ผู้หญิงและเด็กสาวที่แสวงหาความก้าวหน้าทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นสายที่ชายเป็นใหญ่ ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อไม่นานมานี้ได้ตอกย้ำถึงจำนวนผู้ลี้ภัย คนพลัดถิ่น และผู้ไร้สัญชาติที่พุ่งทะยานแตะ 89.3 ล้านคนทั่วโลก โดยเกือบ 27% เป็นผู้หญิงและเด็กสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี การศึกษาระดับนานาชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแลกเปลี่ยนเสมือนจริงนั้นแทบไม่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการขยายโอกาสให้กับกลุ่มคนชายขอบก็ตาม
การช่วยเหลือเยาวชนหญิงเข้าสู่โลกของสะเต็มและความยั่งยืน
เอเอฟเอส อินเตอร์คัลเจอรัล โปรแกรมส์ (AFS Intercultural Programs) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลกที่มีชื่อเสียงด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการเพื่อคนหนุ่มสาวในสายสะเต็มศึกษาด้วยการสนับสนุนจากบีพี (bp) มาตั้งแต่ปี 2554 ต่อมาในปี 2564 ทั้งสององค์กรได้เปิดตัวโครงการริเริ่มที่เปี่ยมความมุ่งมั่นระยะ 5 ปี โดยพุ่งความสนใจไปที่การให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนจำนวน 5,000 ราย โดยเน้นที่ความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก รวมถึง สนับสนุนเยาวชนหญิงเป็นพิเศษ โครงการเอเอฟเอส โกลบอล สะเต็ม แอคเซลเลอเรเตอร์ (AFS Global STEM Accelerator) ซึ่งเปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2565 เป็นโครงการแลกเปลี่ยนเสมือนจริงแบบทุนเต็มจำนวน ให้หญิงสาว 180 คนทั่วโลกเข้าถึงการศึกษาในด้านความยั่งยืน สะเต็ม (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) และสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคม
มอบโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้ผู้ลี้ภัยอย่างเท่าเทียม
วิกฤตผู้ลี้ภัยส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 89.3 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนจากซีเรีย เวเนซุเอลา ซูดาน และเมียนมา โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ชาวยูเครนหลายล้านคนถูกบีบให้ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน
การตอบสนองของสาธารณชนต่อวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยมักมุ่นเน้นไปที่ความต้องการเร่งด่วนด้านมนุษยธรรมเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม การศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เยาวชนผู้ลี้ภัยมักเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะกับผู้ลี้ภัยหญิงอายุน้อย โดยข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ระบุว่า การมอบโอกาสทางการศึกษาถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศด้วย
เมื่อคำนึงถึงสิ่งนี้ เอเอฟเอสจึงเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาด้วยการสนับสนุนจากบีพี เพื่อรับประกันว่า ผู้ลี้ภัยเยาวชนหญิงจะได้รับโอกาสจากโครงการเอเอฟเอส โกลบอล สะเต็ม แอคเซลเลอเรเตอร์ เอเอฟเอสได้ผนึกกำลังกับสปาร์ก (SPARK) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการพัฒนานอกภาครัฐระดับนานาชาติที่ดำเนินงานอยู่ใน 14 ภูมิภาคทั่วตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และแอฟริกาใต้สะฮารา โดยตระหนักถึงความจำเป็นในการเข้าถึงผู้ต้องการโอกาสอย่างทั่วถึง เป็นเวลากว่า 28 ปีแล้วที่สปาร์กได้สร้างเส้นทางให้แก่คนหนุ่มสาวในการสานต่ออนาคตของพวกเขา และมอบโอกาสให้กับเยาวชน โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้ลี้ภัยในด้านการศึกษา ทำงาน และขยายธุรกิจของตนเองในชุมชนที่เปราะบาง
"พลเมืองโลกศึกษาต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมงานกับบีพีและสปาร์ก เพื่อผลักดันให้คนหนุ่มสาวเข้าร่วมโครงการนี้ได้ เพราะพวกเขามักถูกกีดกันจากโอกาสเหล่านี้ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุด" คุณแดเนียล ออบส์ต (Daniel Obst) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอเอฟเอสกล่าว
ดึงดูดผู้สมัครกว่า 1,000 คน จาก 71 ประเทศ
โครงการเอเอฟเอส โกลบอล สะเต็ม แอคเซลเลอเรเตอร์ มีผู้สมัคร 1,083 ราย จาก 71 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้ลี้ภัยจากประเทศอัฟกานิสถาน ยูเครน ไนจีเรีย และซีเรียที่พำนักอยู่ในตุรกี โดยเปิดรับนักเรียนหญิง (อายุระหว่าง 15-17.5 ปี) จากทั่วโลก ที่มีความตั้งใจขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนของตนเอง โดยเอเอฟเอสจัดสรรทุนการศึกษา 20% ให้กับผู้ลี้ภัยและเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรพลัดถิ่น ทั้งจากภัยสงคราม ความรุนแรง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ทุนการศึกษา 180 ทุนซึ่งได้มอบให้กับหญิงสาวจาก 61 ประเทศสะท้อนให้เห็นว่า โครงการนี้เปิดรับความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง และตั้งเป้าขับเคลื่อนความสำเร็จตามวัตถุประสงค์เหล่านี้
- 20% ของผู้รับทุนเป็นผู้ลี้ภัยหรือมาจากชุมชนผู้พลัดถิ่น
- 82% ของผู้รับทุนเป็นชาวผิวสี
- 51% ของผู้รับทุนมาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
- 10% ของผู้รับทุนจะเป็นคนแรกของครอบครัวที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
เอเอฟเอสและบีพีตระหนักดีว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั่วโลกยังมีความเหลื่อมล้ำ และพร้อมที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการในด้านดังกล่าว
"การได้เห็นผู้หญิงที่เก่งเหล่านี้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากเป็นเรื่องน่ายินดี" คุณเคอร์รี ดรายเบิร์ก (Kerry Dryburgh) รองประธานบริหารฝ่ายบุคคลและวัฒนธรรมของบีพี กล่าว "ความมุ่งมั่นที่จะสร้างความแตกต่างและทักษะที่จะได้เรียนรู้ จะทำให้คนเหล่านี้เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ผู้นำ และผู้สร้างนวัตกรรมในอนาคต เราขออวยพรให้พวกเขาเหล่านี้ก้าวเดินไปตามเส้นทางข้างหน้าสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้"
ทั้งนี้ ความคิดเห็นของผู้ได้รับทุนการศึกษาเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงคำกล่าวที่ว่า โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนออนไลน์เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการขยายโอกาสทางการศึกษา
"ดิฉันมาจากชุมชนชาวพัชตุน (Pashtun) ที่มีความคิดสมัยเก่า เด็กผู้หญิงในจังหวัดของดิฉันไม่มีสิทธิ์ไปโรงเรียนด้วยซ้ำ ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศล้วนมีความเหลื่อมล้ำทางเพศอย่างเห็นได้ชัด ความท้าทายทั้งหมดนี้หล่อหลอมให้ดิฉันมีความแข็งแกร่งในการสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง และแตกต่างไปจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง การเข้าร่วมในโครงการนี้จะเป็นก้าวแรกไปสู่การค้นหาประสบการณ์ตามเป้าหมายในการสำรวจโลกได้สำเร็จ และเติบโตเป็นผู้ที่มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น" ฮาริรา (Harira) จากอัฟกานิสถาน
ก้าวต่อไปสำหรับผู้หญิงรุ่นใหม่
โครงการเอเอฟเอส โกลบอล สะเต็ม แอคเซลเลอเรเตอร์ เปิดช่องทางให้นักเรียนทุนพัฒนาโครงการสำคัญที่สร้างคุณค่าทางสังคม และนำเสนอทางออกที่เป็นไปได้เพื่อรับมือกับความท้าทายในโลกของความเป็นจริง โดยมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนเป็นหลัก เมื่อจบโครงการ นักเรียนทุนจะได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคม (Advanced Certificate on Global Competence for Social Impact) จากเอเอฟเอสและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย รวมถึงการรับรองโครงการของนักเรียนทุนจากศูนย์กลยุทธ์ส่งเสริมผลลัพธ์ทางสังคม สังกัดมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania Center for Social Impact Strategy) โดยมีทีมสนับสนุนที่มีความหลากหลายซึ่งประกอบด้วยผู้แนะแนว (ทั้งหมดเป็นผู้หญิง) ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด 12 คน จาก 9 ประเทศ คอยให้คำแนะนำตลอดการเรียนรู้ของนักเรียนและการทำโครงการสำคัญ
หลังจากจบโครงการแล้ว นักเรียนทุนจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมชุมชนศิษย์เก่า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ขอคำปรึกษา จัดเซสชันการพัฒนาทักษะ การอภิปราย และโอกาสในการพัฒนาอื่น ๆ โดยนักเรียนทุนจะมีโอกาสได้รับเชิญให้เข้าร่วมสมัชชาเยาวชนเอเอฟเอส (AFS Youth Assembly) ซึ่งเป็นการประชุมของเยาวชนทั่วโลกเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals)
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1809272/AFS_Logo.jpg
No comments:
Post a Comment