Monday, February 6, 2017

“เป๊ปซี่โค” ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมียนมาผ่านหลากหลายโครงการ





          เป๊ปซี่โค (PepsiCo) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมา ผ่านการทำโครงการร่วมกับองค์การยูเนสโก (UNESCO) และมูลนิธิโพสิทีฟ แพลนเน็ต (Positive Planet) รวมถึงการขยายโครงการด้านเกษตรกรรม

          ซานจีฟ ชาดฮา ซีอีโอของเป๊ปซี่โคประจำภาคพื้นเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ และ อเดล การาส ประธานเป๊ปซี่โคประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมา ระหว่างการเดินทางเยือนเมียนมาในวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2560 โดยการเดินทางครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทบทวนลำดับความสำคัญทางธุรกิจ ประชุมร่วมกับพันธมิตรในประเทศ และพูดคุยกับผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการที่เป๊ปซี่โคเป็นผู้สนับสนุน

          เป๊ปซี่โคได้ลงทุนในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา การสร้างทุนมนุษย์ และการสร้างโอกาสการจ้างงาน ผ่านการเป็นพันธมิตรกับโพสิทีฟ แพลนเน็ต และยูเนสโก รวมถึงการขยายโครงการปลูกมันฝรั่งในเมียนมา  

          โครงการเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการดำเนินงานอย่างมีจุดมุ่งหมาย (Performance with Purpose) โดยเป็ปซี่โคเชื่อว่า ความสำเร็จของบริษัทสัมพันธ์กับความยั่งยืนของโลกรอบตัวเราโดยมิอาจแยกจากกันได้ เราเชื่อว่าการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เราจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบเพื่อเป็นการคุ้มครองโลก และการมอบพลังให้แก่ผู้คนทั่วโลก คือสิ่งที่ทำให้เป๊ปซี่ประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจในระดับสากล โดยที่สร้างคุณค่าให้แก่สังคมและผู้ถือหุ้นของเราได้ในระยะยาว

          เป๊ปซี่โคกลับเข้ามาทำธุรกิจในเมียนมาอีกครั้งในปี 2555 และในปี 2557 ได้ร่วมมือกับ ลอตเต้ เอ็มจีเอส (LOTTE-MGS) เพื่อผลิตน้ำอัดลมในประเทศ ทั้งเป๊ปซี่ มิรินด้า และเซเว่นอัพ รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลัง Sting ทั้งนี้ เมียนมาเป็นตลาดชายขอบที่น่าสนใจ ด้วยศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และจำนวนประชากรในประเทศราว 53.9 ล้านคน

          บรรเทาปัญหาความยากจนในชนบท

          เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณชาดฮาและคุณการาสได้เยี่ยมชมเมืองพะอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง เพื่อพบกับผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการที่สนับสนุนโดยเป๊ปซี่โค ซึ่งดำเนินโครงการโดยมูลนิธิโพสิทีฟ แพลนเน็ต องค์กรที่ช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีอนาคตที่ดีกว่าเดิม เป้าหมายของโครงการนี้คือ การบรรเทาความยากจนและลดความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงส่งเสริมครัวเรือนรายได้ต่ำในชนบทให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน

          โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือในหมู่บ้านที่ส่งเสริมให้สมาชิกเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืนและเข้าถึงการอบรมให้ความรู้ด้านการเงิน นอกจากนั้นยังผลักดันการพัฒนาธุรกิจด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนสินค้าโภคภัณฑ์หรือกิจกรรมของผู้ประกอบการ โดยมีการดำเนินกิจกรรมทั้งสิ้น 33 กิจกรรมตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2558 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2559 อันประกอบด้วยกิจกรรมสาธิตการเพาะปลูกและการทำปศุสัตว์ รวมถึงการจำลองการทำธุรกิจในชนบท เช่น การค้าปลีกเสื้อผ้า การขายผลิตภัณฑ์คอนกรีต การขายข้าว และการเปิดร้านขายของชำ เป็นต้น โดยเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและสามารถทำกำไรได้ ต่างได้รับเชิญมาเป็นผู้ฝึกสอนในชุมชน นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ทางเทคนิคในท้องถิ่น

          ฌาคส์ อัตตาลี ประธานมูลนิธิโพสิทีฟ แพลนเน็ต กล่าวว่า "โครงการของโพสิทีฟ แพลนเน็ต ในเมียนมานั้น ยึดถือกลยุทธ์สองส่วนในการแก้ไขปัญหาความยากจนของชนกลุ่มน้อยที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นั่นคือ การสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านการจัดตั้งสหกรณ์ และการทำให้ห่วงโซ่มูลค่าทางเกษตรกรรมมีความหลากหลาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน ช่วยให้ชุมชนมีเงินสำรอง และช่วยให้คนหนุ่มสาวมีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการข้ามชายแดนไปหางานทำ" ขณะเดียวกัน ออเดรย์ เชอร์คอฟฟ์ หัวหน้าฝ่ายระดมทุนและการสื่อสารทั่วโลกของมูลนิธิโพสิทีฟ แพลนเน็ต กล่าวว่า "โครงการที่สำคัญนี้แสดงให้เห็นว่า การทำงานร่วมกับชุมชนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้าน ผ่านเครือข่ายทางสังคมและการเงินที่มีความแข็งแรงกว่าเดิม ทั้งนี้ เป๊ปซี่โคเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของโพสิทีฟ แพลนเน็ต มาตลอด และต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเราเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าให้แก่ลูกหลานในอนาคต"

          คุณชาดฮา กล่าวว่า "การสนับสนุนให้ผู้คนทั่วโลกยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญตามหลักการดำเนินงานอย่างมีจุดมุ่งหมายของเป๊ปซี่โค ผมขอยกย่องโพสิทีฟ แพลนเน็ต ในฐานะพันธมิตรระยะยาวที่ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ครัวเรือนและชุมชนมากมาย และผมประทับใจมากกับความก้าวหน้าของชาวเมียนมา"

          สนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาทักษะทางธุรกิจ

          คุณการาสและคุณชาดฮาประกาศว่า เป๊ปซี่โคจะยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาทักษะทางธุรกิจ (Centre of Excellence for Business Skills Development : CEBSD) แห่งแรกของเมียนมา ในระหว่างเยี่ยมศูนย์ฯ ที่กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

          CEBSD ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอันประกอบด้วย เป๊ปซี่โค ยูเนสโก และกระทรวงศึกษาธิการของเมียนมา นับเป็นโครงการแรกในประเทศที่มุ่งแก้ปัญหาการจ้างงานในหมู่เยาวชน ด้วยการยกระดับแนวโน้มการจ้างงานในหมู่เยาวชนของเมียนมา ผ่านการให้ความรู้และการฝึกอบรมทักษะทางธุรกิจและทักษะที่เป็นที่ต้องการของนายจ้าง รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านวิชาชีพ และการมอบโอกาสในการทำความรู้จักกับผู้อื่น

          ปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาคอร์สให้ความรู้และฝึกอบรมรวม 7 คอร์ส และมีนักเรียนกว่า 670 คน โดยเนื้อหาจะครอบคลุมหลากหลายหัวข้อ เช่น ทักษะทางธุรกิจสำหรับเยาวชน ภาษาอังกฤษสำหรับโลกธุรกิจ รวมถึงการบริหารธุรกิจค้าปลีกและบริการ เป็นต้น นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 จนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนมากกว่า 2,500 คนที่เข้ารับการฝึกอบรม และมากถึง 68% เป็นผู้หญิง นอกจากนั้นยังมีบุคคลในแวดวงธุรกิจและผู้นำทั้งจากในและต่างประเทศมากกว่า 80 ท่านมาร่วมเป็นวิทยากร พิธีกร และผู้จัดเวิร์กช็อป ซึ่งรวมถึงผู้บริหาร 9 ท่านจากเป็ปซี่โคด้วย

          คุณการาส กล่าวว่า "เมียนมาเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง เศรษฐกิจเมียนมาจะได้รับแรงหนุนจากการเสริมสร้างทักษะทางเทคนิคและทักษะการทำงานจริงซึ่งจะช่วยเพิ่มการจ้างงาน ทางศูนย์ฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ จึงได้ให้การฝึกอบรมที่จำเป็นโดยเฉพาะสำหรับเยาวชน เพื่อให้สามารถแข่งขันในเศรษฐกิจทุกวันนี้ได้ เป๊ปซี่โคภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนประเทศ"

          มิน จอง คิม หัวหน้ายูเนสโกประจำเมียนมา กล่าวว่า "ยูเนสโกเมียนมารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เยาวชนในเมียนมาจะได้รับการสนับสนุนให้ฝึกฝนทักษะต่างๆต่อไป ซึ่งต้องขอบคุณเป๊ปซี่โคและสถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง ความร่วมมือนี้จะเปิดโอกาสให้เยาวชนคนหนุ่มสาวได้พัฒนาทักษะความเป็นมืออาชีพ ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และได้ติดต่อกับพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่นๆด้วย"

          ส่งเสริมเกษตรกรรมแบบยั่งยืน

          เป๊ปซี่โคยังคงเดินหน้าสนับสนุนเศรษฐกิจเมียนมาด้วยโครงการปลูกมันฝรั่ง ซึ่งช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น และยังช่วยให้บริษัทได้รับมันฝรั่งเพียงพอต่อความต้องการด้วย

          เป๊ปซี่โคเล็งเห็นว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการปลูกมันฝรั่ง เพราะมีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์และสภาพอากาศที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงร่วมมือกับเกษตรกรในท้องถิ่น พร้อมฝึกให้ทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบชลประทานแบบน้ำหยด ที่ช่วยให้ประหยัดน้ำและช่วยลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมี รวมถึงการพัฒนาโกดังเก็บรักษามันฝรั่ง

          เป๊ปซี่โคริเริ่มโครงการเกษตรกรรมแบบยั่งยืนร่วมกับพันธมิตรในเมียนมาเมื่อปี 2557 และในปีนั้นเกษตรกรพันธมิตร 38 รายสามารถผลิตมันฝรั่งได้ถึง 700 ตัน และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2560 จะมีเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 144 ราย และสามารถผลิตมันฝรั่งได้ 3,300 ตันต่อปี สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าผลผลิตต่อเอเคอร์เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วง 3 ฤดูเพาะปลูกที่ผ่านมา ทำให้เป๊ปซี่โคสามารถรับซื้อผลผลิตได้ในราคาที่ดีขึ้น และสามารถขยายการส่งออกเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่ารายได้ของเกษตรกรจะปรับตัวขึ้นราว 9% ในปี 2560

          บาสซิม ริซก์ รองประธานอาวุโสฝ่ายห่วงโซ่อุปทานของเป๊ปซี่โคประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า "นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการด้านเกษตรกรรมในเมียนมา เราก็เล็งเห็นถึงโอกาสในการนำทักษะความรู้ทางการเกษตรมาเผยแพร่ในประเทศนี้ บัดนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญของเราได้ถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรพันธมิตรของเรา โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ซึ่งความพยายามดังกล่าวช่วยให้เป๊ปซี่โคและเกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดร่วมกันตามหลักการดำเนินงานอย่างมีจุดมุ่งหมาย ที่มุ่งเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมแบบยั่งยืน พร้อมกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชุมชนต่างๆทั่วโลกที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ"

No comments:

Post a Comment