โรงกลั่นน้ำมันกฤษณาของ Asia Plantation Capital ในเมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย เตรียมเปิดประตูต้อนรับนักศึกษาฝึกงาน |
โรงกลั่นและศูนย์วิจัยไม้กฤษณาของ Asia Plantation Capital ได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังในปีที่ผ่านมา และบัดนี้พร้อมแล้วที่จะเปิดประตูต้อนรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยท้องถิ่นให้เข้าร่วมฝึกงาน โดยเมื่อเร็วๆนี้ Asia Plantation Capital Berhad ได้ยืนยันความร่วมมือกับ Universiti Putra Malaysia (UPM) และ International Islamic University Malaysia (IIUM) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฝึกงานของมหาวิทยาลัยเหล่านี้
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะส่งนักศึกษาหนึ่งคนมายังโรงกลั่น Asia Plantation Capital ในรัฐยะโฮร์ เพื่อฝึกงานตามข้อกำหนดเป็นระยะเวลาสามเดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย. ปีนี้
สำหรับมหาวิทยาลัย UPM นั้น Asia Plantation Capital ร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ จัดโครงการฝึกงานอุตสาหกรรมให้แก่นักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางไม้ นักศึกษาฝึกงานคนแรกของคณะดังกล่าวนี้จะเริ่มฝึกงานกับฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่โรงกลั่นและศูนย์การวิจัยของ Asia Plantation Capital ในรัฐยะโฮร์ ซึ่งนักศึกษาจะได้มีส่วนช่วยในกระบวนการผลิต และจะได้เข้าร่วมในการวิจัยเชิงพัฒนาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณยางไม้ที่ผลิตน้ำมันจากไม้กฤษณา
ในส่วนของความร่วมมือกับ IIUM จะมุ่งไปที่นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์โดยเฉพาะ โดย Asia Plantation Capital จะเปิดโรงกลั่นในยะโฮร์ให้นักศึกษาในสาขาวิศวกรรมชีวเคมีและชีวเทคโนโลยีเข้าฝึกงาน โดยนักศึกษาเหล่านี้จำเป็นต้องผ่านการฝึกงานในโครงการ Engineering Industrial Training (EIT) จึงจะสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาตรี นักศึกษาฝึกงานคนแรกจากโครงการนี้จะมีส่วนช่วยในเรื่องที่เกี่ยวกับการเพาะเชื้อและการทำดีเอ็นเอบาร์โค้ดของไม้กฤษณา
สตีฟ วัตส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Asia Plantation Capital ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า "จุดประสงค์ของการจัดโครงการฝึกงานอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีคือเพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้ได้รับประสบการณ์ตรงในสภาพแวดล้อมการทำงานจริงขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากในรั้วมหาวิทยาลัย หรือในสถาบันการศึกษาที่เน้นด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว โรงกลั่นและศูนย์วิจัยของเราในรัฐยะโฮร์ จะเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับนักศึกษาเหล่านี้ เพราะพวกเขาจะได้ประสบการณ์จากชีวิตการทำงาน ตลอดจนเรียนรู้ว่าจะนำทักษะและความรู้ไปใช้อย่างไร เมื่อใด และที่ใด อีกทั้งยังจะมีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศการทำงานของบริษัทระหว่างประเทศภายในโรงงานที่สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอีกด้วย เราหวังว่านักศึกษาเหล่านี้จะได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นภายในระยะเวลาการฝึกงานกับเราตลอดสามเดือน" คุณวัตส์กล่าวสรุป "เราส่งเสริมให้นักศึกษาจาก UPM และ IIUM มาร่วมฝึกงานกับเรามากขึ้น มาดูว่าเรากำลังทำอะไร และคว้าประโยชน์จากการได้ทำความรู้จักกับเราในระหว่างการฝึกงานที่โรงงาน"
โรงกลั่นและศูนย์วิจัยไม้กฤษณาอันทันสมัยของ Asia Plantation Capital ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาไซ รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย และได้เปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้ว และเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบการเปิดทำการครบ 1 ปี Asia Plantation Capital จะทำพิธีเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจาก YB Datuk Abu Bakar Mohamad Diah รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (MOSTI) ในวันที่ 2 มิ.ย. 2559
เกี่ยวกับ Asia Plantation Capital
Asia Plantation Capital Berhad ในมาเลเซีย กำลังทุ่มลงทุนอย่างมหาศาลในภาคการเพาะปลูกของมาเลเซีย โดยได้มีการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกและโรงงานผลิตไม้กฤษณาแห่งใหม่ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ บริษัทได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาที่ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในมาเลเซีย หลังจากที่เมื่อปีที่แล้วได้เปิดโรงงานแปรรูปไม้กฤษณาและโรงกลั่นน้ำมันกฤษณาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย
Asia Plantation Capital Group เป็นผู้ดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกอย่างยั่งยืนที่ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย บริษัทมีโครงการต่างๆใน 4 ทวีป และมีพนักงานกว่า 2,000 คนทั่วโลก สำหรับคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของเราซึ่งเป็นผู้นำในวงการนั้น ประกอบด้วยนักวิชาการระดับแนวหน้าจากนานาประเทศ (จีน ไทย มาเลเซีย อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ที่ร่วมกันพัฒนา รวมทั้งจดสิทธิบัตรระบบและเทคโนโลยีชั้นนำของอุตสาหกรรม
ด้วยการให้ความสำคัญกับโครงการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ และธุรกิจแบบบูรณาการแนวดิ่ง ซึ่งมอบผลประโยชน์ที่ผสมผสานกันระหว่างชุมชน สิ่งแวดล้อม และการค้า Asia Plantation Capital จึงก้าวขึ้นเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จและไม่หยุดนิ่งตามหลักการสร้างความสมดุล 3 ด้าน