Wednesday, September 11, 2024

ก่อปราการเสริมเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยกลยุทธ์ Red Team vs. Blue Team

ในทิศทางของความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา องค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกโจมตีจากภัยคุกคามต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องทรัพย์สินดิจิทัลขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้ OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP จะมาแบ่งปันแนวทางของสองขั้วตรงข้ามแต่กลับเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน การดำเนินการทดสอบของสองทีม ทีมสีแดง (Red Team) และทีมสีน้ำเงิน (Blue Team) ที่ต้องอยู่คนละฝั่งกัน ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่สร้างประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับการประเมินและปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยขององค์กร

รูปแบบการทดสอบที่ถูกออกแบบขึ้น จะมีการจำลองการโจมตีและการตอบสนองในรูปแบบที่ใกล้เคียงความเป็นจริง ซึ่งจะช่วยหาช่องโหว่ที่ได้จากการทดสอบ นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการป้องกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองรับมือต่อการโจมตีได้ทันทีในหลายรูปแบบ ทั้งสองทีมมีบทบาทสำคัญในการเสริมเกราะป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ขององค์กร โดยแต่ละทีมมีความรับผิดชอบและวิธีการที่แตกต่างกัน ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปสำรวจสมรภูมิเสมือนจริงระหว่างทีมสีแดงและทีมสีน้ำเงิน และให้ความกระจ่างเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาในการสนับสนุนความปลอดภัยทางไซเบอร์

บทบาทและภารกิจของทีมสีแดง (Red Team)

ในขอบเขตของการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทีมสีแดง ทำหน้าที่ทีมที่จำลองการโจมตีเสมือนจริง ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะซึ่งจำลองการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อประเมินมาตรการรักษาความปลอดภัยขององค์กร ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้พยายามแทรกซึมระบบ เครือข่าย และแอปพลิเคชันเพื่อระบุช่องโหว่และจุดอ่อน เป้าหมายของทีมสีแดงคือการเปิดเผยภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ไม่หวังดีจะสามารถหาประโยชน์จากพวกมันได้

วิธีการ

ทีมสีแดง จะใช้กลยุทธ์ เทคนิคและขั้นตอนที่หลากหลายเพื่อดำเนินการประเมิน การทดสอบการเจาะระบบ การใช้ศิลปะการหลอกลวงของแฮ็คเกอร์ (Social Engineering) และการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่ตรวจสอบพบ รวมทั้งพวกเขายังอาจใช้การทดสอบขั้นสูง เช่น การใช้ประโยชน์จากช่องโหว่แบบซีโรเดย์ (ช่องโหว่หรือจุดอ่อนในระบบ ซึ่งยังไม่เคยพบมาก่อน อาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในขั้นตอนการออกแบบและพัฒนาระบบ ที่ผู้พัฒนาไม่สามารถตรวจสอบพบก่อนนำระบบนั้นมาใช้งานจริง)

ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. การประเมินภัยคุกคามที่สมจริง (Realistic Threat Assessment): ทีมสีแดงจะจำลองภัยคุกคามทางไซเบอร์ในโลกแห่งความเป็นจริง ช่วยให้องค์กรเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัย
  2. การค้นพบช่องโหว่ (Vulnerability Discovery): โดยการระบุจุดอ่อนและช่องโหว่ในระบบ จะช่วยองค์กรแก้ไขและเสริมสร้างมาตรการป้องกันก่อนที่ผู้ไม่หวังดีจะใช้ช่องโหว่เหล่านั้นเพื่อก่อความเสียหาย
  3. ยกระดับการตอบสนองต่อเหตุการณ์ (Enhanced Incident Response): การเปิดเผยข้อบกพร่องในขั้นตอนการตรวจจับและตอบสนอง ช่วยเพิ่มความสามารถขององค์กรในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ และศักยภาพในการพัฒนากลยุทธ์การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการประเมิน
  4. การตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย (Security Awareness): ช่วยให้พนักงานรับรู้และใส่ใจในการหาวิธีป้องกันจากความพยายามของแฮกเกอร์ที่จะหลอกลวงเข้าไปในระบบข้อมูลสำคัญขององค์กรในหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญสูงสุดที่ต้องพึงระลึกไว้ คือ การทดสอบของทีมสีแดงจะดำเนินการภายใต้จรรยาบรรณที่เข้มงวดและปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ เพื่อป้องกันการกระทำที่สามารถทำให้เกิดความเสียหายจริงต่อโครงสร้างและระบบการทำงานขององค์กร

บทบาทและภารกิจของทีมสีน้ำเงิน (Blue Team)

ทีมสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นฝ่ายตั้งรับ มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาและปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กร โดยการตรวจสอบระบบอย่างต่อเนื่อง ตรวจจับภัยคุกคาม และตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ สมาชิกทีมสีน้ำเงินมักเป็นนักวิเคราะห์ความปลอดภัยและผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร การได้รับการรับรองความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญของทีมสีน้ำเงินมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการปกป้องทรัพย์สินดิจิทัลขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีการ

ทีมสีน้ำเงิน ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีหลากหลายเพื่อป้องกันภัยคุกคาม เช่น ระบบตรวจจับการบุกรุก (Intrusion Detection System), ไฟร์วอลล์ (Firewall), และโซลูชั่นการจัดการข้อมูลและเหตุการณ์ด้านความปลอดภัย (Security Information and Event Management - SIEM) พวกเขาตรวจสอบการรับส่งข้อมูลในเครือข่าย วิเคราะห์ข้อมูลที่บันทึกได้ และใช้ข้อมูลเพื่อการป้องกันภัยคุกคามในเชิงรุกเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและกระทบต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์

ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. การตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง (Continuous Monitoring): ในขอบเขตของการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทีมสีน้ำเงิน มีบทบาทสำคัญในการให้การตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อระบุเหตุการณ์ที่น่าสงสัยอย่างรวดเร็ว การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจะถูกตรวจพบทันที
  2. การตอบสนองต่อเหตุการณ์ (Incident Response): เมื่อเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยเกิดขึ้น ทีมสีน้ำเงิน จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมภัยคุกคาม บรรเทาความเสียหาย และอำนวยความสะดวกในกระบวนการกู้คืนระบบที่เสียหาย
  3. ข้อมูลภัยคุกคาม (Threat Intelligence): รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างจริงจังเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับภัยคุกคามและช่องโหว่ที่เกิดขึ้นใหม่ ข้อมูลความรู้เหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาปรับตัวและเสริมการป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. การปรับปรุงความปลอดภัย (Security Improvements): โดยการวิเคราะห์และสรุปเหตุการณ์ จัดทำข้อเสนอแนะ ให้ข้อมูลเพื่อเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการเกิดภัยคุกคามในอนาคต
  5. การกำกับดูแล (Compliance): การสร้างความเชื่อมั่นว่าองค์กรได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง

สรุป

ทีมสีแดงและทีมสีน้ำเงินมีบทบาทที่แตกต่างกันในความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่ไม่ใช่ในลักษณะแข่งขัน แต่เป็นการร่วมมือกันของทั้งสองทีม เพื่อปกป้ององค์กรจากภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ วัน ทีมสีแดงช่วยค้นหาช่องโหว่ ในขณะที่ทีมสีน้ำเงินช่วยป้องกันและเพิ่มมาตรการป้องกัน การทำงานร่วมกันนี้ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์ เตรียมการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว และปรับปรุงมาตรการป้องกันอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดี เป็นปราการที่สำคัญในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งแม้ว่าทั้งสองทีมจะมีบทบาทที่แตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายปลายทางร่วมกัน คือการปกป้ององค์กรสร้างความปลอดภัยในโลกไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ

--------

ทีซีซี เทคโนโลยี (TCCtech) เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โซลูชั่นของเรา ประกอบไปด้วย

  • การให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัย
  • การประเมินและวิเคราะห์ด้านความปลอดภัย (เช่น การประเมินและค้นหาความเสี่ยงจากการถูกโจมตี ผ่านช่องโหว่ต่าง ๆ จากผู้ประสงค์ร้าย (บริการ VA))
  • การบริการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ (เช่น บริการรักษาความปลอดภัยด้านโครงข่ายสื่อสาร บริการรักษาความปลอดภัยของระบบ)
  • การบริหารจัดการด้านความปลอดภัย (เช่น บริการตรวจสอบแจ้งเตือนและการจัดการด้านความปลอดภัย)

โซลูชั่นด้านความปลอดภัยดังกล่าวยังครอบคลุมถึง ผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัย ต่าง ๆ อาทิ เช่น Firewall, SSL VPN, Log Management พร้อมด้วยโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยที่หลากหลาย มีให้เลือกตามความต้องการ เหมาะสมกับสถานการณ์และธุรกิจ

แหล่งอ้างอิงส่วนหนึ่งจาก

  • กลยุทธ์การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดย คุณธวัช เพลินประภาพร - Senior Security Solution Manager บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด
  • Securing the Network: A Red and Blue Cybersecurity Competition Case Study, by Cristian Chindrus and Constantin-Florin Caruntu

No comments:

Post a Comment