Friday, August 5, 2022

การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้น

      การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองและการเสื่อมถอยของสมองเร็วกว่าที่ควร จากงานศึกษาวิจัยที่นำเสนอวันนี้ภายในงานประชุมนานาชาติของสมาคมอัลไซเมอร์ ประจำปี 2565 (Alzheimer's Association International Conference(R) (AAIC(R)) 2022) ซึ่งจัดขึ้นในเมืองซานดิเอโกและทางออนไลน์

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ( HDP) ประกอบด้วย ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง หรือภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราว และภาวะครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) ได้รับการเชื่อมโยงอย่างมากเข้ากับการเกิดโรคหัวใจในช่วงอายุที่มากขึ้น แต่ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยน้อยมากที่เชื่อมโยงภาวะเหล่านี้เข้ากับการทำงานรู้คิดของสมอง ในแง่นี้ ข้อค้นพบสำคัญที่นำเสนอภายในงานประชุม AAIC ประจำปี 2565 มีดังนี้

  • สตรีที่เคยมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีแนวโน้มสูงกว่าที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งหมายถึงการเสื่อมถอยในทักษะการคิดที่เกิดจากภาวะที่ไปอุดตันหรือลดการไหลเวียนของเลือดเข้าสู่สมอง เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น โดยเปรียบเทียบกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีความเชื่อมโยงกับพยาธิสภาพของสสารสีขาวในสมอง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเสื่อมถอยของการทำงานรู้คิดของสมองเร็วกว่าที่ควร เมื่อเวลาผ่านไป 15 ปีหลังจากการตั้งครรภ์
  • สตรีที่เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษขั้นรุนแรงมีระดับของเบตาแอมีลอยด์ ( beta amyloid) สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์ซึ่งวัดในโลหิต เมื่อเทียบกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้น 1 ใน 7 ของการคลอดบุตรในโรงพยาบาล โดยเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตในบุคคลผู้ตั้งครรภ์ให้กำเนิดและตัวอ่อนในครรภ์ในทั่วโลก ภาวะดังกล่าวเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อประชากรชาวผิวดำ ชาวลาติน ชาวเอเชีย/ชาวเกาะในแปซิฟิก และชาวอเมริกันพื้นเมืองในอัตราที่สูงอย่างไม่สมส่วน

"นี่เป็นข้อมูลจากการศึกษาระยะยาวชุดแรก ๆ ที่เชื่อมโยงภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เข้ากับภาวะสมองเสื่อมในการศึกษาตามรุ่นในกลุ่มคนที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค (cohort study) ขนาดใหญ่" แคลร์ เซ็กซ์ตัน (Claire Sexton) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายโครงการและบริการสู่ภายนอกเชิงวิทยาศาสตร์ สมาคมอัลไซเมอร์ กล่าว "เมื่อคำนึงถึงนัยที่รุนแรงทั้งระยะสั้นและระยะยาวของภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ การตรวจพบและการรักษาแต่เนิ่น ๆ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปกป้องทั้งบุคคลผู้ตั้งครรภ์และเด็กที่จะเกิดมา"

"ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลสตรีตั้งครรภ์และการเฝ้าระวังสุขภาพระยะยาวของบุคคลผู้ตั้งครรภ์" เซ็กส์ตันกล่าว "ผู้ที่ประสบกับความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความจำและการทำงานรู้คิดของสมองควรปรึกษาผู้ให้การดูแลรักษาสุขภาพ"

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง

เพื่อสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับภาวะสมองเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น ดร.แคเรน ชลีป ( Karen Schliep) วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ป้องกัน มหาวิทยาลัยสุขภาพแห่งยูทาห์ (University of Utah Health) และเพื่อนร่วมงาน ได้ดำเนินการศึกษาตามรุ่นย้อนหลังกับสตรี 59,668 คนที่เคยตั้งครรภ์

สตรีที่มีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุสูงกว่า 1.37 เท่า เมื่อคำนวณโดยคำนึงถึงวัยขณะให้กำเนิด ปีที่ให้กำเนิด และความเหมือนกัน เมื่อเทียบกับสตรีที่ตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับความเสี่ยงสูงกว่า 1.64 เท่าที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง และความเสี่ยงสูงกว่า 1.49 เท่าที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ ภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์และภาวะครรภ์เป็นพิษและครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชักร่วม ( eclampsia) แสดงระดับของความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกันสำหรับภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือด

"ผลจากการศึกษาของเรายืนยันข้อค้นพบก่อนหน้านี้ว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองเมื่อเทียบกับอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ" ชลีปกล่าว "ผลดังกล่าวนี้ชี้ว่าความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองอาจสูงพอกันระหว่างสตรีที่เคยมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์กับสตรีที่เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ"

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับพยาธิสภาพของสสารสีขาวในสมอง 15 ปีหลังการตั้งครรภ์

เมื่อคำนึงถึงความเชื่อมโยงที่พิสูจน์ชัดเจนระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับสุขภาพหลอดเลือดสมองในระยะยาว โรวินา ฮุสไซนาลี ( Rowina Hussainali) วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต นักศึกษาปริญญาเอกด้านระบาดวิทยาและสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ศูนย์การแพทย์อีราสมุส เอ็มซี (Erasmus MC Medical Center) เนเธอร์แลนด์ และเพื่อนร่วมงาน ได้มุ่งศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับตัวบ่งชี้พยาธิสภาพของหลอดเลือดสมอง 15 ปีหลังจากการตั้งครรภ์

คณะผู้วิจัยได้สำรวจสตรี 538 ราย โดย 445 รายเคยตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง และ 93 รายเคยมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ จากการศึกษาเจเนอเรชัน อาร์ ( Generation R) โดยได้ศึกษาสตรีตั้งครรภ์ที่มีวันกำหนดคลอดระหว่างเดือนเมษายน 2545 ถึงเดือนมกราคม 2549 เมื่อผ่านไป 15 ปีหลังจากนั้น สตรีกลุ่มนี้บางส่วนได้เข้ารับการตรวจแสดงภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อประเมินปริมาตรเนื้อเยื่อสมองและตัวบ่งชี้อื่น ๆ ที่สามารถบ่งชี้พยาธิสภาพ

ฮุสไซนาลีและทีมงานพบว่า สตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีพยาธิสภาพของสสารสีขาวในสมอง (ตัวบ่งชี้ของเนื้อเยื่อสมองเสื่อมสภาพ) สูงกว่าสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ 38% ความเชื่อมโยงนี้พบในสตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์เป็นหลัก ซึ่งมีพยาธิสภาพในสสารสีขาวในสมองสูงกว่า 48% เมื่อเทียบกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ไม่พบความแตกต่างในแง่ของตัวบ่งชี้อื่น ๆ ของพยาธิสภาพในสมอง อย่างเช่น เนื้อสมองตายจากขาดการไหลเวียนโลหิต (infarct) หรือจุดเลือดออกขนาดเล็กที่บริเวณเนื้อสมอง (cerebral microbleed) การเกิดภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังหลังจากการตั้งครรภ์ยิ่งตอกย้ำผลการศึกษาดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์

"ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมอง 15 ปีหลังจากการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นความเสียหายที่สามารถมีผลกระทบถาวรต่อการทำงานรู้คิดของสมอง" ฮุสไซนาลี กล่าว "สตรีที่มีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการประเมินและรักษาแต่เนิ่น ๆ สำหรับปัจจัยเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงตลอดจนโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ"

ภาวะครรภ์เป็นพิษเชื่อมโยงกับตัวบ่งชี้การอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้น

ภาวะครรภ์เป็นพิษคือภาวะความดันโลหิตสูงรุนแรงขณะตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลกับการตั้งครรภ์ 5-8% ชุดข้อมูลขนาดใหญ่บ่งชี้ว่าสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษมีการสะสมของปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้น รวมถึงโรคหัวใจ ขณะที่ภาวะครรภ์เป็นพิษได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ในการนี้ ดร.พญ.ซอนญา ซูวาคอฟ ( Sonja Suvakov) นักวิจัยหลังปริญญาเอกและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ที่มาโยคลินิก (Mayo Clinic) และทีม ได้สำรวจว่าถุงน้ำ (vesicle) ซึ่งเป็นถุงของเหลวขนาดเล็ก ที่ปล่อยออกมาจากเซลล์สมอง จะตรวจพบหรือไม่ในสตรีเมื่อผ่านไปหลายปีหลังจากการตั้งครรภ์ที่มีภาวะดังกล่าว

นักวิจัยพบว่าสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงมีความหนาแน่นสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญของถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีแอมีลอยด์เบตาเป็นบวก ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของหนึ่งในรอยโรคสำคัญของอัลไซเมอร์ พวกเขายังพบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีตัวบ่งชี้ความเสียหายของเยื่อบุหลอดเลือดภายในสมอง ( endothelium) และการอักเสบของสมอง ในทำนองเดียวกัน ระดับเบตาแอมีลอยด์ที่มีการไหลเวียนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

"ข้อค้นพบเหล่านี้บ่งชี้ว่าสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษมีการเพิ่มขึ้นของระดับตัวบ่งชี้ความเสียหายของระบบประสาทและหลอดเลือด ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อทักษะการรู้คิด" ซูวาคอฟ กล่าว "จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงด้านการเสื่อมของระบบประสาทและการทำงานรู้คิดของสมอง ที่การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ก่อให้เกิดขึ้นกับสตรีไปตลอดชีวิต"

เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC(R)
การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ ( AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

โฮมเพจของ AAIC 2022: www.alz.org/aaic/
ห้องข่าวของ AAIC 2022: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
แฮชแท็ก AAIC 2022: #AAIC22

เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์  สมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Association) เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลก ซึ่งอุทิศตนให้กับการดูแลรักษา การสนับสนุน และการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา เพื่อทำให้โลกของเราปราศจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทั้งหมด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทรสายด่วน 800.272.3900

  • ดร.แคเรน ชลีป วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์ และคณะ โครงการ "What subtypes are driving the association between hypertensive disorders of pregnancy and dementia? Findings from an 80-year retrospective cohort study" (ชนิดย่อยใดที่มีผลต่อความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับภาวะสมองเสื่อม ข้อค้นพบจากการศึกษาตามรุ่นในกลุ่มคนที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคระยะเวลา 80 ปี) (ผู้ให้ทุน: สถาบันการชราวัยแห่งชาติ, ศูนย์ทรัพยากรวิจัยแห่งชาติ, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ)
  • โรวินา ฮุสไซนาลี วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และคณะ โครงการ "Hypertensive disorders of pregnancy and markers of vascular brain pathology after 15 years: a prospective cohort study" (ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และตัวบ่งชี้พยาธิสภาพโรคหลอดเลือดในสมองหลังผ่านไป 15 ปี: การศึกษาตามรุ่นแบบไปข้างหน้า) (ผู้ให้ทุน: มูลนิธิภาวะครรภ์เป็นพิษ, มูลนิธิคูลซิงเกิล (Coolsingel Foundation), ศูนย์การแพทย์อีราสมุส, มหาวิทยาลัยอีราสมุสรอตเทอร์ดาม, องค์กรวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพแห่งเนเธอร์แลนด์, องค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งเนเธอร์แลนด์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการ และกีฬา, กระทรวงเยาวชนและครอบครัว, สภาวิจัยแห่งยุโรป)
  • ดร.พญ.ซอนญา ซูวาคอฟ และคณะ โครงการ "Circulating extracellular vesicles of neurovascular origin are elevated in women with severe preeclampsia years after their affected pregnancies" (ต้นกำเนิดของถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีการไหลเวียนเพิ่มสูงขึ้นในสตรีที่เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงหลายปีหลังจากการตั้งครรภ์ที่มีภาวะดังกล่าว)

*** ข่าวประชาสัมพันธ์ของการประชุม AAIC 2022 อาจมีข้อมูลอัปเดตที่ไม่ตรงกับบทคัดย่อด้านล่าง

หมายเลขข้อเสนอโครงร่างวิจัย :  62343
ชื่อเรื่อง: ชนิดย่อยใดที่มีผลต่อความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับภาวะสมองเสื่อม ข้อค้นพบจากการศึกษาตามรุ่นย้อนหลังในกลุ่มคนที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคระยะเวลา 80 ปี
ความเป็นมาของการวิจัย: เราเพิ่งพบว่าสตรีที่มี เมื่อเทียบกับไม่มี ประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีความอันตรายสูงกว่าสำหรับภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุ ภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (VaD) และภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ/ไม่ทราบชนิด แต่ไม่รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ (AD) ในการศึกษานี้ เราประเมินความเชื่อมโยงระหว่างชนิดย่อยของภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับภาวะสมองเสื่อมเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
วิธีการศึกษา: เราได้ดำเนินการศึกษาตามรุ่นย้อนหลังกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์เดี่ยวอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (ปี 2482-2562) ในยูทาห์ การจัดประเภทภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ทำโดยใช้สูติบัตร (ข้อมูลชนิดข้อความ ปี 2482-2520 และข้อมูลรหัส ICD9 ปี 2521-2531 และช่องกาเครื่องหมายที่มีข้อความเพิ่มเติม ปี 2532-2556) โดยใช้มรณบัตรและระเบียนผู้ป่วยในในการตรวจสอบ การจัดประเภทภาวะสมองเสื่อมประเมินโดยใช้รหัส ICD 9/10 สำหรับบันทึกการเสียชีวิต ระเบียนผู้ป่วยใน และประวัติประกันเมดิแคร์ (Medicare) สตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (n=19,989) ได้รับการจับคู่หนึ่งต่อสองกับสตรีที่ไม่เคยมีประวัติ (n=39,679) โดยแบ่งเป็นกลุ่มช่วงอายุ 5 ปี ปีที่คลอดบุตร และความเหมือนกันขณะตั้งครรภ์ (ภาพ 1) มีการใช้แบบจำลองการถดถอยค็อกซ์ (Cox regression model) ในการประมาณค่าอัตราส่วนอันตรายปรับผลกระทบแล้ว (Adjusted hazard ratio หรือ aHR) และมีช่วงความเชื่อมั่น (CI) 95% สำหรับภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ชนิดย่อยกับภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุและชนิดจำเพาะ
ผลการศึกษา
: การตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงประกอบด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษและภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชักร่วมด้วย (65.9%) และภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์ (33.5%) กรณีอื่น ๆ ของภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เกิดจากกลุ่มอาการ HELLP (0.6%) ซึ่งเราไม่ได้ประเมินในที่นี้เนื่องจากมีจำนวนกรณีน้อย การเกิดภาวะสมองเสื่อมระหว่างการติดตามอาการ (ปี 2522-2562) อยู่ที่ 4.1% โดยในจำนวนดังกล่าว 70% คืออื่น ๆ/ไม่ทราบชนิด 24% คืออัลไซเมอร์ และ 6% คือสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง สตรีที่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษ/ครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชัก เมื่อเทียบกับที่ไม่เคยเป็น มีความอันตรายของภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุสูงกว่า 1.38 ขณะที่สตรีที่เคยเป็นภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์มีความอันตรายสูงกว่า 1.36 (ตาราง 1) เมื่อแบ่งภาวะสมองเสื่อมออกเป็นชนิดย่อย สตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษ/ครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชักมีความอันตรายสูงกว่า 1.51 ที่จะมีภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่น/ไม่ทราบชนิด ขณะที่สตรีที่มีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์มีความอันตรายสูงกว่า 1.31 ระดับความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์กับภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองอยู่ที่ 2.75 ซึ่งเกือบสูงเป็นสองเท่าของภาวะครรภ์เป็นพิษ/ครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชัก ซึ่งอยู่ที่ 1.58 ทั้งนี้ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ชนิดย่อยต่าง ๆ ไม่เชื่อมโยงกับอัลไซเมอร์
สรุป: ผลการศึกษาของเราสอดคล้องกับการศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาจนถึงปัจจุบันในเดนมาร์ก ซึ่งพบว่าภาวะครรภ์เป็นพิษมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเทียบกับภาวะสมองเสื่อมชนิดย่อยอื่น ๆ ทั้งนี้ผลการศึกษาของเราบ่งชี้ว่าความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองอาจสูงพอกันระหว่างสตรีที่เคยมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์กับภาวะครรภ์เป็นพิษ

ผู้วิจัยผู้ทำหน้าที่นำเสนอ
ดร.แคเรน ชลีป วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยแห่งยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

หมายเลขข้อเสนอโครงร่างวิจัย :  62354
ชื่อเรื่อง: ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และตัวบ่งชี้พยาธิสภาพโรคหลอดเลือดในสมองหลังผ่านไป 15 ปี: การศึกษาตามรุ่นแบบไปข้างหน้า
ความเป็นมาของการวิจัย: หลักฐานจำนวนมากบ่งชี้ความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์และสุขภาพหลอดเลือดสมอง เรามุ่งระบุความเชื่อมโยงระหว่างภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์กับตัวบ่งชี้พยาธิสภาพโรคหลอดเลือดในสมอง 15 ปีหลังการตั้งครรภ์
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการศึกษาตามรุ่นที่ผนวกรวมอยู่ในการศึกษาตามรุ่นแบบไปข้างหน้าแบบอิงประชากร ซึ่งติดตามตั้งแต่การตั้งครรภ์ระยะแรกเริ่ม เราศึกษากับสตรี 538 ราย โดย 445 ราย (82.7%) มีความดันโลหิตปกติระหว่างการตั้งครรภ์ที่มุ่งศึกษา (normotensive index pregnancy) และ 93 ราย (17.2%) มีภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ที่มุ่งศึกษา เมื่อผ่านไป 15 ปีหลังจากการตั้งครรภ์ (ค่ามัธยฐานอยู่ที่ 14.6 ปี 90% ช่วง 14.0; 15.7) สตรีมีอายุเฉลี่ย 46.5 ปี (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ SD = 4.2) สตรีเหล่านี้ได้รับการตรวจแสดงภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอเพื่อประเมินปริมาตรเนื้อเยื่อสมอง รวมถึงสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาวในสมอง (white matter hyperintensities หรือ WMH) เนื้อสมองตายจากขาดการไหลเวียนโลหิตเนื่องจากการอุดตันของหลอดเลือดเล็ก (lacunar infarct) และจุดเลือดออกขนาดเล็กที่บริเวณเนื้อสมอง (cerebral microbleed) เป็นตัวบ่งชี้พยาธิสภาพของโรคหลอดเลือดสมองผลการศึกษา: สตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มีสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาวในสมองสูงกว่า 38% (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI): [8% ; 75%]) เมื่อเทียบกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยมีความดันโลหิตปกติ ความเชื่อมโยงนี้พบในสตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์เป็นหลัก ซึ่งมีสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาวในสมองสูงกว่า 48% (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI): [11% ; 95%]) เมื่อเทียบกับสตรีที่เคยตั้งครรภ์โดยมีความดันโลหิตปกติ ทั้งนี้ไม่พบความแตกต่างระหว่างเนื้อสมองตายจากขาดการไหลเวียนโลหิตหรือจุดเลือดออกขนาดเล็กที่บริเวณเนื้อสมอง การเกิดภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังหลังการตั้งครรภ์ตอกย้ำผลการศึกษาดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะในสตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์
สรุป:
 การมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เชื่อมโยงกับปัญหาสัญญาณความเข้มสูงของสสารสีขาวในสมองที่มากกว่าเมื่อผ่านไป 15 ปีหลังการตั้งครรภ์ ผลดังกล่าวนี้พบในสตรีที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงชั่วคราวขณะตั้งครรภ์ การเกิดภาวะโลหิตสูงเรื้อรังหลังการตั้งครรภ์มีส่วนส่งผลต่อผลดังกล่าวนี้ สตรีที่มีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการประเมินและรักษาสำหรับปัจจัยเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงตลอดจนโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ

ผู้วิจัยผู้ทำหน้าที่นำเสนอ:
โรวินา ฮุสไซนาลี วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
ศูนย์การแพทย์อีราสมุส เอ็มซี เนเธอร์แลนด์

หมายเลขข้อเสนอโครงร่างวิจัย :  62360
ชื่อเรื่อง: ถุงน้ำภายนอกเซลล์ไหลเวียนที่มีต้นกำเนิดในระบบประสาทและหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้นในสตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงหลายปีหลังจากการตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
ความเป็นมาของการวิจัย:
 ภาวะครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia หรือ PE) ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ชนิดหนึ่ง ได้รับการเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) การเสื่อมถอยของการทำงานรู้คิดของสมอง และปริมาตรเนื้อสมองที่ลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาวะครรภ์เป็นพิษได้รับการเชื่อมโยงกับความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เราตั้งสมมติฐานว่าถุงน้ำภายนอกเซลล์ (extracellular vesicles หรือ EVs) ที่มีการไหลเวียนซึ่งมีต้นกำเนิดในระบบประสาทและหลอดเลือดจะตรวจพบในสตรีหลายปีหลังจากมีภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยเป็นตัวบ่งชี้ความเสียหายเรื้อรังของระบบประสาทและหลอดเลือดและแอมีลอยด์เบตา (amyloid-?)
วิธีการศึกษา: กลุ่มสตรี 40 รายที่มีประวัติความดันโลหิตปกติระหว่างตั้งครรภ์ (กลุ่มควบคุม) และมีการจับคู่ด้วยอายุและความเหมือนกับสตรี 40 รายที่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษระดับอ่อน (n=33) และระดับรุนแรง (n=7) ได้รับการระบุตัวโดยใช้โครงการระบาดวิทยาโรเชสเตอร์ (Rochester Epidemiology Project) การวินิจฉัยพบภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงได้รับการยืนยันโดยใช้เกณฑ์เชิงคลินิก (ตาราง) ขณะที่ไม่มีสตรีรายใดมีอาการผิดปกติรุนแรงของระบบหลอดเลือดและหัวใจ การศึกษาก่อนหน้านี้ของเรากับผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้ชี้ว่าปริมาตรสสารสีเทาของสมองมีน้อยกว่าในสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษและภาวะความดันโลหิตสูงในตอนปลายของชีวิต เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่เกิดจากโลหิตที่มาจากกลไกของเซลล์ระบบประสาทและหลอดเลือดได้รับการระบุโดยวิธีตรวจวัดเซลล์ชนิดโฟลว์ไซโตเมทรี (flow cytometry) แบบดิจิทัลมาตรฐาน ความเข้มข้นของแอมีลอยด์เบตาในพลาสมาวัดโดยใช้วิธีเอลิซา (ELISA) ความแตกต่างระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทดสอบโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) โดยมีการทดสอบผลต่างที่มีนัยสำคัญน้อยที่สุด (least difference test) สำหรับการวิเคราะห์หลังการทดสอบ ความเชื่อมโยงระหว่างถุงน้ำภายนอกเซลล์และการสร้างภาพสมองด้วยเอ็มอาร์ไอได้รับการประเมินโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson correlation coefficient)
ผลการศึกษา: สตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชักมีความหนาแน่นของถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีแอมีลอยด์เบตาสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p=0.003) ถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีการพบตัวบ่งชี้ความเสียหายของเยื่อบุหลอดเลือดภายในสมองซึ่งเป็นตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (blood-brain barrier- endothelial damage หรือ LDL-R) และการอักเสบของกลไกการแข็งตัวของเลือด (ที่ปัจจัยจากเนื้อเยื่อ หรือ tissue factor) มีสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญในสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษรุนแรงซึ่งมีภาวะชักเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p=0.008 และ p=0.002 ตามลำดับ) เช่นเดียวกับในสตรีที่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษระดับอ่อน ความเข้มข้นของแอมีลอยด์เบตาในพลาสมายังสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญในสตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงเมื่อเทียบกับระดับอ่อน (p=0.037) (ตาราง) จำนวนถุงน้ำภายนอกเซลล์ที่มีปัจจัยจากเนื้อเยื่อเป็นบวกมีความสัมพันธ์เชิงลบกับปริมาตรสสารสีเทาโดยรวมของสมอง (หน่วยลูกบาศก์เซนติเมตร) (p<0.05)
สรุป: สตรีที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษรุนแรงแสดงระดับที่เพิ่มสูงขึ้นของตัวบ่งชี้การอักเสบของระบบประสาทและความเสียหายของระบบประสาทและหลอดเลือด ตลอดจนมีการหลั่งแอมีลอยด์เบตามากกว่า การอักเสบเกินขีดอาจมีส่วนก่อให้เกิดโรคสมองฝ่อ (brain atrophy) ที่กล่าวถึงข้างต้นในสตรีกลุ่มนี้

ผู้วิจัยผู้ทำหน้าที่นำเสนอ:
ดร.พญ.ซอนญา ซูวาคอฟ
มาโยคลินิก มินนิโซตา สหรัฐอเมริกา

รูปภาพ -  https://mma.prnewswire.com/media/1871394/AAIC_Vascular_Dementia.jpg
โลโก้ -  https://mma.prnewswire.com/media/1869584/AAIC22_purple_font_rgb_Logo.jpg  

No comments:

Post a Comment