Tuesday, September 27, 2016

ผลวิจัยล่าสุดชี้ทั่วโลกต้องแสวงหาแนวทางใหม่รับมือโรคความดันโลหิตสูง

          คณะกรรมาธิการ  The Lancet Commission on Hypertension เรียกร้องให้ทั่วโลกปรับปรุงแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยระบุว่ายังมีตัวแปรหลายอย่างที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งถ้าหากจัดการได้ก็จะช่วยลดภาระที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลก

          ตัวแปรดังกล่าวครอบคลุมถึงวิธีที่ใช้ในการวัดความดัน รวมถึงปริมาณเกลือในอาหารที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย

          ระหว่างการประชุมทางวิทยาศาสตร์ของ  International Society of Hypertension (ISH) ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ทางคณะกรรมาธิการได้เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า โรคความดันโลหิตสูงมักถูกมองข้าม เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการทั้งยังไม่ค่อยมีการตรวจวินิจฉัย และแม้ว่าวงการแพทย์จะทราบดีถึงวิธีการป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูง แต่ผู้ใหญ่กว่า 30% ทั่วโลกก็ยังเป็นโรคนี้

          สจ๊วต สเปนเซอร์ บรรณาธิการบริหารอาวุโสของวารสาร The Lancet กล่าวว่า "ความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด และมักไม่ได้รับการรักษา รายงานของเราได้เผยให้เห็นถึงตัวแปรที่ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เช่น การเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงวิธีการใหม่ๆในการรับมือกับโรคทั้งในระดับบุคคลและระดับสาธารณสุข"

          ศาสตราจารย์นีล โพลเตอร์ ว่าที่ประธาน ISH กล่าวว่า "เรายินดีที่ทางคณะกรรมาธิการเลือกเปิดเผยรายงานฉบับสำคัญในการประชุมของเรา ปัจจุบัน โรคความดันโลหิตสูงกำลังเป็นปัญหาในวงกว้าง เราจึงจำเป็นต้องสร้างความตื่นตัวในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและผู้คนทั่วไปในระดับโลก"

          "สาเหตุสำคัญของโรคความดันโลหิตสูง คือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ การออกกำลังกายน้อยลง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น การบริโภคอาหารที่มีเกลือและแคลอรีสูง รวมถึงการบริโภคผักและผลไม้น้อยลง พฤติกรรมเหล่านี้ผนวกกับอายุที่มากขึ้น จะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เราจำเป็นต้องรู้ว่าตัวเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่ ซึ่งทำได้ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และวิธีการวินิจฉัยโรคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น"

          ทางคณะกรรมาธิการได้ทำการศึกษาสาเหตุของโรคและหลักฐานที่ได้จากการทดลอง เพื่อเน้นให้เห็นว่าจุดใดที่มีการศึกษาเข้มแข็งดีแล้วและจุดใดที่ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม นอกจากนี้ ทางคณะกรรมาธิการยังคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะปรับตัวสูงขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและประเทศที่มีรายได้ปานกลางบางประเทศหากไม่มีการดำเนินการอย่างเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเรียกร้องให้แสวงหาวิธีใหม่ๆในการรักษาผู้ป่วย โดยอ้างอิงจากการวิจัยอันแข็งแกร่ง รวมถึงเร่งดำเนินการวิจัยเพิ่มเติมเพื่ออุดช่องโหว่ด้านความรู้ โดยทางคณะกรรมาธิการได้พัฒนาแผนปฏิบัติการ 10 ประการขึ้นมา โดยหวังให้รัฐบาลทั่วโลกนำไปใช้เพื่อลดภาระอันเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง

          สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่
           http://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(16)31134-5/fulltext



No comments:

Post a Comment