ผลวิเคราะห์ใหม่เผย การผลิตพลังงานหมุนเวียนมอบหนทางในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงาน 6 ล้านตำแหน่งภายในปี 2593 และบรรเทาผลกระทบของภาวะโลกรวนทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมากถึง 30% ภายในปี 2593 เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นและเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางสภาพอากาศ แต่การส่งเสริมสมรรถนะการผลิตพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาคนี้ จะทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมที่จะสร้างตำแหน่งงานใหม่และรองรับความต้องการด้านพลังงานที่กำลังขยายตัว พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมหาศาล จากงานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่นอกรอบการประชุมรัฐมนตรีการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors Meeting) โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี (Asian Development Bank หรือ ADB) มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) มูลนิธิไคลเมทเวิร์คส์ (ClimateWorks Foundation) และซัสเทนอะเบิล เอเนอร์จี ฟอร์ ออล (Sustainable Energy for All หรือ SEforALL)
อุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) แบตเตอรี่ และยานพาหนะสองล้อไฟฟ้าที่กำลังเติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโอกาสสร้างรายได้ราว 90,000 ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 และสร้างตำแหน่งงานในด้านพลังงานหมุนเวียนได้ 6 ล้านตำแหน่งภายในปี 2593
รายงานฉบับใหม่นี้ ชื่อว่า การผลิตพลังงานหมุนเวียน: โอกาสสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Renewable Energy Manufacturing: Opportunities for Southeast Asia) สำรวจแนวทางสนับสนุนการพัฒนาภาคการผลิตพลังงานสะอาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับช่วยให้ประเทศต่าง ๆ เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาล พร้อมทั้งบรรเทาผลกระทบของภาวะโลกรวน การคว้าโอกาสเช่นนี้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการกระตุ้นอุปสงค์พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ การสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และเพิ่มการเข้าถึงตลาดส่งออก ทั้งนี้ การทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อยกระดับการสนับสนุนโดยกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าภายในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม
รายงานดังกล่าวเผยเป้าหมายและผลลัพธ์ที่เป็นไปได้สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกตัวอย่างเช่น
- เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในโมดูลจาก 70 กิกะวัตต์ เป็น 125-150 กิกะวัตต์ภายในปี 2573
- พัฒนาห่วงโซ่มูลค่าการผลิตแบตเตอรี่ระดับภูมิภาค พร้อมทั้งเพิ่มอุปสงค์ระดับประเทศและภูมิภาค และทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางการส่งออกระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยผลิตเซลล์แบตเตอรี่ให้ได้ 140-180 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2573
- ขยายกำลังการประกอบยานพาหนะสองล้อไฟฟ้า (E2W) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก 1.4 ถึง 1.6 ล้านหน่วยต่อปี เป็นราว 4 ล้านหน่วยต่อปีภายในปี 2573
รายงานนี้ยังชูแนวทางให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้จักนำประวัติศาสตร์อันแข็งแกร่งไปต่อยอดในการทำงานร่วมกันระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาค และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตัวอย่างเช่น ปัจจัยการผลิตสามารถได้ประโยชน์จากการค้าในทั้งห่วงโซ่มูลค่า ประกอบกับความพยายามระดับภูมิภาคในการเพิ่มคุณภาพแรงงานและการกระจายตัว ตลาดอุปสงค์สามารถได้รับการสนับสนุนโดยการพัฒนาโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) เพื่อเอื้อให้เกิดการใช้งานพลังงานหมุนเวียนผ่านการค้าพลังงานไฟฟ้าแบบพหุภาคีและพื้นที่การปรับสมดุลกริดที่ขยายเพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับมาตรฐานเชิงเทคนิคสำหรับยานพาหนะ E2W และสถานีชาร์จให้สอดคล้องกันนั้น ก็เอื้อให้ผู้รับจ้างผลิต (OEM) พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับความต้องการในทั่วทั้งตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ด้วย
การประกาศในวันนี้เป็นการสานต่อการทำงานร่วมกันในต้นปีนี้ ระหว่างมูลนิธิแอฟริกัน ไคลเมท (African Climate Foundation) มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ มูลนิธิไคลเมทเวิร์คส์ และซัสเทนอะเบิล เอเนอร์จี ฟอร์ ออล ในการเผยแพร่รายงานหัวข้อ การผลิตพลังงานหมุนเวียนแอฟริกา: โอกาสและความก้าวหน้า (Africa Renewable Energy Manufacturing: Opportunity and Advancement) และการดำเนินโครงการริเริ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนในแอฟริกา (Africa Renewable Energy Manufacturing Initiative) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนและส่งเสริมการลงมือทำร่วมกับรัฐบาลพันธมิตร ในการขยายสมรรถภาพการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศแถบแอฟริกา
ข้อความสนับสนุน
คุณราเมช ซูบรามาเนียม ( Ramesh Subramaniam) ผู้อำนวยการใหญ่และประธานฝ่ายกลุ่มอุตสาหกรรมประจำเอเชียและแปซิฟิก ธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าว "ดังที่เรากล่าวอยู่บ่อย ๆ ในธนาคารพัฒนาเอเชีย การต่อสู้กับภาวะโลกรวนจะมีผลเป็นชนะหรือแพ้ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ศึกดังกล่าวนี้มีแนวหน้าที่เป็นปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นศักยภาพการผลิตพลังงานหมุนเวียน ด้วยการสนับสนุนทางนโยบาย เทคนิค และการเงิน ในการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคแห่งนี้เปลี่ยนผ่านจากพลังงานถ่านหิน พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ขยายสมรรถภาพเชิงอุตสาหกรรมในท้องถิ่น กระตุ้นการสร้างงาน และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว"
คุณอันธา วิลเลียมส์ ( Antha Williams) โครงการสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ กล่าวว่า "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่จะก้าวเป็นผู้นำด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียน ในการร่วมส่งเสริมการใช้งานพลังงานหมุนเวียนระดับโลก พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตและบรรเทาผลกระทบของภาวะโลกรวน รายงานนี้พิสูจน์ให้เห็นผลลัพธ์จากการเพิ่มการลงทุนภาคเอกชนในภาคการผลิตพลังงานหมุนเวียนท้องถิ่น การเสริมสร้างการทำงานร่วมกันในห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาค และการรวมตัวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายหลัก ๆ ในการสร้างงาน เพิ่มจีดีพี และช่วยให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ"
คุณเฮเลน เมาท์ฟอร์ด ( Helen Mountford) ประธานและซีอีโอของมูลนิธิไคลเมทเวิร์คส์ กล่าวว่า "อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเป็นโอกาสการเติบโตอย่างมหาศาลอยู่แล้ว และจะต้องขยายตัวอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อให้เราบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในระดับโลกภายในปี 2593 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากรหนึ่งในสี่ของทั้งโลก อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมจะก้าวเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพราะมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจคึกคักและกลุ่มบุคลากรผู้มีความสามารถจำนวนมาก ในการทำเช่นนั้น ภูมิภาคแห่งนี้สามารถเพิ่มโซลูชันพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาไม่แพงและเชื่อถือได้ ให้แก่ผู้คนและชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก ตลอดจนสร้างโอกาสงานใหม่ ๆ ในท้องถิ่น"
คุณดามิโลลา โอกุนบิยี ( Damilola Ogunbiyi) ซีอีโอและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ ประจำองค์กรซัสเทนอะเบิล เอเนอร์จี ฟอร์ ออล และประธานร่วมขององค์การสหประชาชาติด้านพลังงาน (UN-Energy) กล่าวว่า "การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะเปิดโอกาสให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มจีดีพี สร้างงาน และลดคาร์บอนในระบบพลังงานได้ ซึ่งจะส่งเสริมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าด้านสภาพภูมิอากาศ รายงานนี้เน้นย้ำการที่ประเทศในภูมิภาคแห่งนี้สามารถสร้างอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองและยั่งยืน"
เกี่ยวกับธนาคารพัฒนาเอเชีย
ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี (Asian Development Bank หรือ ADB) มุ่งมั่นที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรือง ความครอบคลุมทั่วถึงทุกกลุ่มคน ความมั่นคงยืดหยุ่น และความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พร้อมกับรักษาความพยายามในการขจัดความยากจนขั้นรุนแรง เอดีบีก่อตั้งขึ้นในพ.ศ. 2509 โดยมีสมาชิกทั้งหมด 68 ราย ซึ่ง 49 รายมาจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
เกี่ยวกับมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์
มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) ลงทุนใน 700 เมืองและ 150 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้ผู้คนจำนวนมากที่สุดมีชีวิตที่ดีขึ้นและยืนยาวขึ้น องค์กรฯ มุ่งเน้นไปที่ห้าประเด็นหลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ได้แก่ ศิลปะ การศึกษา สิ่งแวดล้อม นวัตกรรมของรัฐบาล และสาธารณสุข มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ครอบคลุมการบริจาคทั้งหมดของคุณไมเคิล อาร์ บลูมเบิร์ก (Michael R. Bloomberg) รวมถึงมูลนิธิ องค์กร และการกุศลส่วนตัวของเขา ตลอดจนบลูมเบิร์ก แอสโซซิเอท (Bloomberg Associates) ซึ่งเป็นที่ปรึกษามืออาชีพโดยไม่หวังค่าตอบแทนที่ทำงานในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ ในปี 2565 มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ได้แจกจ่ายเงินจำนวน 1.7 พันล้านดอลลาร์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่ bloomberg.org ลงทะเบียนรับจดหมายข่าวของเรา หรือติดตามเราบนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ ทวิตเตอร์ และลิงด์อิน
เกี่ยวกับมูลนิธิไคลเมทเวิร์คส์
มูลนิธิไคลเมทเวิร์คส์ (ClimateWorks Foundation) เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกสำหรับงานเพื่อสาธารณประโยชน์ ในการพัฒนานวัตกรรมและขยายโซลูชันด้านสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบสูง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้คนและโลกใบนี้ เราส่งมอบโครงการและบริการระดับโลกซึ่งดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วยองค์ความรู้ เครือข่าย และโซลูชัน ในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านสภาพภูมิอากาศเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเสมอภาคมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ไคลเมทเวิร์คส์ได้มอบเงินกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ให้ผู้รับกว่า 750 รายในกว่า 50 ประเทศ
เกี่ยวกับซัสเทนอะเบิล เอเนอร์จี ฟอร์ออล (เอสอีฟอร์ออล)
ซัสเทนอะเบิล เอเนอร์จี ฟอร์ออล หรือเอสอีฟอร์ออล (Sustainable Energy for All หรือ SEforALL) เป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศที่ทำงานร่วมกับสหประชาชาติ (UN) และผู้นำในรัฐบาล ภาคเอกชน สถาบันการเงิน ประชาสังคม และองค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อเร่งการลงมือทำในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 7 (Sustainable Development Goal 7 หรือ SDG7) อันได้แก่การเข้าถึงพลังงานที่มีราคาไม่แพง เชื่อถือได้ ยั่งยืน และเป็นสมัยใหม่สำหรับทุกคนภายในปี 2573 โดยสอดคล้องกับความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement on Climate Change) เราดำเนินงานเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและนำโอกาสใหม่ ๆ มาสู่ทุกคนเพื่อเติมเต็มศักยภาพของพวกเขา
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2191212/Sustainable_Energy_for_All_SE_Asia.jpg
โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/2007953/4232327/Sustainable_Energy_for_All_Logo.jpg
No comments:
Post a Comment