Wednesday, December 18, 2024

ศิริราชผนึก 3 โรงพยาบาลร่วมจัดโครงการ "72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา"

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวโครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า - ข้อสะโพก ให้ผู้ป่วย 72 ข้อเทียม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยข้อเสื่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา

วันที่ 18 ธันวาคม 2567 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์จัดงานแถลงข่าว "ศิริราชผนึก 3 โรงพยาบาลร่วมจัดโครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา" ช่วยผู้ป่วยข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อมให้ได้รับการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก หรือศิริราช-กาญจนา โดยมี ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด นพ.นิมิตร ทองพูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และหัวหน้าแผนกศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ และ รศ.นพ.จตุรงค์ พรรัตนมณีวงศ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์บูรณสภาพ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยข้อเสื่อม และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เผยว่า ภาวะข้อเสื่อมเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุของไทยเกิดภาวะทุพพลภาพ โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ในปี 2561 มีคนไทยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมสูงกว่า 6 ล้านคน เนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น กระดูกอ่อน น้ำไขข้อ ฯลฯ ซึ่งกลุ่มเสี่ยง 80-90% ที่จะเกิดภาวะนี้คือผู้สูงอายุ สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ เกษตรกร รวมถึงผู้ใช้แรงงานที่ต้องยกของหนัก การผ่าตัดรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเทียมมีราคาที่ค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000-70,000 บาทต่อหนึ่งข้อ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไม่รับการรักษา

ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวอีกว่าเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมจัดโครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม 72 ข้อ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในโครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา ที่มีปัญหาข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อม ได้รับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ที่ทันสมัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน เป็นแหล่งฝึกอบรมของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มาอย่างยาวนาน สร้างต้นแบบการรักษาทางการแพทย์ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนถึงต้นแบบการรักษาเฉพาะโรค มุ่งเน้นการรักษาและบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยบูรณาการความเป็นเลิศทางวิชาการจากบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายสาขา ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช มุ่งสู่การให้บริการด้วย "Best Health Value" สร้างความมั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับบริการทางการแพทย์ได้มาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นการรักษาแบบองค์รวม คำนึงทั้งการรักษาทางกาย จิตใจ และสังคมของผู้ป่วย พร้อมสร้างสังคมที่มีคุณภาพและแบ่งปันโอกาสให้กับทุกคน ดังนั้น โครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา จึงเกิดขึ้นตามพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดลและด้วยความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เป็นอีกหนึ่งโครงการที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาข้อเสื่อมมาร่วมกันทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนคนไทย อีกทั้งเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งอีกด้วย

ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า เป้าหมายของโรงพยาบาลศิริราช คือ การก้าวสู่ต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โรงพยาบาลศิริราชจึงดำเนินการขับเคลื่อนด้านการให้บริการทางการแพทย์ และการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสากล โดยนำความอัจฉริยะของเทคโนโลยีต่าง ๆ มาพัฒนาระบบการให้บริการทั้งด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล บูรณาการร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช (SiCOE) ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการผู้ป่วยกลุ่มเฉพาะโรคหัตถการที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยศูนย์ความเป็นเลิศผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมศิริราช (Si-ELITE) เป็น 1 ในศูนย์ SiCOE ที่ดูแลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ครอบคลุมทั้งงานบริการ การศึกษา การวิจัย โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผ่าตัด นั่นก็คือ การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มาใช้กับผู้ป่วยทุกระดับภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยผ่าตัดภายใต้การควบคุมของศัลยแพทย์ เรียกได้ว่าเป็นการผ่าตัดโดยแพทย์ผ่าตัด แต่มีผู้ช่วยที่เป็นหุ่นยนต์ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขอาการปวดข้อเข่าและข้อสะโพก ขาโก่งผิดรูป ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน การติดขัดเหยียดงอที่เกิดจากความเสื่อมของข้อได้จากทุกความผิดปกติ ตั้งแต่ข้อเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น อุบัติเหตุ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทั้งนี้ข้อดีของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด คือ มีความแม่นยำ มีความปลอดภัยสูง แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการบาดเจ็บ ฉีกขาดของเนื้อเยื่อ และเส้นเอ็นรอบข้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระยะเวลาผ่าตัดเพียง 1-2 ชั่วโมง นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 3-4 วัน ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หลังจากนั้นแพทย์นัดติดตามอาการ 1-3 เดือน หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยแต่ละราย

รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กล่าวถึงความพร้อมของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กับโครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา ตลอดการดำเนินงาน 18 ปีที่ผ่านมา ศูนย์การแพทย์ฯ ได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น พร้อมจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย พัฒนาความสามารถของบุคลากรในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การรักษาที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จึงมีมาตรฐานเดียวกันกับโรงพยาบาลศิริราช นอกจากนี้ เรายังเป็นสถานที่ฝึกเรียนของศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ มีโอกาสใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดเข่าส่งผลให้ผู้ป่วยข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมในแถบปริมณฑล และนครปฐมได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมด้วยมาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามารักษาในโรงพยาบาลศิริราช

ด้าน ศ.นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการครั้งนี้ว่า การผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นการผ่าตัดที่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญจากทีมสหสาขาในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ มีความพร้อมทั้งบุคลากร องค์ความรู้ และเครื่องมือการรักษาที่ทันสมัย ซึ่งในโครงการโครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะเข้ารับการผ่าตัดที่ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ในมาตรฐานการรักษาระดับสากล โดยใช้การส่งต่อผู้ป่วยระหว่าง 3 โรงพยาบาล หลังจากนั้นจึงส่งตัวกลับไปพักรักษาตัว ในโรงพยาบาลต้นสังกัดตามเดิม ทำให้ผู้ป่วยที่มีสิทธิ์การรักษาของแต่ละโรงพยาบาลสามารถใช้สิทธิ์การรักษา และเสียค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์การรักษาได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นการแสดงจุดยืนและตอกย้ำการให้บริการด้วยความเป็นเลิศของโรงพยาบาลภายใต้สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

นพ.นิมิตร ทองพูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และหัวหน้าแผนกหน่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 โรงพยาบาลในโครงการ โครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการการผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกด้วยหุ่นยนต์ในผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย รักษาแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย (ครอบคลุมสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจที่เบิกได้ สิทธิสังคมสงเคราะห์) โดยผู้ป่วยที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 72 ราย จะต้องเป็นผู้ป่วยจากหน่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และโรงพยาบาลศิริราช โดยหลังจากผู้ป่วยสมัครเข้าโครงการ ทางโรงพยาบาลจะต้องตรวจสุขภาพคนไข้ ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถผ่าตัดได้หรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยข้อเสื่อมบางคนมีข้อจำกัด และโรคประจำตัว หรือโรคร่วมอื่นๆ ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เป็นต้น โดยเริ่มรับสมัครตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ โรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์คนไข้ที่สามารถทำการผ่าตัดได้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ และข้อบ่งชี้ถึงความปลอดภัยของคนไข้เท่านั้น

กล่าวได้ว่า โครงการ 72 ข้อเทียม เทิดพระเกียรติ วโรกาส 72 พรรษา ทศมราชา เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีส่วนขับเคลื่อนการทำงานและยกระดับการให้บริการศูนย์ความเป็นเลิศการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด พร้อมด้วยศักยภาพของทีมศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประสานการทำงานระหว่าง 3 โรงพยาบาลรวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้บริการผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพสูงสุดได้อย่างปลอดภัยและทั่วถึง รวมไปถึงการส่งต่อข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพระหว่างโรงพยาบาลเครือข่าย ให้สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน

สำหรับผู้ป่วยข้อเข่าและข้อสะโพกที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยตรวจโรคออร์โธปิดิคส์ ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศิริราช โทร. 02-419-7968 และศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ศิริราช-กาญจนา โทร. 02-849-6600 ต่อ 2161, 2324 ในวันและเวลาราชการ เริ่มรับสมัครตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 

No comments:

Post a Comment