- เทือกเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกุ้ยโจวพร้อมมอบประสบการณ์การผจญภัยสุดระทึกใจ
งานประชุมกีฬากลางแจ้งและเที่ยวชมภูเขานานาชาติประจำปี 2560 (2017 International Mountain Tourism and Outdoor Sports Conference) เปิดฉากวันนี้ ณ เมืองซิงอี้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตเฉียนซีหนาน อันตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกุ้ยโจว
คำบรรยายภาพ: ถนน 24 โค้งในอำเภอฉิงหลง เขตเฉียนซีหนาน เคยเป็นถนนที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหลังจากที่ผู้สื่อข่าวทหารของกองทัพสหรัฐนายหนึ่งได้ถ่ายภาพถนนดังกล่าวไว้ และภาพนั้นได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางผ่านหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ ปัจจุบันถนนแห่งนี้คือพื้นที่สำหรับจัดการแข่งขัน China Rally Championship เป็นประจำทุกปี
"สภาวะแวดล้อมของการปีนเขาในเขตนี้ช่างน่าตื่นตาตื่นใจจริง ๆ ครับ" โอลิเวียร์ บัลมา ไกด์นำทางแห่งเทือกเขาแอลป์และสุดยอดนักปีนเขาชาวฝรั่งเศสซึ่งพิชิตยอดเขาในเขตเฉียนซีหนานมาแล้วหลายแห่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมากล่าว พร้อมจดบันทึกชื่อเทือกเขาที่เคยไปเยือนลงบนแผนที่ ซึ่งต่อมาได้รับการเผยแพร่ในหมู่นักปีนเขากว่า 100 ชีวิตที่เดินทางมาพิชิตยอดเขาตามรอยบัลมา
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหล่าผู้คลั่งไคล้กีฬากลางแจ้งต่างได้ผจญภัยในอาณาจักรแห่งขุนเขาที่มีทั้งภูเขาหินปูนตะปุ่มตะป่ำ หุบเขาสูงชันจำนวนนับไม่ถ้วน อีกทั้งกลุ่มน้ำตกอันงดงามอีกหลายแห่ง
มณฑลกุ้ยโจว ดินแดนแห่งเทือกเขาที่มอบประสบการณ์การผจญภัยสุดระทึกใจแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก กำลังกลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ
งานประชุมในปีนี้จะมีการจัดงานพิเศษอื่น ๆ ด้วย ซึ่งรวมถึงการแข่งขัน China Rally Championship อันจะจัดขึ้นบนถนน 24 โค้ง, งาน Chinese Balloon Club League, งาน Sino-French International Walking Festival และการแข่งขันจักรยานนานาชาติ นอกจากนี้ บรรดาผู้พิชิตเทือกเขาแอลป์จำนวนมากยังวางแผนที่จะมารวมตัวกัน ณ เขตเฉียนซีหนานเพื่อร่วมงานครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ เขตเฉียนซีหนานมีความเหมาะสมสำหรับการจัดกิจกรรมกีฬาบนภูเขา เนื่องจากเป็นเขตที่มีพื้นที่ภูเขาหินปูนกว้างใหญ่ที่สุดในโลก และมีว่านฟงหลิน (ป่าภูเขาหมื่นยอด) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ป่ายอดเขาที่สวยงามที่สุดของจีน อีกทั้งยังมีหุบเขาหม่าหลิงเหอ หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในชื่อ "ผาหินปูนที่สวยงามที่สุดในโลก" นอกจากนี้ ยังมีฟอสซิลโนโธซอรัส สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ช่วงยุคไทรแอสซิก หรือประมาณ 210 ล้านปีที่แล้ว กระจัดกระจายอยู่ทั่วอาณาบริเวณ
No comments:
Post a Comment