การก่อสร้างสถานีอวกาศของจีนยังดำเนินต่อไป โดยโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tianhe) ซึ่งมีความหมายว่า "ความสามัคคีแน่นแฟ้นในสรวงสวรรค์" ได้ถูกส่งสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดฉากชุดภารกิจสำคัญของจีนที่ตั้งเป้าสร้างสถานีอวกาศให้แล้วเสร็จภายในปี 2565
เทียนเหอถูกส่งไปยังอวกาศด้วยจรวดขนส่ง Long March-5B Y2 จากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง บริเวณชายฝั่งมณฑลไหหนานซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน โดยภารกิจดังกล่าวเป็นภารกิจแรกจากทั้งหมด 11 ภารกิจในการก่อสร้างและจัดเตรียมอุปกรณ์ให้กับสถานีอวกาศจีน
เทียนเหอจะทำหน้าที่เป็นโมดูลหลักของสถานีอวกาศแห่งแรกของจีนอย่าง "เทียนกง" ซึ่งแปลว่าวิมานลอยฟ้า โดยประจำอยู่ในวงโคจรระดับต่ำของโลก
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน กล่าวในแถลงการณ์แสดงความยินดีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า ความสำเร็จในการปล่อยโมดูลหลักเทียนเหอแสดงให้เห็นว่า การก่อสร้างสถานีอวกาศจีนได้เข้าสู่ระยะที่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นการปูรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับภารกิจต่อไป
ปธน.สีกล่าวว่า การก่อสร้างสถานีอาวกาศและห้องปฏิบัติการอวกาศแห่งชาติถือเป็นเป้าหมายสำคัญในกลยุทธ์ 3 ขั้นของภารกิจการบินอวกาศโดยใช้มนุษย์ควบคุม รวมถึงโครงการสำคัญที่มีเป้าหมายยกระดับความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน รวมถึงด้านอวกาศด้วยเช่นกัน
พร้อมกันนี้ ปธน.สีได้เรียกร้องให้สมาชิกที่มีส่วนร่วมในภารกิจทุกคนให้รู้จักพึ่งพาตัวเองและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อคว้าความสำเร็จในภารกิจการก่อสร้างสถานีอวกาศ และสร้างความสำเร็จครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่ให้กับการโครงสร้างที่มีความครอบคลุมของจีน
แพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง
นายห่าว ชุน ประธานสำนักงานด้านวิศวกรรมอวกาศที่มีมนุษย์ขับเคลื่อนของจีน (China Manned Space Engineering Office) กล่าวในระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษกับ CGTN ว่า สถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีนไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อนักวิทยาศาสตร์จีนเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างให้กับนักบินอวกาศต่างชาติ และพร้อมอ้าแขนรับความร่วมมือด้านการทดลองวิทยาศาสตร์ระดับโลก
นายห่าวกล่าวว่า "จีนและสำนักงานกิจการอวกาศแห่งสหประชาชาติ ได้ประสานความร่วมมือด้านอุปกรณ์สำหรับใช้งานในสถานีอวกาศของจีน โดยเราได้ลงนามในข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว"
จนถึงปัจจุบัน จีนได้คัดเลือก 9 โครงการอวกาศที่ได้รับการเสนอจาก 17 ประเทศรวมถึงฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ในการทดลองรอบแรกซึ่งจะปฏิบัติการในห้องทดลองอวกาศแห่งใหม่
"สำหรับในอนาคต แน่นอนว่าจะต้องมีนักบินอวกาศต่างชาติเข้ามาร่วมบิน ปฎิบัติภารกิจ และอาศัยบนสถานีอวกาศของจีน ซึ่งในปัจจุบันเรามีนักบินอวกาศต่างชาติที่ได้เข้าร่วมไฟลท์บินกับจีน และเรียนรู้ภาษาจีนด้วย" นายห่าวกล่าว
ผลักดันสู่การเป็นมหาอำนาจด้านการบินอวกาศ
นับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 18 ปธน.สี ร่วมด้วยเลขาธิการใหญ่แห่งคณะกรรมการกลาง CPC ได้มีคำสั่งให้เริ่มดำเนินโครงการหลัก ๆ ในด้านการบินอวกาศ และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านการบินอวกาศ
"การสำรวจอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาล การพัฒนาโครงการด้านอวกาศ และการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศ เป็นความฝันที่เราไล่ตามมาตลอด" ปธน.สีกล่าวในวันอวกาศแห่งชาติจีนซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2559
ในปี 2563 อุตสาหกรรมอวกาศจีนประสบความสำเร็จในหลายภารกิจด้านอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนสามารถนำดาวเทียมดวงสุดท้ายอย่าง "เป่ยโต่ว" ขึ้นสู่วงโคจรอวกาศได้อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 23 มิ.ย. รวมถึงปล่อยจรวดไร้คนขับขึ้นสู่อวกาศในภารกิจสำรวจดาวอังคารเมื่อวันที่ 23 ก.ค., การปล่อยยานไร้คนขับ Chang'e-5 ขึ้นไปเก็บตัวอย่างวัตถุบนดวงจันทร์เมื่อวันที่ 24 พ.ย. และการที่จีนประสบความสำเร็จในการนำยาน Chang'e-5 ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.
https://news.cgtn.com/news/2021-04-29/Tianhe-lifts-off-China-s-space-station-ambition--ZR9lfbX2iA/index.html
วิดีโอ - https://www.youtube.com/watch?v=WHdkt9ncb9M
คำบรรยาย - CGTN: จีนส่งโมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนเหอขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้สำเร็จ
No comments:
Post a Comment