Thursday, August 25, 2022

"หัวเว่ย" จับมือพันธมิตร ติดตั้งระบบคัดกรองสายพันธุ์ปลาแซลมอนด้วยปัญญาประดิษฐ์ครั้งแรกของโลกในนอร์เวย์


ระบบกรองสายพันธุ์อัตโนมัติสามารถระบุและคัดกรองปลาแซลมอนแปซิฟิกซึ่งเป็นสายพันธุ์รุกรานได้ ป้องกันการทำลายประชากรปลาแซลมอนแอตแลนติกในนอร์เวย์

หัวเว่ย (Huawei) และสมาคมล่าสัตว์และการประมงแห่งแบร์เลแวค (Berlev?g Jeger-og Fiskerforening หรือ BJFF) ซึ่งเป็นพันธมิตรของหัวเว่ยในนอร์เวย์ ประสบความสำเร็จในการติดตั้งระบบคัดกรองสายพันธุ์ปลาที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ในแม่น้ำสโตเรลวา (Storelva) ของนอร์เวย์ ซึ่งช่วยให้ปลาแซลมอนแอตแลนติกว่ายกลับสู่ต้นน้ำได้ และต้อนปลาแซลมอนแปซิฟิกซึ่งเป็นสายพันธุ์รุกรานเข้าไปสู่บ่อพักได้

ปลาแซลมอนแปซิฟิก หรือที่รู้จักในกันชื่อแซลมอนหลังค่อม ถูกปล่อยลงสู่ทะเลขาวของรัสเซียในช่วงยุค 50 และเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วลงสู่ชายฝั่งนอร์เวย์ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในท้องถิ่นและก่อให้เกิดโรคใหม่ วงจรการแพร่พันธุ์ที่รวดเร็วของปลาชนิดนี้ และการแข่งขันเพื่อแย่งชิงแหล่งอาหารที่ดุเดือด ได้สร้างภัยคุกคามต่อปลาแซลมอนแอตแลนติกในแม่น้ำหลายร้อยสายตามแนวชายฝั่งของนอร์เวย์

ในเดือนมิถุนายน 2565 ภายใต้โครงการเทคฟอร์ออล (TECH4ALL) ของหัวเว่ย หัวเว่ยได้ร่วมมือกับสมาคมล่าสัตว์และการประมงแห่งแบร์เลแวคในการติดตั้งระบบกรองสายพันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาแซลมอนแปซิฟิกเข้าสู่ช่องทางต้นน้ำของระบบแม่น้ำในนอร์เวย์ ประตูกลเหล่านี้ช่วยให้ปลาแซลมอนแอตแลนติกและปลาแซลมอนจุดแดงอาร์กติกในท้องถิ่นสามารถว่ายสู่ต้นน้ำเพื่อวางไข่ได้ ขณะที่ปลาแซลมอนแปซิฟิกจะถูกต้อนไปยังบ่อพักเพื่อนำออกในภายหลัง

แกร์ คริสเตียนเซน (Geir Kristiansen) ประธานสมาคมฯ กล่าวว่า "นี่เป็นนวัตกรรมที่ไม่เหมือนใครทั้งสำหรับนอร์เวย์และทั่วโลก โซลูชันที่มีความทันสมัยนี้ทำให้เราควบคุมแม่น้ำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผู้ดูแลแม่น้ำในท้องถิ่น หน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานส่วนกลางตามแนวชายฝั่ง ยังได้แสดงความสนใจในโครงการนี้เป็นอย่างมากด้วย"

ความต้องการทางออกของปัญหาจัดเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยชุมชน หน่วยงานรัฐบาล หน่วยงานกำกับดูแล เจ้าของแม่น้ำ และอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างระบุว่า ปลาแซลมอนแอตแลนติกตามธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญของเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของนอร์เวย์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนปลาแซลมอนแปซิฟิกที่นักกีฬาตกปลาจับได้จากแม่น้ำของนอร์เวย์ได้พุ่งสูงขึ้น โดยในปี 2562 มีปลาแซลมอนแปซิฟิกถูกจับได้กว่า 13,900 ตัว และมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 111,700 ตัวในปี 2564 คิดเป็น 57% ของปลาแซลมอนที่จับได้ในนอร์เวย์ทั้งหมด ขณะที่ทุกเมืองในนอร์เวย์ต่างมีประวัติการจับปลาแซลมอนแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดอยู่ในเมืองทรอมส์และฟินน์มาร์ค

ในทางตรงกันข้าม จำนวนปลาแซลมอนพื้นเมืองกลับลดจำนวนลงถึงหนึ่งในสี่จากระดับสูงสุด ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากจำนวนปลาสายพันธุ์รุกรานที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีปลาแซลมอนที่ถูกเพาะเลี้ยงในฟาร์มซึ่งมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยกว่าหลุดรอดออกมา ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นโดยการทำให้จีโนมของปลาแซลมอนแอตแลนติกอ่อนแอลงหลังการผสมข้ามสายพันธุ์

ทอร์ ชูลสตัด (Tor Schulstad) ผู้อำนวยการประจำสมาคมฯ กล่าวว่า "ปลาแซลมอนพื้นเมืองในธรรมชาติของนอร์เวย์ถูกคุกคามโดยปลาสายพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงปลาแซลมอนหลังค่อมและปลาแซลมอนที่เลี้ยงในฟาร์ม ระบบเฝ้าติดตามที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์นี้จะช่วยหยุดปัญหาเหล่านี้ และช่วยให้บริหารจัดการแม่น้ำอย่างสอดรับกับอนาคตได้"

ข้อมูลที่รวบรวมได้ยังเปิดเผยรูปแบบพฤติกรรมการย้ายถิ่นที่แม่นยำ ตรวจสอบจำนวนประชากรปลาประเภทต่าง ๆ มอบข้อมูลสำหรับการวิจัยเพิ่มเติม และช่วยพัฒนามาตรการในการหยุดการจับปลาที่มากเกินไป

เวการ์ด คเจเนอร์ (Vegard Kjenner) ผู้อำนวยการด้านเทคนิคของหัวเว่ย ประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า "การติดตั้งระบบคัดกรองสายพันธุ์ปลาในแม่น้ำที่เชี่ยวกรากเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง ผมประทับใจในความพยายามของพันธมิตรของเราอย่าง BJFF และชุมชนท้องถิ่น ผู้คนที่นี่ต่างปรารถนาที่จะพิสูจน์บทบาทของการจัดการที่ดีในการช่วยแม่น้ำจากภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม"

การเป็นโซลูชันแรกของโลกทำให้จำเป็นต้องอาศัยการออกแบบตั้งแต่เริ่มต้น โดยในช่วงต้นปี 2564 อัลกอริทึมได้ถูกออกแบบขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีแมชชีนวิชันของหัวเว่ย เพื่อระบุปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2564 หัวเว่ยและสมาคมฯ ได้ติดตั้งสถานีตรวจสอบที่ติดตั้งกล้องใต้น้ำในแม่น้ำสโตเรลวา ฮาร์ดแวร์และอัลกอริทึมสามารถสตรีมวิดีโออย่างต่อเนื่องเพื่อระบุปลาแซลมอนแอตแลนติกด้วยความแม่นยำที่ 91% และลดข้อกำหนดด้านแรงงานคนลงถึง 90% โดยวิธีการดั้งเดิมนั้นใช้แรงงานจำนวนมาก เพราะอาศัยอาสาสมัครยืนอยู่ในแม่น้ำเพื่อระบุสายพันธุ์ปลาแซลมอนแปซิฟิกด้วยตาเปล่าโดยสังเกตจากจุดบนหาง ซึ่งทำให้ยากต่อการสรุประดับการคุกคาม เนื่องจากยังมีปลาอีกจำนวนมากที่หลุดรอดไป ประกอบกับไม่สามารถระบุเพศของปลาเหล่านั้นได้

ขั้นตอนต่อไปคือการปรับใช้โซลูชันในฟาร์มปลาแซลมอนของนอร์เวย์ เพื่อลดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากปลาที่หลุดรอดจากฟาร์ม

เกี่ยวกับเทคฟอร์ออล
เทคฟอร์ออล (TECH4ALL) เป็นโครงการริเริ่มและแผนปฏิบัติการระยะยาวที่หัวเว่ยเปิดตัวขึ้นเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางดิจิทัล โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทอดทิ้งในโลกดิจิทัลนี้ หัวเว่ยทำงานกับลูกค้าและพันธมิตรเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางดิจิทัลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการพัฒนา

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเทคฟอร์เนเจอร์ (Tech4Nature) ในเทคฟอร์ออล ได้ที่
https://www.huawei.com/en/tech4all/environment

และติดตามเราทาง
https://twitter.com/HUAWEI_TECH4ALL

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1883650/2.jpg


No comments:

Post a Comment