ฮ่องกงคว้าตำแหน่งสูงสุดในการจัดอันดับ World Competitiveness Ranking ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นการกลับขึ้นสู่อันดับหนึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่สิงคโปร์ ซึ่งรั้งอันดับ 4 ในการจัดอันดับครั้งนี้ เป็นเพียงอีกหนึ่งประเทศในเอเชียที่ติด 10 อันดับแรก
สหรัฐอเมริกาครองอันดับหนึ่งในปี 2556, 2557 และ 2558 ในขณะที่ฮ่องกงหล่นลงมาถึงอันดับ 4 อย่างไรก็ตาม สหรัฐไม่สามารถรักษาความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจไว้ได้ต่อไป จึงเปิดทางให้ประเทศที่ใช้ยุทธศาสตร์การแข่งขัน เช่น ฮ่องกงที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจ หรือ สิงคโปร์ที่ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการขนส่งสินค้า สามารถก้าวขึ้นมาต่อกรกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้
สำหรับการจัดอันดับครั้งล่าสุดนี้ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย ฮ่องกงในอันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์อันดับ 2 สหรัฐอเมริกาอันดับ 3 ตามด้วยสิงคโปร์ สวีเดน เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และแคนาดา
หากไม่รวมฮ่องกงและสิงคโปร์แล้ว ผลการวิจัยพบว่าขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของทวีปเอเชียนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ที่มีการเผยแพร่ผลการจัดอันดับประจำปีที่แล้ว
ไต้หวันซึ่งอยู่ที่อันดับ 14 มาเลเซียที่อันดับ 19 เกาหลีใต้ที่อันดับ 29 และอินโดนีเซียที่อันดับ 48 ต่างมีอันดับร่วงลงจากปีที่แล้วทั้งสิ้น ในขณะที่จีนยังคงอยู่ใน 25 อันดับแรก
ศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการของ IMD World Competitiveness Center กล่าวว่า "หากมองในภาพรวมแล้ว ทวีปเอเชียมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงจากปีที่แล้วอย่างมาก โดยมีสาเหตุมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่า และงบดุลที่ย่ำแย่ทั้งในภาครัฐและเอกชน"
ศ.บริสกล่าวเสริมว่า ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของฮ่องกงในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่ภาคธุรกิจ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ฮ่องกงสามารถผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคมาได้
เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ฮ่องกงนั้นเป็นศูนย์กลางการเงินและการธนาคารชั้นนำที่ให้การสนับสนุนภาคธุรกิจด้วยการจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำและไม่ซับซ้อน รวมทั้งไม่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน
นอกจากนี้ ฮ่องกงยังเป็นประตูสู่การลงทุนของนานาชาติในประเทศจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่ของโลก และในทางกลับกัน ก็ช่วยให้ธุรกิจจากจีนสามารถเข้าถึงตลาดทุนทั่วโลกได้
การจัดอันดับของ IMD ใช้เกณฑ์ชี้วัดกว่า 340 รายการ บนพื้นฐานของ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของรัฐบาล ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน
ศ.บริสกล่าวว่า "มีความจริงที่สำคัญประการหนึ่งที่เราได้เน้นย้ำทุกปี นั่นคือการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต แนวทางที่ทุกประเทศใน 20 อันดับแรกต่างให้ความสำคัญเหมือนกันคือ การจัดทำกฎระเบียบที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและที่จับต้องไม่ได้ รวมถึงสถาบันบูรณาการ"
โรงเรียนธุรกิจ IMD [http://www.imd.org ] ได้จัดทำและเผยแพร่ผลการจัดอันดับประจำปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดอันดับได้ที่ https://worldcompetitiveness.imd.org/Press - กรุณาติดต่อฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ของ IMD เพื่อขอรับบัตรประจำตัวสื่อมวลชน
No comments:
Post a Comment