Wednesday, February 12, 2020

Wildlife Justice Commission แนะทั่วโลกจัดการปัญหาลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มในฐานะอาชญากรรมข้ามชาติ

 กรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์--11 ก.พ.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

          รายงานว่าด้วยการลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มได้รับการเผยแพร่ก่อนถึงวันตัวนิ่มโลก

          Wildlife Justice Commission (WJC) เผยแพร่รายงานว่าด้วยการลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่ม Scaling Up: The Rapid Growth in the Trafficking of Pangolin Scales (2016-2019) [1] ในขณะที่วันตัวนิ่มโลกกำลังจะมาถึง โดยรายงานดังกล่าวตอกย้ำว่าการลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นจนส่งผลให้ตัวนิ่มกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นจึงต้องจัดการปัญหาการลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มในฐานะอาชญากรรมข้ามชาติ และต้องใช้เทคนิคการสืบสวนที่ทันสมัยเพื่อจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

          รายงานดังกล่าวประกอบด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลการจับกุมระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2562 และผลการสืบสวนด้วยตัวเองของ WJC เพื่อทำความเข้าใจแรงขับเคลื่อนในการก่ออาชญากรรมและแนวโน้มการลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มข้ามชาติ โดย WJC ให้ความสำคัญกับการสืบสวนและการหาข่าวกรองเกี่ยวกับการลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มที่มีแนวโน้มการก่ออาชญากรรมสูงสุด ทั้งนี้ เกล็ดตัวนิ่มเป็นยาจีนชนิดหนึ่ง แม้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ถึงสรรพคุณทางยาก็ตาม

          การวิเคราะห์ให้ความสำคัญกับประเทศที่ลักลอบค้าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน (รวมถึงประเทศที่มีส่วนอย่างมากอย่างไนจีเรียและเวียดนาม) เส้นทางการลักลอบนำเข้า วิธีการขนส่ง และมูลค่าของเกล็ดตัวนิ่ม โดยจากการวิเคราะห์พบว่า เกล็ดตัวนิ่มที่ถูกลักลอบค้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมหาศาล โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม

          ในช่วงปี 2559-2562 มีการจับกุม 52 ครั้ง สามารถยึดเกล็ดตัวนิ่มที่ถูกลักลอบนำเข้าได้ราว 206.4 ตัน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการจับกุมพบว่า การลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วงสองปีให้หลัง (2561-2562) สามารถยึดเกล็ดตัวนิ่มได้เกือบสองในสามของทั้งหมด (132.1 ตัน) ส่วนในปี 2562 การลักลอบนำเข้าเกล็ดตัวนิ่มหนึ่งครั้งมีน้ำหนักเฉลี่ย 6.2 ตัน เทียบกับ 2.2 ตันเมื่อสามปีก่อนหน้า

          "เราเชื่อว่าตัวเลขที่มีการบันทึกเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของทั้งหมด เพราะมีแนวโน้มว่าการลักลอบนำเข้าส่วนมากสามารถหลุดรอดการจับกุมไปได้" ซาราห์ สโตเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองของ WJC กล่าว "แนวทางการสืบสวนของเราเพิ่มมิติใหม่ที่แสดงถึงระดับความรุนแรงของการลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่ม โดยเรามีการหาข่าวกรองเกี่ยวกับสต็อกเกล็ดตัวนิ่ม (กว่า 16 ตันในช่วงสามปี) เฉพาะในเวียดนามที่เดียว นอกจากนั้นยังมีการวิเคราะห์การจับกุมที่เกิดขึ้นด้วย"

          ขณะเดียวกันยังมีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการลักลอบค้างาช้างกับเกล็ดตัวนิ่ม และความหมายในบริบททางอาชญากรรม โดยพบว่าการที่งาช้างมีมูลค่าลดลงทำให้เครือข่ายองค์กรอาชญากรรมหันไปลักลอบขนเกล็ดตัวนิ่ม และมีการขนครั้งละมาก ๆ เพื่อให้ได้กำไรในระดับเดิม เพราะเกล็ดตัวนิ่มมีมูลค่าน้อยกว่างาช้างเมื่อเทียบเป็นกิโลกรัม [2]

          "การก่ออาชญากรรมต่อสัตว์ป่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับสปีชีส์ แต่ขึ้นอยู่กับมูลค่าและกำไร เครือข่ายองค์กรอาชญากรรมจะเปลี่ยนเป้าหมายหากได้กำไรดีกว่า ดังนั้น เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด เราต้องจัดการอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าจากมุมมองของอาชญากรและในมิติระดับข้ามชาติ ไม่ใช่โฟกัสแค่ในระดับชาติ" คุณสโตเนอร์กล่าว

          รายงานของ WJC ระบุว่า การใช้เทคนิค controlled delivery (การจัดส่งสิ่งผิดกฎหมายภายใต้การควบคุม) เพื่อหาพยานหลักฐานสาวไปถึงเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม ให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจในการนำผู้ลักลอบค้าตัวนิ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

          คุณสโตเนอร์กล่าวเสริมว่า "การสืบสวนการลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มในจีนนานหนึ่งปี และการจับกุมโดยทางการไนจีเรีย [3] เป็นตัวอย่างที่ดีของการสืบสวนอาชญากรรมข้ามชาติต่อสัตว์ป่า และเป็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในการขัดขวางองค์กรอาชญากรรม หากปราศจากการทำงานเช่นนี้ ตัวนิ่มก็เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์"

          Wildlife Justice Commission ดำเนินงานทั่วโลกเพื่อสกัดและทลายเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ลักลอบค้าไม้ สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ ด้วยการรวบรวมหลักฐานเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีตามกฎหมาย

          หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

          [1] อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ www.wildlifejustice.org

          [2] บทวิเคราะห์ Ivory Snapshot Analysis ของ WJC ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2562 ได้นำเสนอมุมมองอย่างละเอียดเกี่ยวกับแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงของแรงขับเคลื่อนในการก่ออาชญากรรมลักลอบค้างาช้างข้ามชาติ โดยแสดงให้เห็นว่ามีการตรวจพบการลักลอบนำเข้ามากขึ้น ซึ่งรวมถึงการลักลอบนำเข้างาช้างน้ำหนักกว่า 500 กิโลกรัม นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มที่น่ากังวลเกี่ยวกับการลักลอบขนเกล็ดตัวนิ่มปริมาณมากพร้อมกับงาช้าง ซึ่งตรวจพบมากขึ้น

          [3] เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ทางการจีนสามารถยึดเกล็ดตัวนิ่มน้ำหนัก 10.65 ตันที่ลักลอบขนจากไนจีเรียผ่านทางเกาหลีใต้มายังจีน ซึ่งเป็นผลมาจากการสืบสวนนานหนึ่งปีโดยอาศัยเทคนิค controlled delivery ต่อมาในเดือนมกราคม 2563 กรมศุลกากรไนจีเรียได้ยึดเกล็ดตัวนิ่มและสินค้าผิดกฎหมายอื่น ๆ ที่ถูกลักลอบนำเข้าทางชายแดนไนจีเรีย-แคเมอรูน ทั้งนี้ การร่วมมือกันในระดับสูงอย่างใกล้ชิดเพื่อสกัดเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่ลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มไปทั่วโลก ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปกป้องตัวนิ่มแอฟริกาจากการล่าเพื่อเอาเกล็ดและเนื้อ

          รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1087660/Wildlife_Justice_Commision.jpg

No comments:

Post a Comment