Thursday, August 29, 2019

โครงการความร่วมมือเพื่อยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา อัปเดตแนวทางการรักษาโรคมะเร็งในผู้ใหญ่

          เครือข่ายโรคมะเร็งครบวงจรแห่งชาติ กลุ่มความร่วมมือโรคมะเร็งแห่งแอฟริกา และสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา อัปเดตแนวทางการรักษาโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ และเพิ่มแนวทางการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก


          แนวทางการรักษาโรคมะเร็ง NCCN Harmonized Guidelines(TM) สำหรับภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา ผ่านการรับรองใน 6 ประเทศซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งภูมิภาค

          โครงการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายโรคมะเร็งครบวงจรแห่งชาติ (National Comprehensive Cancer Network(R): NCCN(R)) กลุ่มความร่วมมือโรคมะเร็งแห่งแอฟริกา (African Cancer Coalition: ACC) สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society: ACS) และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อยกระดับผลการรักษาโรคมะเร็งในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา มีความก้าวหน้าไปอีกขั้นในการประชุมที่เมืองอาดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย โดยแพทย์ด้านมะเร็งวิทยาจาก 11 ประเทศในแอฟริกา พร้อมด้วยซีอีโอของ ACS และ NCCN ได้เข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเอธิโอเปีย และร่วมกันสรุปแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง NCCN Harmonized Guidelines(TM) สำหรับภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราเพิ่มเติม ส่งผลให้ตอนนี้มีแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด 42 แนวทางเพื่อรับมือกับ 86% ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ในภูมิภาค

          นายแพทย์ Robert W. Carlson ซีอีโอของ NCCN กล่าวว่า "โรคมะเร็งมีอันตรายต่อชีวิตเป็นสองเท่าในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราเมื่อเทียบกับในสหรัฐอเมริกา หากงานวิจัยและผลการวิเคราะห์ใหม่ๆ เข้าถึงได้ฟรีทางออนไลน์ แพทย์ในท้องถิ่นจะสามารถช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น จนถึงตอนนี้ แนวทางการรักษาโรคมะเร็ง NCCN Harmonized Guidelines สำหรับภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา ถูกดาวน์โหลดไปมากกว่า 7,000 ครั้งจากเว็บไซต์ของ NCCN และอีกจำนวนมากผ่านแอปมือถือของเรา"

          Gary Reedy ซีอีโอของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของก้าวที่สำคัญในการกำหนดมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งในแอฟริกา การรวบรวมแนวทางการรักษาได้มากถึง 42 แนวทางถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความร่วมมือระหว่างบุคคลและสถาบันต่างๆ ที่มุ่งยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในแอฟริกา"

          แนวทางการรักษาโรคมะเร็ง NCCN Harmonized Guidelines(TM) สำหรับภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ระหว่างการประชุม African Organisation for Research and Training in Cancer (AORTIC) ที่เมืองคิกาลี ประเทศรวันดา แนวทางดังกล่าวครอบคลุมโรคมะเร็งหลายชนิด รวมไปถึงการจัดการความปวด การรอดชีวิต การเลิกบุหรี่ และการดูแลตามอาการ สามารถดูแนวทางทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ที่ NCCN.org/harmonized

          แนวทางดังกล่าวผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการในเอธิโอเปีย มาลาวี ไนจีเรีย แทนซาเนีย ยูกันดา และแซมเบีย โดยประชากรในประเทศเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนราว 43% ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา

          ศาสตราจารย์ Isaac F. Adewole ตำแหน่ง FAS, FRCOG, FSPSP, DSc และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไนจีเรีย กล่าวว่า "ขณะที่รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญของประเทศในแอฟริกาพยายามยกระดับการรับมือกับการระบาดของโรคมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้น พวกเขาพบว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการรักษาโรคมะเร็งที่สะท้อนความรู้ทางคลินิกที่ทันสมัยที่สุด และมีความยืดหยุ่นในการใช้งานทุกระดับ ตั้งแต่ศูนย์โรคมะเร็งที่ทันสมัยไปจนถึงโรงพยาบาลในชุมชน หากปราศจากแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ จะไม่สามารถยกระดับการเข้าถึงการรักษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยโรคมะเร็ง"

          แนวทางการรักษาโรคมะเร็ง NCCN Harmonized Guidelines(TM) ใช้รหัสสีเพื่อแสดงการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับประเทศที่มีทรัพยากรน้อยถึงปานกลาง รวมถึงทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับสถานที่ที่มีทรัพยากรจำกัด แนวทางเหล่านี้อ้างอิงจาก NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology (NCCN Guidelines(R)) ซึ่งประกอบด้วยคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญสหวิทยาการจากศูนย์วิจัยโรคมะเร็งชั้นนำ 28 แห่งที่เป็นสมาชิกของ NCCN โดย NCCN Guidelines(R) เป็นมาตรฐานของการกำหนดนโยบายเชิงคลินิกในการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งยังเป็นแนวทางปฏิบัติเชิงคลินิกที่ละเอียดที่สุดและอัปเดตบ่อยที่สุดในวงการแพทย์ทุกแขนง โดยครอบคลุมโรคมะเร็งแทบทุกชนิด รวมถึงการดูแลตามอาการ การป้องกัน และการตรวจพันธุกรรม นอกจากนี้ NCCN ได้เพิ่มแนวทางการรักษาโรคมะเร็งในเด็กเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

          สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ NCCN.org/global และร่วมแสดงความคิดเห็นออนไลน์ได้ทางแฮชแท็ก #NCCNGlobal



No comments:

Post a Comment