Wednesday, December 13, 2017

กรุงโซลผนึกกำลัง "ฟื้นฟูเมือง" ผ่านการบูรณะสิ่งที่มีอยู่ ควบคู่ประวัติศาสตร์และความทรงจำ

          - โครงสร้างพื้นฐานของชุนชนเมืองอันคร่ำครึและล้าสมัยได้รับการพลิกโฉมครั้งใหญ่เพื่อเป็นของขวัญแก่ชาวเมือง



          คำว่า "การฟื้นฟูเมือง" ได้กลายมาเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของหลาย ๆ เมืองทั่วโลก โดยรัฐบาลกรุงโซลได้เริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของเมือง และบรรลุผลสำเร็จในการพัฒนาเมืองต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ประเด็น "การฟื้นฟูเมือง" แทน "การพัฒนาขึ้นใหม่" โดยในปี 2560 กรุงโซลดำเนินโครงการปฏิรูปเมืองทั้งสิ้น 131 โครงการ ซึ่งบางส่วนของโครงการฟื้นฟูเมืองของรัฐบาล ได้แก่ ศูนย์การค้า Dasi (Re) Sewoon, อุทยานวัฒนธรรม Mapo Oil Tank และ Seoul Battleship Park

          ศูนย์การค้า Sewoon ก่อตั้งขึ้นในปี 2512 ในฐานะศูนย์การค้าและอาคารที่พักอาศัยแห่งแรกในเกาหลีใต้ อีกทั้งยังเคยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดของประเทศนี้ ตลอดจนเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของกรุงโซลมานานหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม อาคารดังกล่าวชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลานับตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90 รัฐบาลกรุงโซลเองก็ได้กำหนดแผนการรื้อถอนและสร้างใหม่อยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้พักอาศัยเดิม ส่งผลให้ผู้ประกอบการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต้องผิดหวังไปตาม ๆ กัน ทว่าในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเดือนมีนาคม 2557 รัฐบาลกรุงโซลตัดสินใจที่จะเก็บรักษาโครงสร้างอาคารเดิมไว้ พร้อมปรับปรุงซ่อมแซมใหม่บางส่วน แทนที่จะทุบทำลายทิ้งทั้งหมด และเพื่อเป็นการปฏิรูปเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ สะพานลอยหลายแห่งก็ได้รับการพัฒนาให้เชื่อมต่อกับตัวอาคารต่าง ๆ อุตสาหกรรมและชุมชนร่วมกันดำเนินโครงการฟื้นฟูอันหลากหลาย ส่งผลให้การฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างและองค์ความรู้สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ในเวลาเดียวกัน สะพานลอยซึ่งมีขนาดสูงเท่าตึกสามชั้นซึ่งเชื่อมต่ออาคารสองหลังเข้าด้วยกันก็ได้รับการซ่อมแซมอีกครั้ง และเพื่อเติมชีวิตชีวาให้กับศูนย์การค้าแห่งนี้ จึงมีการเปิดให้บริการ "Sewoon Makers' Cube" ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะ ให้ความรู้ และสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพในเกาหลีใต้ ทั้งนี้ Sewoon Makers' Cube ประกอบไปด้วยห้องทำงานสำหรับนักธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ 29 ห้อง รวมถึงออฟฟิศสำหรับทำการวิจัยและพัฒนาโดรน รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยศูนย์การค้า Sewoon จะสามารถสร้างผลกระทบร่วมผ่านระบบการผลิตตามความต้องการ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอันแสนทันสมัย

          อุทยานวัฒนธรรม Mapo Oil Tank คือกรณีของการผสานการฟื้นฟูเมืองด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมบนพื้นฐานของการบูรณะสถานที่ ซึ่งอุทยานวัฒนธรรมแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2521 โดยรัฐบาลกรุงโซล เพื่อสำรองน้ำมันในกรณีฉุกเฉินและกรณีการเข้าถึงทรัพยากรน้ำมันถูกจำกัดเป็นเวลา 41 ปี ทั้งนี้ Mapo Oil Tank ถูกปิดตัวลงตั้งแต่เดือนธ.ค. ปี 2543 จากการก่อสร้าง Seoul World Cup Stadium สำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2545 ต่อมาในปี 2556 รัฐบาลกรุงโซลกำหนดให้สถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูเมือง และเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหลังจาก 2 ปีของการก่อสร้าง ปัจจุบัน อุทยานวัฒนธรรม Mapo Oil Tank มีห้องโถงสำหรับการแสดง, เวทีกลางแจ้ง, ศูนย์ชุมชน และสิ่งอำนวยความสะดวกทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ส่วนถังน้ำมันทั้ง 6 ถัง, วัสดุภายในและภายนอก ตลอดจนกำแพงกันดิน ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมดเพื่อชุบชีวิตสถานที่แห่งนี้ให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง จุดเด่นอีกประการหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูเมืองในครั้งนี้คือ มีพลเมืองเป็นแกนนำมาตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นของโครงการ ซึ่งการทำงานของอุทยานจะดำเนินการผ่านคณะกรรมการประสานงานที่นำโดยชุมชนท้องถิ่นเช่นกัน

          สำหรับ Seoul Battleship Park นั้น เป็นสวนสาธารณะอเนกประสงค์ที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 ณ ริมฝั่งแม่น้ำฮัน ครอบคลุมพื้นที่ 6,942 ตารางเมตร โดยจัดแสดงเรือปลดประจำการ 3 ลำที่ทางกองทัพเรือให้รัฐบาลกรุงโซลเช่าฟรี ซึ่งเรือทั้ง 3 ลำนี้ได้รับการเก็บรักษาให้อยู่ในสภาพเดิมไว้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าไปภายในตัวเรือ, ชื่นชมบริเวณโดยรอบ และสัมผัสชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารเรือ Frigate Seoul ซึ่งเป็นเรือรบขนาดกลางนั้นมีความยาว 102 เมตร กว้าง 11.6 เมตร และความสูงที่วัดจนถึงบริเวณที่จมอยู่ใต้น้ำอยู่ที่ระดับ 28 เมตร ศูนย์ข้อมูลขนาดสูง 3 ชั้น กินพื้นที่ 485 ตารางเมตร เชื่อมต่อกับเรือลำอื่น ๆ ด้วยสะพาน โดยสามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของ Seoul Battleship Park ได้บนดาดฟ้าของพื้นที่สังเกตการณ์ด้วย

          รัฐบาลกรุงโซลดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ถูกละเลย และไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยความหมายของการฟื้นฟูเมืองคือ การฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและความทรงจำลงในเนื้อหาที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสกับความรู้สึกภาคภูมิใจ ทั้งนี้ กุญแจสู่ความสำเร็จของการฟื้นฟูเมืองนั้นก็คือ รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง



No comments:

Post a Comment