Tuesday, February 23, 2021

1PointFive วางใจ Worley ดำเนินการด้าน FEED ในสถานีดักจับคาร์บอนจากอากาศ

 

      Worley บริษัทผู้รับจ้างทำงาน EPC ระดับโลก ได้รับเลือกให้เป็นผู้วางระบบวิศวกรรมเบื้องต้นในสถานีดักจับคาร์บอนโดยตรงจากอากาศแห่งแรกของ 1PointFive นับเป็นครั้งแรกที่ใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนโดยตรงจากอากาศของ Carbon Engineering ในเชิงพาณิชย์

1PointFive ประกาศเลือก Worley เข้ามารับหน้าที่ออกแบบและวางระบบวิศวกรรมส่วนหน้า (FEED) ในสถานีดักจับคาร์บอนโดยตรงจากอากาศ (DAC) แห่งแรกของทางบริษัทอย่าง DAC 1 ซึ่งตั้งอยู่ใน Permian Basin ของสหรัฐ โครงการดังกล่าวจะสนับสนุนพันธกิจของ 1PointFive ในการรักษาเสถียรภาพของสภาพอากาศ ผ่านการให้บริการและใช้งานเทคโนโลยี DAC ของ Carbon Engineering ที่ทำหน้าที่ดักจับก๊าซ CO2 โดยตรงจากอากาศ ทั้งนี้ สถานี DAC 1 นับเป็นการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ครั้งแรก โดยข้อตกลงในการทำงาน FEED ครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือก้าวแรกของ 1PointFive และ Worley ซึ่งเบื้องต้นจะมุ่งเน้นที่ Permian Clean Campus ในส่วนของ DAC 1 ไล่ไปจนถึง DAC 4

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ สถานีดังกล่าวจะสกัดก๊าซ CO2 จากอากาศได้ถึงปีละ 1 ล้านตัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเร่งใช้เทคโนโลยี DAC ในเชิงพาณิชย์เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เพื่อช่วยให้บริษัททั่วโลกลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การทำงานในส่วน FEED ของสถานี DAC 1 จะเน้นไปที่หน่วยแรก ซึ่งจะดักจับ CO2 ได้ปีละ 500,000 ตัน และจะเริ่มดำเนินการภายใน 90 วันข้างหน้า โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 และเมื่อดำเนินการด้าน FEED เสร็จสิ้นแล้ว โครงการดังกล่าวก็จะเข้าสู่ระยะงานวิศวกรรม จัดซื้อ และก่อสร้าง (EPC)

"เราจับมือเป็นพันธมิตรกับ Worley ในโครงการครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพราะมีวิสัยทัศน์เหมือนกันในด้านความยั่งยืน" Richard Jackson ประธานของ 1PointFive กล่าว "Worley มีผลงานเด่นชัดในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างแท้จริง และสิ่งนั้นจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยี DAC ในเชิงพาณิชย์ สถานีดักจับคาร์บอนระดับบุกเบิกวงการนี้กำลังจัดการกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในยุคนี้ ความรู้และความเชี่ยวชาญที่เรามีรวมกันไม่ได้ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังจะก่อให้เกิดความคืบหน้าในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย"

"การร่วมมือกับ 1PointFive ในโครงการนี้สอดรับกับความปรารถนาของเราในการมอบโลกที่ยั่งยืนกว่าเดิม" Chris Ashton ซีอีโอของ Worley กล่าว "และวิสัยทัศน์ของพวกเขาในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่รวมถึงเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนจากอากาศนั้น ก็มีศักยภาพในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในอนาคตโดยผสานรวมทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อนคือความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่ต้องจัดการ แต่เราก็จะมีมันสมองระดับโลกที่คอยจัดการปัญหาดังกล่าวผ่านโครงการนี้"

สำหรับงาน FEED ในสถานีดักจับคาร์บอน DAC 1 ทาง Worley และ 1PointFive จะร่วมสำรวจเทคโนโลยี วัสดุ และกระบวนการผลิตยุคใหม่ที่สอดรับกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกรีไซเคิล ไปจนถึงการพิมพ์สามมิติและพลังงานที่ปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ครบวงจร นวัตกรรมเหล่านี้จะเข้ามายกระดับความยั่งยืนและประสิทธิภาพด้านเงินทุนของสถานี พร้อมปรับการดำเนินงานตามข้อมูลที่ได้ เพื่อให้สถานี DAC แห่งใหม่ ๆ ในอนาคตทำงานได้ดีขึ้น

เกี่ยวกับ 1PointFive
1PointFive มีพันธกิจเพื่อรักษาเสถียรภาพของสภาพภูมิอากาศ ด้วยการควบคุมไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า และเพื่อให้เป้าหมายเป็นจริง บริษัทจึงอุทิศตนในการดำเนินการและใช้งานเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนโดยตรงจากอากาศ (DAC) ของ Carbon Engineering ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำหน้าที่กำจัดก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศผ่านเครือข่ายสถานี DAC ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1PointFive.com

เกี่ยวกับ Worley
Worley มีสำนักงานใหญ่อยู่ในออสเตรเลีย โดยเป็นบริษัทระดับโลกที่มีเป้าหมายในการมอบโลกที่ยั่งยืนกว่าเดิม Worley เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านบริการโครงการและทรัพย์สินด้วยความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมพลังงาน เคมีภัณฑ์ และทรัพยากร บริษัทเป็นผู้ให้บริการที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ เราใช้ความรู้ความสามารถของเราเพื่อช่วยลูกค้าลดการปล่อยมลภาวะ และก้าวเข้าสู่อนาคตคาร์บอนต่ำ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Worley.com

เกี่ยวกับ Carbon Engineering (CE):
CE ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 เป็นบริษัทพลังงานสะอาดของแคนาดา โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนโดยตรงจากอากาศทั่วโลก เทคโนโลยีที่ว่านี้ทำหน้าที่ดักจับก๊าซ CO? โดยตรงจากบรรยากาศ และนำมากักเก็บถาวรใต้ดิน หรือไม่ก็สังเคราะห์เป็นเชื้อเพลิงสะอาดและราคาถูกสำหรับการขนส่ง CE มีโรงงานนำร่องที่เมืองสความิช รัฐบริติชโคลัมเบีย ซึ่งบริษัทใช้เป็นโรงงานกำจัด CO? ออกจากบรรยากาศมาตั้งแต่ปี 2558 และแปลงคาร์บอนเป็นเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ปี 2560 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.carbonengineering.com

No comments:

Post a Comment