Monday, August 31, 2020

แพทย์จาก Texas Cardiac Arrhythmia Institute ศึกษาบทบาทของแอปและอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะในการติดตามภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจากทางไกล

แพลตฟอร์มติดตามสุขภาพระบบดิจิทัลช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงผู้ให้บริการสุขภาพและสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต

แพทย์จาก Texas Cardiac Arrhythmia Institute (TCAI) at St. David's Medical Center กำลังทำการทดสอบโปรแกรมปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (A Fib) ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุด โดยมีการใช้แอปที่เชื่อมกับอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (wearable device) ซึ่งจะช่วยให้ตรวจพบอาการหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงช่วยยกระดับการจัดการโรคและผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วย

“การติดตามสุขภาพด้วยระบบดิจิทัลทำให้เราดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น ด้วยการช่วยให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ เช่นในส่วนของการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย” นายแพทย์อันเดรอา นาตาเล (F.H.R.S., F.A.C.C., F.E.S.C.) แพทย์ผู้ชำนาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจและผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการแพทย์ประจำสถาบัน TCAI กล่าว “นอกจากนี้ แพทย์จะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว”

โปรแกรมติดตามสุขภาพระบบดิจิทัลที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาจะช่วยให้แพทย์สามารถระบุตัวผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และพัฒนาแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น การให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการกำเริบ ทั้งก่อนและหลังการจี้ไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นการทำหัตถการเพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจส่วนที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

แพลตฟอร์มติดตามสุขภาพระบบดิจิทัล RFMx ที่นำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ มีการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะเพื่อติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษา และสร้าง Health Scorecard โดยอ้างอิงข้อมูลที่ได้มาจากอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะที่ถูกส่งมาทุกเดือนผ่านระบบติดตามสุขภาพทางไกล โดยมีเป้าหมายในการให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้ป่วยในหลายแง่มุม เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การลดความเครียด การนอนหลับ การเลิกบุหรี่ และการลดการดื่มแอลกอฮอล์

“ผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และความท้าทายที่ต้องเผชิญก็แตกต่างกัน” นายแพทย์นาตาเล กล่าว “ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินจะถูกจัดอยู่ในโปรแกรมดูแลโภชนาการและการออกกำลังกาย โดยมีเป้าหมายคือการลดดัชนีมวลกายให้ได้อย่างน้อย 10% ซึ่งแพลตฟอร์มติดตามสุขภาพระบบดิจิทัลสามารถวัดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้”

แพทย์ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล การวิเคราะห์ผ่านเว็บ อีเมล โทรศัพท์มือถือ แอป ข้อความผ่านมือถือ อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ และเซ็นเซอร์ติดตามสุขภาพทางไกล (เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความดันโลหิต ฯลฯ) ในการติดตามความก้าวหน้าของผู้ป่วย และหากจำเป็นก็สามารถให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ โปรแกรมดังกล่าวยังให้การสนับสนุนในระดับชุมชนด้วยการให้กำลังใจและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วย

ปัจจุบัน TCAI กำลังทดสอบโปรแกรมติดตามสุขภาพระบบดิจิทัลกับผู้ป่วยราว 40 คน

ผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้มีอัตราการเต้นของหัวใจเป็นปกติ สามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยผลลัพธ์จากการศึกษา Early Treatment of Atrial Fibrillation for Stroke Prevention Trial (EAST) ได้รับการนำเสนอในการประชุม European Heart Meeting และเผยแพร่ผ่านวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม

No comments:

Post a Comment