน โดยได้กระชับความร่วมมือกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในประเทศแถบอาเซียนมากกว่า 20 แห่ง ซึ่งในไทยนั้นได้มีการจัดตั้งวิทยาเขตของวิทยาลัยธุรกิจกุ้ยไห่ (Guihai Business College) 1 แห่ง และฐานการฝึกอบรมคณาจารย์ระดับนานาชาติอีก 2 แห่ง โดยมีมาตรฐานหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการของไทยแล้ว นับได้ว่าเป็นการส่งออกมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานหลักสูตรจากจีน นอกจากนี้ แทนซาเนียยังได้นำมาตรฐานอาชีวศึกษา 1 รายการรวมอยู่ในระบบอาชีวศึกษาแห่งชาติ ทั้งยังอนุมัติโครงการพัฒนามาตรฐานอาชีวศึกษาแห่งชาติ 2 โครงการด้วย ซึ่งจะรวมอยู่ในระบบอาชีวศึกษาแห่งชาติของแทนซาเนีย

หลิว เจี๋ยอิง (Liu Jieying) รองคณบดีวิทยาลัยฯ อธิบายว่าทางวิทยาลัยเตรียมสร้างวิทยาลัยธุรกิจกุ้ยไห่วิทยาเขตใหม่ในต่างประเทศ 3 แห่ง พร้อมเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในการยกระดับนวัตกรรมอาชีวศึกษาในอาเซียน และสร้างโมเดลทรัพยากรการศึกษาคุณภาพสูงที่นำไปแลกเปลี่ยนกันได้อย่าง "การแนะนำ การบ่มเพาะนักศึกษา ผลลัพธ์" ด้วยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่คล้ายคลึงกันในกลุ่มอาเซียน ซึ่งภายในปี 2578 นั้น ทางวิทยาลัยฯ มีแผนจัดตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษาและกลุ่มวิชาชีพระดับแถวหน้า โดยเน้นในด้านการค้าต่างประเทศ มาตรฐานชั้นนำของประเทศ และอิทธิพลอันกว้างขวางในภูมิภาคจีน-อาเซียน เพื่อให้การสนับสนุนในแง่ของบุคลากรและเทคโนโลยีในการสร้างชุมชนจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกัน และเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน

ที่มา: วิทยาลัยอาชีวศึกษาธุรกิจระหว่างประเทศกว่างซี

No comments:

Post a Comment