Wednesday, March 24, 2021

ธนาคารในเอเชียแปซิฟิกพร้อมใช้ประโยชน์จากความเป็นดิจิทัลอย่างแท้จริง ให้ข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันที่เหนือกว่าต้นทุน


  • IDC และ Thought Machine เผยผลการวิจัยใหม่ พบตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพร้อมที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงการธนาคารหลัก ดังที่ปรากฏในดัชนีใหม่อย่าง Digital Core Banking Opportunity Index
  • การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแท้จริงจะให้ผลประโยชน์มากมายแก่ธนาคารในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นความคล่องตัว การโยกย้าย และค่าใช้จ่าย

Thought Machine บริษัทเทคโนโลยีที่เป็นคลาวด์เนทีฟที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ในสิงคโปร์ และ International Data Corporation (IDC) ได้เปิดตัวงานวิจัยร่วมชิ้นที่ 2 ในหัวข้อ Truly Digital Core Banking: You Are More Ready Than You Think

ในงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ IDC สรุปความพร้อมของเอเชียแปซิฟิกในการยกระดับภาคธนาคาร และเผยให้เห็นเส้นทางที่ชัดเจนสำหรับธนาคารในภูมิภาคในการปรับใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยและส่งมอบประสบการณ์การธนาคารดิจิทัลอย่างแท้จริง

ดัชนีใหม่ของ IDC ที่ว่านี้คือดัชนี Digital Core Banking Opportunity Index ซึ่งทำแผนที่ตลาดในภูมิภาคโดยประเมินใน 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ โอกาสที่จะได้รับประโยชน์ และความพร้อมในการดำเนินงาน ในส่วนของด้านโอกาสที่จะได้รับประโยชน์นั้น ตลาดต่าง ๆ ถูกวัดผลโดยดูจากความพร้อมของลูกค้าสำหรับการทำธนาคารดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานของตลาด ในส่วนของความพร้อมในการดำเนินงานนั้น ตลาดถูกวัดจากแนวโน้มที่มีต่อการเปลี่ยนระบบที่มีอยู่เดิมและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในตลาดของพวกเขา

ตลาดที่นำมาวัดผลในดัชนีนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยผลที่ได้แสดงให้เห็นว่า

  • สิงคโปร์และออสเตรเลียมีโอกาสมากสุดสำหรับภาคการธนาคารดิจิทัล โดยตลาดที่เหลือพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล
  • ระบบหลักที่เก่าแก่เป็นอันดับต้น ๆ อยู่ในฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ขณะที่เวียดนามมีระบบหลักที่ค่อนข้างใหม่กว่า
  • ตลาดในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ที่นำมาวัดอยู่ในกลุ่ม 'ตลาดที่ถูกกระตุ้น' โดยเป็นกลุ่มที่จัดว่าพร้อมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่
  • อินโดนีเซียและไทยมีแนวโน้มที่แข็งแกร่งที่จะเปลี่ยนระบบธนาคารหลักของตนเอง ขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์เปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลได้ช้า

งานวิจัยยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะการเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีการธนาคารดิจิทัล โดยให้ข้อมูลว่าสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยจะช่วยเพิ่มความสามารถในการส่งมอบของธนาคารและความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร สิ่งนี้ทำให้ความพร้อมโดยรวมของธนาคารดีขึ้นเพื่อทำการเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ในครึ่งหลังของงานวิจัยนี้ IDC ได้ระบุข้อกำหนดเจาะจงชัดเจนเกี่ยวกับนวัตกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ โดยระบุคุณสมบัติที่ควรมีทั้งหมด 25 ประการ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ตามความต้องการ การกำหนดค่าอัจฉริยะ การออกใบอนุญาตที่ยืดหยุ่น การปรับลดค่าใช้จ่าย และอื่น ๆ

Michael Araneta หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาและวิจัยของ IDC Financial Insights กล่าวว่า "IDC ได้สำรวจการลงทุนระลอกใหม่ในระบบธนาคารดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และพบว่าธนาคารต่าง ๆ พร้อมได้รับประโยชน์จากความสามารถของระบบธนาคารดิจิทัลยุคใหม่ พวกเขาจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางมากกว่าเดิม และคล่องตัวกว่าเดิม ตลาดและธนาคารไม่ควรรอให้ 'เวลาเหมาะเหม็ง' มาถึง เพราะเวลาที่เหมาะสมคือตอนนี้"

Nick Wilde กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Thought Machine กล่าวว่า "ปัจจุบัน ตลาดเอเชียสามารถใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพของสถาปัตยกรรมคลาวด์เนทีฟ ไปจนถึงกรอบการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วย API และความสามารถในการเสริมประสิทธิภาพแบบใช้โค้ดน้อย ที่มาพร้อมกับระบบดิจิทัลหลักอย่างแท้จริง จุดตัดมาถึงแล้ว ตลาดเอเชียพร้อมแล้วที่จะดำเนินการและคว้าผลประโยชน์ที่จับต้องได้ด้วยการย้ายสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างแท้จริง"

งานวิจัยดังกล่าวได้สำรวจกลไกการธนาคารหลักของ Thought Machine อย่าง Vault ในแง่ของคุณลักษณะเหล่านี้ การประเมินตัวอย่างการพัฒนาแบบใช้โค้ดน้อยหรือไม่ต้องใช้โค้ดเลยทำให้เห็นว่า แนวทางแบบใช้โค้ดน้อยของ Vault ให้ผลประโยชน์มากมายแก่ธนาคารที่ต้องการความคล่องตัวในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การขับเคลื่อนด้วย API และการทำงานแบบเรียลไทม์ของ Vault ยังโดดเด่นด้วยความสามารถในการผสมผสานการทำงานร่วมกับระบบอื่น เชื่อมต่อกับโปรแกรม Open Banking และช่วยให้ภาคธนาคารใช้ประโยชน์จากช่องทางดิจิทัลใหม่ ๆ

งานวิจัยนี้ปิดท้ายด้วยการประเมินแนวทางการยกระดับที่ธนาคารทั่วไปนำไปใช้ได้เมื่อต้องใช้ระบบธนาคารดิจิทัลยุคใหม่ Vault มีจุดเด่นในด้านความสามารถในการรองรับการโยกย้ายหลากหลายประเภท โดยลดความยุ่งยากซับซ้อน ลดความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับ Thought Machine

Thought Machine ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 โดยมีพันธกิจในการผลักดันให้ธนาคารย้ายจากระบบไอทีเดิมที่สร้างความยุ่งยากให้กับอุตสาหกรรมธนาคาร และเปลี่ยนไปใช้ระบบที่ทันสมัย ด้วยการนำเสนอ "Vault" ระบบไอทีหลักของธนาคารที่ทำงานบนคลาวด์ ระบบใหม่นี้พัฒนาขึ้นจากศูนย์จนกลายเป็นระบบที่ทำงานบนคลาวด์เต็มรูปแบบ โดยไม่มีโค้ดแม้แต่บรรทัดเดียวแบบระบบเดิม

Thought Machine ก่อตั้งโดยพอล เทย์เลอร์ ผู้ประกอบการชั้นนำ โดยลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทประกอบด้วย Lloyds Banking Group, SEB, Standard Chartered, Atom bank, Monese, TransferGo และ Curve ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานกว่า 450 คนในสำนักงานสาขาลอนดอน สิงคโปร์ ซิดนีย์ เมลเบิร์น และนิวยอร์ก และระดมทุนได้กว่า 110 ล้านปอนด์จากนักลงทุนหลายราย ได้แก่ Eurazeo, Draper Esprit, SEB, British Patient Capital, IQ Capital, Playfair Capital, Nyca Partners, Lloyds Banking Group และ Backed

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thoughtmachine.net

เกี่ยวกับ IDC

International Data Corporation (IDC) เป็นผู้ให้บริการชั้นแนวหน้าของโลกด้านข้อมูลวิเคราะห์ทางตลาด บริการให้คำปรึกษา และอีเว้นท์ในแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และเทคโนโลยีเพื่อการบริโภค ด้วยนักวิเคราะห์กว่า 1,100 คนทั่วโลกที่คอยให้คำปรึกษาด้วยความเชี่ยวชาญทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และทั่วโลก ในเรื่องของโอกาสและแนวโน้มเกี่ยวกับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในกว่า 110 ประเทศทั่วโลก การวิเคราะห์และข้อมูลเจาะลึกของ IDC ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญในวงการไอที ผู้บริหาร และชุมชนการลงทุนทั้งหลาย สามารถนำข้อเท็จจริงไปใช้ในการตัดสินใจและบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจสำคัญของพวกเขาได้ IDC ก่อตั้งขึ้นในปี 2507 เป็นบริษัทในเครือของ International Data Group (IDG) ซึ่งเป็นบริษัทสื่อด้านเทคโนโลยี ข้อมูล และบริการการตลาดชั้นนำของโลก ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ IDC ได้ที่ www.idc.com หรือติดตาม IDC ได้ทาง Twitter ที่ @IDC และ LinkedIn หรือกดรับข่าวสารและข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมได้จาก IDC Blog: http://bit.ly/IDCBlog_Subscribe

No comments:

Post a Comment