Thursday, July 14, 2016

รายงานล่าสุดชี้ทุกประเทศต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573

          ในการประชุมสุดยอดองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อปีที่แล้ว บรรดาประเทศสมาชิกได้มีมติรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) แต่ล่าสุด ดัชนีและแดชบอร์ด SDG ได้แสดงให้เห็นว่า ทุกประเทศต่างเผชิญกับความท้าทายอันใหญ่หลวงในการบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 โดยที่ผ่านมายังไม่มีประเทศใดสามารถบรรลุเป้าหมาย SDG ได้ แม้กระทั่งประเทศที่ทำผลงานได้ดีอย่างสวีเดน ก็ยังมีคะแนนอยู่ในระดับ "วิกฤต" (red) ในหลายเป้าหมาย

          เมื่อปีที่แล้ว ผู้นำจากประเทศสมาชิกยูเอ็น 193 ชาติ ได้มารวมตัวกันที่นิวยอร์กในการประชุมสุดยอดครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และยอมรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และในวันนี้ Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ได้จับมือกับ Bertelsmann Stiftung ในการเผยแพร่ดัชนีและแดชบอร์ด SDG ใหม่ล่าสุด เพื่อรายงานความก้าวหน้าและรายละเอียดต่างๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้นำประเทศสามารถทำตามคำมั่นสัญญาได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งยังกระตุ้นให้แต่ละประเทศไม่หมดไฟในการปฏิรูปในประเด็นสำคัญๆ ดัชนีและแดชบอร์ด SDG จะรวบรวมข้อมูลเพื่อให้สมาชิก 149 ชาติได้ประเมินความก้าวหน้าของตนเอง ณ ปี 2559 ในการบรรลุเป้าหมาย SDG
         

          ประเทศที่ใกล้บรรลุเป้าหมายมากที่สุดมิใช่ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด แต่กลับเป็นประเทศขนาดเล็กที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ ขณะที่มีประเทศในกลุ่ม G7 เพียงสองประเทศที่ติดอันดับท็อปเทน ได้แก่ เยอรมนีและสหราชอาณาจักร ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 25 ด้านสหพันธรัฐรัสเซียและจีนอยู่ในอันดับที่ 47 และ 76 ตามลำดับ สำหรับประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนามีคะแนนต่ำสุดในดัชนี SDG เนื่องจากมีทรัพยากรที่จำกัด โดยสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ชาด และไนเจอร์อยู่รั้งท้าย และห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมาย SDG มากที่สุด  

          นอกจากนี้ รายงานยังเน้นย้ำถึงความท้าทายหลักๆของแต่ละภูมิภาค โดยระบุว่า ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความไม่เท่าเทียม การบริโภคอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหาใหญ่กว่า นั่นคือ การจัดหาบริการพื้นฐานทางสังคมและสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชน สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ทำผลงานได้ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แต่ก็ยังเผชิญกับความท้าทายด้านสาธารณสุขและการศึกษา ส่วนประเทศในละตินอเมริกาและแคริบเบียน ความไม่เท่าเทียมในระดับสูงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด และในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารานั้น แม้ว่าจะบรรลุความก้าวหน้าที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในโลกแห่งนี้ยังคงเผชิญความท้าทายในแทบทุกเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความยากจน ความอดอยาก และสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างมาก

          อาร์ต เดอ กุส ซีอีโอและประธานของ Bertelsmann Stiftung กล่าวว่า "บรรดาผู้นำจากทั่วโลกได้หารือกันในการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปีที่แล้ว และตอนนี้เราต้องแน่ใจว่าทุกประเทศทำตามที่คุยกันไว้ ช่วงปีแรกๆหลังการรับเป้าหมายเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573"

          เจฟฟรีย์ ดี แซคส์ ผู้อำนวยการ SDSN กล่าวว่า "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่ประเทศต่างๆสามารถบรรลุได้หากมีความชัดเจนและแน่วแน่ ดัชนีและแดชบอร์ด SDG สามารถช่วยประเทศต่างๆในการวางแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว"

          เกี่ยวกับงานวิจัย

          เนื่องในโอกาสของการจัดงานประชุมทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนและการประชุมระดับรัฐมนตรี ณ มหานครนิวยอร์ก (วันที่ 18-20 กรกฎาคม 2559) ทาง Bertelsmann Stiftung และ SDSN จึงนำเสนองานวิจัยฉบับแรกของโลกที่เปรียบเทียบความก้าวหน้าของ 149 ประเทศในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ SDSN เกิดจากการรวมตัวของสถาบันวิจัยหลายแห่ง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายใหม่ของยูเอ็น ขณะที่ Bertelsmann Stiftung เป็นมูลนิธิที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเยอรมนี โดยมุ่งสนับสนุนให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในสังคม

          รับชมข้อมูลเพิ่มเติมและรายงานฉบับสมบูรณ์ในภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.bertelsmann-stiftung.de หรือ www.unsdsn.org/



No comments:

Post a Comment