Wednesday, December 2, 2015

นักวิจัยบุกเบิกแนวทางใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งระยะลุกลาม

          แนวทางใหม่ได้ผนวกรวมการรักษาแบบ immunotherapy เข้ากับการรักษาแบบ photodynamic therapy เพื่อรักษาโรคมะเร็งระยะลุกลาม

          ผลการวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ Leiden University Medical Center (LUMC) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เผยให้เห็นว่า การรักษาแบบ immunotherapy สามารถใช้ร่วมกับการรักษาแบบ photodynamic therapy (PDT) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถกำจัดเนื้องอกเฉพาะจุดได้ ทั้งยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคได้เป็นอย่างดี โดยผลการค้นพบดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ออนไลน์ก่อนตีพิมพ์ทางวารสาร Clinical Cancer Research ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558



          "การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรก" ศาสตราจารย์เฟอร์รี ออสเซนดอร์ป หัวหน้าคณะวิจัย กล่าว "ขณะนี้เรากำลังเตรียมทำการวิจัยพรีคลินิกเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้รับการยอมรับทางคลินิกในยุโรปตะวันตก" ทั้งนี้ ดร.ออสเซนดอร์ปเป็นผู้นำการวิจัยดังกล่าวร่วมกับแจน วิลเลม ไคลโนวิงค์ ว่าที่ดอกเตอร์จากแผนกภูมิคุ้มกันโลหิตวิทยาและการถ่ายเลือดประจำศูนย์ LUMC และยังได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับดร.คลีเมนส์ โลวิค ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ที่ Erasmus University Medical Center ในเมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์

          ทางคณะนักวิจัยได้มุ่งเน้นไปที่การผสมผสานการรักษาอันเป็นที่ยอมรับ 2 วิธี นั่นคือ PDT และ immunotherapy เพื่อใช้ในการกำจัดเนื้องอกที่ลุกลามให้หมดไป โดย PDT เป็นการใช้สารพิเศษหรือสารก่อภาวะไวแสง (photosensitizer) ควบคู่กับออกซิเจนและแสง เพื่อกระตุ้นปฏิกิริยาที่จะทำลายเนื้องอกเฉพาะจุด และทำให้เนื้องอกอ่อนแอต่อระบบภูมิคุ้มกัน ส่วน immunotherapy จริงๆแล้วเป็นการรักษาหลายแบบที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นกลไกและส่วนต่างๆของระบบภูมิคุ้มกัน

          "การใช้ทั้งสองวิธีร่วมกันได้ก่อให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในการจัดการกับเนื้องอกที่ลุกลาม" ดร.ออสเซนดอร์ปกล่าว "ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสังเกตเห็นว่าเนื้องอกที่อยู่ไกลออกไปก็หายไปด้วยในสัตว์ทดลองบางส่วน"

          สำหรับสารก่อภาวะไวแสงที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ Bremachlorin สารปลอดพิษที่มาจากคลอโรฟิลล์ ซึ่งทำหน้าที่จับและส่งพลังงานแสงสำหรับการรักษาโรค ส่วนการรักษาแบบ immunotherapy ในการวิจัยครั้งนี้ ได้ใช้วัคซีนเปปไทด์ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นระบบทีเซลล์เพื่อจัดการกับมะเร็ง

          การวิจัยครั้งนี้ทดลองในมะเร็ง 2 ประเภท ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะลุกลาม และมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม ซึ่งพบว่า การรักษาแบบ Bremachlorin-PDT สามารถชะลอการเติบโตของเนื้องอกได้อย่างชัดเจนในสัตว์ทดลองทุกกลุ่ม และเมื่อมีการผสาน PDT เข้ากับการใช้วัคซีนเปปไทด์แล้ว พบว่าหนูทดลองถึงหนึ่งในสามต่างหายขาดจากมะเร็ง ซึ่งหมายความว่ามะเร็งได้หายไปโดยสิ้นเชิง

          นอกจากนี้ สัตว์ทดลองที่หายขาดทั้งหมดยังมีภูมิคุ้มกันโดยสมบูรณ์ ทำให้ไม่กลับมาเป็นมะเร็งชนิดเดิมอีก และการรักษาเนื้องอกปฐมภูมิด้วยวิธีผสมผสานยังช่วยกำจัดเนื้องอกทุติยภูมิหรือเนื้องอกที่ลุกลามไปไกลได้ด้วย อย่างไรก็ดี ดร.ออสเซนดอร์ปเน้นย้ำว่า การค้นพบครั้งใหญ่นี้จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม ทั้งนี้ โรคมะเร็งระยะลุกลามเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิต

          คณะนักวิจัยได้สรุปว่า การใช้ Bremachlorin-PDT ควบคู่กับวัคซีนเปปไทด์ ก่อให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันทั่วร่างกายที่มีศักยภาพในการจัดการกับมะเร็งระยะลุกลาม โดยรายงานที่เผยแพร่ทางวารสาร Clinical Cancer Research ระบุว่า การรักษาแบบผสมผสานระหว่าง immunotherapy กับ Bremachlorin-PDT ได้ก่อให้เกิด "แนวทางการรักษาแบบใหม่ที่มีศักยภาพในการจัดการกับมะเร็งระยะลุกลาม"

          นับตั้งแต่ปี 2549 Bremachlorin(R) ได้รับการอนุมัติให้นำไปใช้ทางคลินิกในรัสเซียภายใต้ชื่อ Radachlorin(R) และได้รับการอนุมัติอย่างมีเงื่อนไขในเกาหลีใต้ ปัจจุบัน Bremachlorin(R) อยู่ระหว่างการวิจัยพรีคลินิกในเนเธอร์แลนด์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้รับการยอมรับทางคลินิกในยุโรป ทั้งนี้ ดร.ออสเซนดอร์ปกล่าวว่า "หลังการวิจัยพรีคลินิกเสร็จสิ้นลง เราหวังว่าจะได้ทำการวิจัยเชิงคลินิกกับผู้ป่วยโรคมะเร็งในสหภาพยุโรป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการรักษาแบบผสมผสานนี้จะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในสหภาพยุโรปในอนาคต"

          แหล่งข่าว: Photoimmune Discoveries

No comments:

Post a Comment