ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจีนเกิดขึ้นหลังจากที่หลายมณฑลในประเทศประกาศให้บริษัท ร้านค้า และโรงงานบางส่วนระงับการดำเนินธุรกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อย่างไรก็ดี เมืองตงกวนซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญทางตอนใต้ของจีน ได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือบริษัทท้องถิ่นให้ข้ามผ่านอุปสรรคและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว
สำนักประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้จัดการแถลงข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งมีการให้ข้อมูลว่าบริษัทในเมืองตงกวนเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง โดย ณ คืนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ บริษัท 4,491 แห่งในเมืองตงกวนได้กลับมาทำงานอีกครั้งอย่างราบรื่น และ 79.54% จากทั้งหมดเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต
หลิวจินถัง รองอธิบดีสำนักอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเมืองตงกวน กล่าวว่า "การแพร่ระบาดของไวรัสไม่กระทบต่อการพัฒนาโดยรวมในอนาคตของเมืองตงกวน" ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมของเมืองตงกวนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.4% ต่อปี รวมถึงครองสัดส่วน 13.3% ของมูลค่าเพิ่มของบริษัทอุตสาหกรรม ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของมณฑลกวางตุ้ง ขณะที่มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงและการผลิตไฮเทคคิดเป็นสัดส่วน 54.2% และ 42.2% ตามลำดับ ซึ่งคุณหลิวกล่าวว่า "ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจเมืองตงกวนสามารถต้านทานความเสี่ยงและฟื้นตัวได้ดี" พร้อมกับคาดการณ์ว่าการระบาดของไวรัสจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในระดับหนึ่งในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาสแรก แต่ในระยะยาว รากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูงจะไม่สั่นคลอน
เมืองตงกวนได้ประกาศนโยบายเชิงบวกเพื่อรับมือกับอิทธิพลเชิงลบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โดยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ได้มีการประกาศ 15 นโยบายช่วยเหลือบริษัทท้องถิ่น ซึ่งครอบคลุม 55 มาตรการพิเศษอย่างการยกเว้นค่าเช่า การลดภาษี การเพิ่มวงเงินกู้ และการสนับสนุนบุคลากรมากความสามารถ ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง รวมถึงลดอิทธิพลเชิงลบจากการแพร่ระบาดของไวรัสที่มีต่อธุรกิจให้เหลือน้อยที่สุด
คาดว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยบรรเทาภาระของบริษัทต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.5 พันล้านหยวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการช่วยเหลือเพื่อสร้างเสถียรภาพการจ้างงานที่ประกาศโดยสำนักทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมเมืองตงกวน ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระของบริษัทต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่ารวม 168 ล้านหยวน โดยคาดว่าบริษัทกว่า 190,000 แห่ง และพนักงาน 1.21 ล้านคนจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว
การที่บริษัทต่าง ๆ เผชิญกับความท้าทายอย่างไม่คาดฝัน อันเป็นผลมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสและการกลับมาดำเนินธุรกิจที่ล่าช้าเพราะแรงงานไม่เพียงพอ ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินงานและการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตในเมืองตงกวน
เพื่อช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ ในการจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้ได้เร็วที่สุด เมืองตงกวนได้จัดมหกรรมนัดพบแรงงานออนไลน์ โดยเผยแพร่ข้อมูลงาน 83,000 ตำแหน่งจากบริษัท 1,153 แห่ง นอกจากนั้นยังประกาศรับสมัครบุคลากรด้านการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจ้างงาน
ซ่งฉิงกัง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโฆษณา กล่าวว่า นโยบายช่วยเหลือของเมืองตงกวนมีประโยชน์มาก ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีหรือลดค่าเช่า โดยช่วยลดภาระในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต
นอกจากนี้ เมืองตงกวนยังประกาศมาตรการอีกส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เมืองตงกวนได้ประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือบริษัทท้องถิ่น ประกอบด้วย 10 มาตรการจากสองส่วน ได้แก่ การเพิ่มทุนและขยายการผลิต และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา เพื่อผลักดันการพัฒนาและพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมในเมืองตงกวน
ขณะเดียวกัน เมืองตงกวนยังสร้างเสริมศักยภาพการให้บริการแก่บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งยังผนวกรวมทรัพยากรที่ดิน เทคโนโลยี ทุน บุคลากร ฯลฯ เข้าด้วยกัน และปรับปรุงแพลตฟอร์มข้อมูลที่เรียกว่า "ฉีกวนเจี่ย" นอกจากนั้นยังมีการบูรณาการมาตรการออนไลน์และออฟไลน์เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการ รวมทั้งจัดตั้งกลไกการทำงานของผู้เชี่ยวชาญด้านบริการ เพื่อปรับปรุงบริการให้มีความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น
รัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทต่าง ๆ มีมุมมองบวกต่อผลกระทบจากการระบาดของไวรัสที่มีต่อธุรกิจ โดยคุณหลิวกล่าวว่า "เมื่อการระบาดอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว การบริโภคและการลงทุนก็จะกลับมา และเศรษฐกิจเมืองตงกวนที่พึ่งพาอุตสาหกรรมก็จะเติบโตอีกครั้ง" นอกจากนี้ อุปสงค์ในตลาดที่ลดลงชั่วคราวอาจทำให้ยอดสั่งซื้อดีดตัวขึ้นทั่วทั้งอุตสาหกรรม
ที่มา: สำนักอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเมืองตงกวน
AsiaNet 82876
No comments:
Post a Comment