อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม อยู่ในกลุ่มประเทศชั้นนำในดัชนีด้านโลจิสติกส์ระดับโลก
ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคะแนนสูงกว่าตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่น ๆ ในดัชนี Agility Emerging Markets Logistics Index ประจำปีที่ 11 ซึ่งเป็นดัชนีวัดศักยภาพทางการแข่งขันเมื่อประเมินจากจุดแข็งด้านระบบโลจิสติกส์และคุณสมบัติพื้นฐานในการทำธุรกิจ
ภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและข้อได้เปรียบสำคัญ ได้ทำให้ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศอยู่ในอันดับต้น ๆ ของดัชนี โดยเป็นรองยักษ์ใหญ่อย่างจีน (อันดับ 1) และอินเดีย (อันดับ 2)
ดัชนีดังกล่าวได้จัดอันดับประเทศทั้งหมด 50 ประเทศ โดยดูจากปัจจัยที่ดึงดูดผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ตัวกลางระหว่างผู้นำเข้าและส่งออก สายการเดินเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ผู้ดำเนินการขนส่งและผู้กระจายสินค้าทางอากาศ ในกลุ่มประเทศอาเซียน อินโดนีเซีย (อันดับ 4) มาเลเซีย (อันดับ 5) ไทย (อันดับ 9) และเวียดนาม (อันดับ 11) มีศักยภาพที่แข็งแกร่ง ขณะที่ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 22 ในดัชนี้ปีนี้
ท่ามกลางสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน บริษัทผู้ตอบแบบสอบถามได้เลือกเวียดนามเป็นประเทศที่บริษัทจะย้ายไปหากต้องหยุดดำเนินกิจการในจีน เมื่อปีที่แล้ว ผู้ประกอบอาชีพด้านโลจิสติกส์ 56% ระบุว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ระหว่างสหรัฐกับจีน แต่ในปี 2020 นี้ สัดส่วนของผู้ที่ตอบเช่นนั้นได้ลดลงเหลือ 42%
Andy Vargoczky รองประธานอาวุโสฝ่ายการขายและการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Agility GIL ชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพึ่งพาตลาดส่งออกในยุโรปและอเมริกาเหนือน้อยลง เนื่องจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการพัฒนา บูรณาการ และบริโภคสิ่งที่ประเทศตนเองผลิตมากขึ้น และหันไปพึ่งพาภาคบริการกันมากขึ้นจนเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน
"กลุ่มประเทศอาเซียนทำได้ดีแม้จะอยู่ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนระดับโลกเช่นนี้" Vargoczky กล่าว "อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ล้วนเป็นกลุ่มประเทศที่ติด 10 อันดับแรกหรือไม่ก็เกือบติด และจะยิ่งทวีความสำคัญในอุปทานโลกและห่วงโซ่คมนาคมมากขึ้น"
การสำรวจความคิดเห็นประจำปีของผู้ประกอบอาชีพในห่วงโซ่อุปทาน 780 รายโดย Agility ได้สะท้อนให้เห็นความคาดหวังโดยรวมในแง่ลบต่อเศรษฐกิจโลก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 64% ระบุว่ามีแนวโน้มจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับโลก ขณะที่ผู้บริหารเพียง 12% ระบุว่าไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอยดังกล่าว แรงกดดันที่ทำให้ปริมาณการค้าของโลกลดลง แนวโน้มการเติบโตที่ไม่แน่นอน ตลอดจนสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังคงดำเนินไป ต่างมีส่วนส่งเสริมมุมมองเช่นนี้
ใน 50 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย อยู่ในอันดับสูงสุดในด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ ขณะที่จีน อินเดีย และเม็กซิโก อยู่ในอันดับสูงสุดในด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยมีเวียดนามอยู่ในอันดับ 4 อินโดนีเซียอยู่ในอันดับ 5 และไทยอยู่ในอันดับ 6 ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย มีคุณสมบัติพื้นฐานในการทำธุรกิจที่ดีที่สุด
ไฮไลท์จากดัชนีและการสำรวจความคิดเห็นในปี 2020
- จีนและอินเดียอยู่ในอันดับสูงสุดในการจัดอันดับปี 2020 เมื่อประเมินจากขนาดและศักยภาพที่แข็งแกร่งในฐานะตลาดโลจิสติกส์ทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ แต่อยู่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งที่มีขนาดเล็กกว่าในด้านคุณสมบัติพื้นฐานในการทำธุรกิจ ซึ่งประเมินจากการกำกับดูแล ภาวะสินเชื่อและหนี้สิน การบังคับใช้สัญญา การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน เสถียรภาพของราคา และการเข้าถึงตลาด โดยในด้านดังกล่าว จีนอยู่ในอันดับ 8 และอินเดียอยู่ในอันดับ 18
- ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าอินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสุดมากกว่าจีน ซึ่งเป็นตัวเลือกอันดับที่สอง ในการจัดอันดับประเทศที่มีเงื่อนไขที่ดีที่ในการทำธุรกิจนั้น หลายประเทศมีการพัฒนาและถดถอยอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างเช่น อียิปต์ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 17 (สูงกว่าปีที่แล้ว 10 อันดับ) ยูเครนขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 27 (สูงกว่าปีที่แล้ว 10 อันดับ) ขณะที่กานาตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 32 (ต่ำกว่าปีที่แล้ว 13 อันดับ) และอิหร่านตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 38 (ต่ำกว่าปีที่แล้ว 12 อันดับ)
- สำหรับอียิปต์ แม้จะมีเหตุการณ์ไม่สงบเป็นช่วงสั้น ๆ ในปี 2019 แต่ก็ได้แสดงให้เห็นการพัฒนาอย่างยิ่งยวดในดัชนีทุกด้าน ในดัชนีโดยรวม อียิปต์ขึ้นมาหกอันดับมาอยู่ในอันดับที่ 20 นอกจากนี้ยังขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 20 ในด้านคุณสมบัติพื้นฐานในการทำธุรกิจ (สูงกว่าปีที่แล้ว 10 อันดับ) ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 13 ในด้านแนวโน้มโอกาสภายในประเทศ (สูงกว่าปีที่แล้ว 6 อันดับ) และขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 23 ในด้านแนวโน้มโอกาสระหว่างประเทศ (สูงกว่าปีที่แล้ว 5 อันดับ)
- การตอบแบบสอบถามของผู้ประกอบอาชีพในห่วงโซ่อุปทานระบุว่า ปัจจัยหลักสามประการที่กีดกันธุรกิจขนาดเล็กจากการค้าโลก ได้แก่ ระบบบริหารการค้าแบบราชการ (17%) ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล/ชายแดน (14%) และไม่มีความสามารถในการแข่งกับคู่แข่งรายใหญ่ (14%)
- แม้จะมีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดเกิดใหม่ก็ยังคงโตราว 3.7% ในปี 2019 โดย IMF ได้คาดว่าจะโตขึ้น 4.4% ในปี 2020 สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเติบโตของตลาดเกิดใหม่นั้น 23% ระบุว่าเป็นเพราะการปฏิรูประบบและกระบวนการศุลกากรให้ทันสมัย 18% ระบุว่าเป็นเพราะบทบาทที่เพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ต 16% ระบุว่าเป็นเพราะการปฏิรูประบบผู้ให้บริการโลจิสติกส์ให้ทันสมัย (WMS, TMS ฯลฯ) ขณะที่ 15% ระบุว่าเป็นเพราะการใช้งานและปฏิรูประบบชำระเงินออนไลน์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
- มหานครในตลาดเกิดใหม่ที่เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ 5 อันดับแรก ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ นิวเดลี เซาเปาโล จาการ์ตา และเม็กซิโกซิตี โดย "มหานคร" หมายถึงเขตเมืองที่มีประชากรตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไป ซึ่งต้องการระบบโลจิสติกส์ขนาดใหญ่เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศและการมีบทบาททางการค้า
- บริการคลังสินค้าพร้อมจัดส่งสำหรับอีคอมเมิร์ซถือว่าเป็นบริการด้านโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มสูงสุดว่าจะยังคงมีการเติบโตหรือมีการเติบโตที่มากขึ้น โดยสูงกว่าบริการอื่น ๆ อย่างเช่นบริการส่งสินค้าถึงปลายทาง (last-mile delivery) ภายในประเทศ และการส่งพัสดุด่วนระหว่างประเทศ
- ผลการสำรวจชี้ว่าประเทศที่มีศักยภาพการเป็นตลาดลอจิสติกส์ที่ต่ำที่สุดในปี 2020 ได้แก่ ซีเรีย อิหร่าน เวเนซุเอลา อิรัก และลิเบีย
คลิกเพื่อรับชมดัชนี Agility Emerging Markets Logistics Index ประจำปี 2020: www.agility.com/2020index
เกี่ยวกับ Agility
Agility เป็นบริษัทโลจิสติกส์ระดับโลกที่มีรายได้ต่อปี 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และพนักงานมากกว่า 26,000 คนในกว่า 100 ประเทศ Agility เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (contract logistics) ชั้นนำของโลก ตลอดจนเป็นผู้นำและผู้ลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของซัพพลายเชน Agility เป็นผู้บุกเบิกในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สุดที่เป็นเจ้าของและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเบาและคลังสินค้าในตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย บริษัทในเครือของ Agility ให้บริการขนส่งเชื้อเพลิง บริการสำหรับสนามบิน การจัดการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และสถานประกอบการ ระบบศุลกากรดิจิทัล และบริการโครงสร้างพื้นฐานทางไกล
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Agility สามารถดูได้ที่ www.agility.com
Twitter: twitter.com/agility
LinkedIn: linkedin.com/company/agility
YouTube: youtube.com/user/agilitycorp
No comments:
Post a Comment