Thursday, August 27, 2020

การศึกษาล่าสุดจากการประชุม Digital International Liver Congress เผย การเปลี่ยนแปลงจุลินทรีย์ในลำไส้ช่วยลดความอยากแอลกอฮอล์

การศึกษานำร่องซึ่งนำเสนอในที่ประชุม The Digital International Liver Congress(TM) 2020 เผยให้เห็นถึงความสำคัญของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีต่อการลดภาระของโรคตับและมะเร็งตับที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การศึกษาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาว่าการปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระ (FMT) ด้วยการนำอุจจาระของคนที่มีสุขภาพแข็งแรงมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีไปใส่ในลำไส้ของผู้ป่วย สามารถลดความอยากแอลกอฮอล์ได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกที่จะนำไปใช้ในการทดลองขนาดใหญ่ขึ้นต่อๆ ไป

ในการศึกษานำร่องนี้ ซึ่งเป็นการทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (Randomized) ควบคุมด้วยยาหลอก (Placebo-controlled) และปกปิดข้อมูลทั้งสองด้าน (Double-blind) ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติจากการดื่มสุราจำนวน 20 ราย ซึ่งเคยลองใช้วิธีต่างๆ เพื่อเลิกดื่มแอลกอฮอล์มาหลายวิธีแต่ไม่สำเร็จนั้น ได้รับการรักษาด้วยวิธี FMT หรือการให้ยาหลอก ซึ่งวิธี FMT แสดงให้เห็นว่า สามารถช่วยลดความอยากดื่มสุรา ตลอดจนผลกระทบของความเจ็บป่วย (Sickness Impact Profile) ทางจิตสังคมและทั้งหมดในวันที่ 15 หลังการรักษา นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธี FMT มีความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่ง

ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ และการศึกษานี้ยังเพิ่มความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในลำไส้เพื่อปรับปรุงผลการรักษาผู้ป่วย

ในเคสของผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง อนุมูลอิสระที่เรียกว่า Reactive Oxygen Species ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายแอลกอฮอล์ สามารถนำไปสู่โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่วและเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของจุลินทรีย์ ภาวะลำไส้รั่วนี้เองที่เชื่อกันว่าจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายดีเอ็นเอของแบคทีเรียในลำไส้และสารที่เป็นพิษไปยังตับ ซึ่งคาดว่าปัจจัยหลังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระบวนการอักเสบที่สัมพันธ์กับการพัฒนาของโรคตับ ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็ง

Dr. Jasmohan Bajaj แห่งศูนย์การแพทย์ McGuire VA Medical Center ในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำเสนอผลการศึกษาในการประชุม ILC แสดงความเห็นว่า “FMT เป็นวิธีการที่ปลอดภัย และแสดงผลของการช่วยลดความอยากสุราในระยะสั้น รวมถึงปรับปรุงคุณภาพชีวิตในแง่จิตสังคมของผู้ป่วยโรคตับแข็งและผู้ที่มีภาวะผิดปกติจากการดื่มสุรา” และเพิ่มเติมว่า “หลังจากรักษาด้วยวิธี FMT การพบแบคทีเรียที่ผลิตกรดไขมันสายสั้นมากมายในกลุ่มผู้ป่วยซึ่งมีความหลากหลายของแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนการสื่อสารระหว่างสมองและทางเดินอาหาร (gut-brain axis) อาจเป็นวิธีการที่ช่วยลดความรุนแรงของภาวะความผิดปกติจากการดื่มสุราในผู้ป่วยโรคตับแข็งได้”

ศาสตราจารย์ Luca Valenti สมาชิกคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ EASL จากมหาวิทยาลัยมิลานในอิตาลี กล่าวว่า “การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมของมนุษย์กับจุลินทรีย์ไมโครไบโอมในแง่สุขภาพและการเกิดโรค เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าครั้งสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” และเผยด้วยว่า “ผลการศึกษานี้จะเป็นรากฐานในการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการรักษาโรคตับต่อไป”



No comments:

Post a Comment