ข้อมูลใหม่ล่าสุดที่ศ.ดร. โวลเกอร์ ไฮน์มานน์ ได้นำเสนอ ณ ที่ประชุม World Congress on Gastrointestinal Cancer ครั้งที่ 18 ของสมาคมมะเร็งวิทยาแห่งยุโรป (ESMO) ระบุว่า ผลการวิจัย SIRFLOX ที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย (mCRC) ซึ่งมีการลุกลามไปยังตับ และได้รับการรักษาขั้นพื้นฐานด้วยการใช้ mFOLFOX6 ร่วมกับ SIR-Spheres Y-90 resin microspheres นั้น มีการตอบสนองต่อการรักษามากกว่ากลุ่มที่ทำเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว[1]
จากการวิเคราะห์ความลึกของการตอบสนอง (DpR) ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างใหม่และมีความสัมพันธ์กับระยะการดำรงอยู่โดยรวม (OS) และระยะการอยู่รอดหลังโรคลุกลาม (PPS) ในการวิจัยผู้ป่วยโรค mCRC ครั้งก่อนนี้[2] พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย SIR-Spheres Y-90 resin microspheres ควบคู่กับการทำเคมีบำบัด มีความลึกของการตอบสนองมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ปริมาณเซลล์มะเร็งในตับลดลงเฉลี่ย 75.0% เทียบกับ 67.8%; p=0.039) และยังมีระยะเวลา DpR หรือระยะเวลาเนื้องอกหดตัวมากกว่า 2 เดือนเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทำเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว (เฉลี่ย 266 วัน เทียบกับ 206 วัน; p<0.001)
นอกจากนี้ ผลวิเคราะห์ยังเผยให้เห็นว่า การรักษาด้วย SIR-Spheres Y-90 resin microspheres ให้ผลลัพธ์ที่เด่นชัดที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปริมาณเซลล์มะเร็งในตับมากกว่า (มีเนื้องอกกินพื้นที่ตับมากกว่า 12% ขณะเข้าร่วมการวิจัย ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการคาดการณ์ DpR) โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ซึ่งมีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยในโครงการ SIRFLOX มีค่า DpR สูงกว่าถึง 20% (77.5% เทียบกับ 57.2%; p=0.003) และมีระยะเวลา DpR ยาวนานกว่า 3 เดือน (เฉลี่ย 298 วัน เทียบกับ 196 วัน; p<0.001) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทำเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ SIR-Spheres Y-90 resin microspheres ยังมีความเชื่อมโยงกับระยะปลอดโรค (PFS) เฉลี่ยในตับที่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงในผู้ป่วยกลุ่มนี้ (27.2 เดือน เทียบกับ 13.1 เดือน; p=0.003)
ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีเนื้องอกกินพื้นที่ตับเท่ากับหรือน้อยกว่า 12% ขณะเข้าร่วมการวิจัยนั้น มีความเป็นไปได้มากกว่า 6 เท่าที่จะตอบสนองอย่างสมบูรณ์หรือสามารถกำจัดเนื้องอกในตับได้ทั้งหมด ภายหลังการรักษาด้วย SIR-Spheres Y-90 resin microspheres เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทำเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว (11.3% เทียบกับ 1.7%; p=0.003)
ศ.ไฮน์มานน์ จากภาควิชาวิทยาเนื้องอกแห่งศูนย์มะเร็งของมหาวิทยาลัย Ludwig-Maximillian University ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยประจำยุโรปของโครงการ SIRFLOX กล่าวว่า "เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจายได้ก้าวหน้าเป็นอย่างมากตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อายุขัยของผู้ป่วยโรคนี้จึงเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นอุปสรรคในการพิสูจน์ประสิทธิภาพของวิธีการรักษาใหม่ๆ หรือการบูรณาการวิธีการรักษาต่างๆเข้าด้วยกัน"
"เหล่านักวิทยาเนื้องอกได้สังเกตเห็นมาสักระยะหนึ่งแล้วว่า ระยะปลอดโรค (PFS) มิใช่ปัจจัยคาดการณ์ระยะการดำรงอยู่โดยรวมที่มีประสิทธิภาพเสมอไป สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย ดังที่ปรากฎให้เห็นในการวิจัยบางโครงการที่ใช้ยากลุ่มสารชีวภาพ" ศ.ไฮน์มานน์ กล่าว "ด้วยเหตุนี้เอง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้จึงมีการทุ่มเทอย่างหนักเพื่อหาปัจจัยบ่งชี้ที่ดีกว่าในการคาดการณ์ระยะการดำรงอยู่โดยรวมในผู้ป่วยโรค mCRC โดยเฉพาะผลของการรักษาที่มีต่อความลึกในการตอบสนองของผู้ป่วย ทั้งนี้ ระดับความลึกของการตอบสนองและระยะเวลาการตอบสนองสูงสุดภายหลังการรักษาด้วย SIR-Spheres Y-90 resin microspheres รวมถึงค่า PFS ในตับยิ่งมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และทำให้เรามีความคาดหวังมากขึ้นเกี่ยวกับข้อมูลการอยู่รอดที่เราหวังว่าจะได้เห็นในปี 2560"
ศ.ไฮน์มานน์ และคณะทำงานในมิวนิก ได้คิดค้นคอนเซปต์และวิธี DpR ขึ้น โดยร่วมมือกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆในแวดวงการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล DpR ในการวิจัย SIRFLOX นั้น ได้มีการใช้โมเดลเชิงปริมาตรรูปแบบใหม่เพื่อคาดคะเนปริมาณก้อนเนื้องอกในตับของผู้ป่วย โดยคำนวณจากความยาวของเนื้องอกตับสูงสุด 5 จุด ซึ่งถูกเลือกโดยดูจากการทำ Blinded Independent Central Review (BICR) ภาพเส้นฐานและภาพรังสีของผู้ป่วย จากนั้นจึงทำการวัดค่า DpR ด้วยการตรวจระดับการหดตัวของเนื้องอกจนเนื้องอกหดตัวถึงจุดต่ำสุด ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์ค่า DpR ครั้งก่อนหน้าในการวิจัย FIRE-3 ที่มีการใช้ยากลุ่มสารชีวภาพ cetuximab นั้น ศ.ไฮน์มานน์ พบว่าค่า DpR และระยะการดำรงอยู่โดยรวมมีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[2] และข้อมูลนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากผลการวิจัย TRIBE ด้วย[3]
ศ.ไฮน์มานน์ กล่าวเสริมว่า "เราสามารถทำการวิเคราะห์ค่า DpR ได้อย่างลุล่วง เนื่องจากวิธีที่ SIRFLOX ใช้อยู่แล้วนั้น ครอบคลุมข้อมูลทางรังสีที่มากพอสำหรับการประเมินการตอบสนองต่อการรักษา โดยใช้เกณฑ์ RECIST ที่ใช้กันทั่วไป จุดเด่นของวิธีนี้คือ เมื่อมีชุดข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วก็ไม่จำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมมาใช้คาดคะเนปริมาณอีก นอกจากนั้นยังอาจทำให้เราได้ข้อมูลใหม่ๆจากผลการค้นพบเดิมด้วย"
ประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากวิธีการนี้ อาจได้รับการพิสูจน์เมื่อข้อมูลระยะการดำรงอยู่โดยรวมจากการวิจัย SIRFLOX, FOXFIRE และ FOXFIRE Global ซึ่งเป็นการศึกษาความเชื่อมโยงของ mFOLFOX6 และ SIR-Spheres Y-90 resin microspheres ในฐานะวิธีรักษาขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่มีการลุกลามไปยังตับนั้น ได้รับการเผยแพร่ในปี 2560
เกี่ยวกับ SIRFLOX
SIRFLOX คือโครงการวิจัยโรคมะเร็งในเชิงรังสีร่วมรักษาแบบสุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีผู้ป่วยเข้าร่วมทั้งสิ้น 530 ราย[4] โดยเป็นการวิจัยประสิทธิภาพของการใช้ SIR-Spheres Y-90 resin microspheres ควบคู่กับการทำเคมีบำบัดที่เป็นมาตรฐานปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นวิธีพื้นฐานในการรักษาผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ที่มีการแพร่กระจายไปยังตับและไม่สามารถผ่าตัดรักษาได้ SIRFLOX เป็นการวิจัยแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุม ไม่มีการปกปิดข้อมูล และเป็นการวิจัยแบบไปข้างหน้า (prospective) ตามศูนย์วิจัยต่างๆในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกาเหนือ
การวิจัย SIRFLOX มีจุดยุติปฐมภูมิอยู่ที่ระยะปลอดโรค (PFS) ทุกจุด ดูจากการทำ Independent Central Review (ICR) กับภาพ CT หรือ MRI โดยค่า PFS จะแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยสามารถอยู่รอดได้นานเท่าใดหลังมะเร็งหยุดลุกลาม สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกทุติยภูมิซึ่งลุกลามมาจากโรคมะเร็งลำไส้ ค่า PFS ที่สูงขึ้นมักสัมพันธ์กับระยะเวลาดำรงอยู่โดยรวมที่สูงขึ้นด้วย[5]-[7] นอกจากนี้ ค่า PFS ในตับยังเป็นจุดยุติทุติยภูมิที่สำคัญในการวิจัย SIRFLOX ส่วนจุดยุติอื่นๆประกอบด้วยอัตราการตอบสนองของเนื้องอกในตับ อัตราการตอบสนองของเนื้องอกในทุกจุด อัตราการผ่าตัดเฉือนเนื้อตับ อัตราการกลับมาเป็นซ้ำทั้งในตับและนอกตับ คุณภาพชีวิตในแง่ของสุขภาพ ความเป็นพิษ ความปลอดภัย และระยะการดำรงอยู่โดยรวม
ผู้ป่วยที่ร่วมการวิจัย SIRFLOX นั้น ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ที่มีการลุกลามไปยังตับและไม่สามารถผ่าตัดรักษาได้ โดยผู้ป่วยราว 40% ยังมีการแพร่กระจายไปยังปอด และ/หรือ ต่อมน้ำเหลือง ขณะที่ 45% มีเนื้องอกลำไส้ใหญ่และทวารหนักปฐมภูมิแต่อวัยวะยังทำงานปกติ ผู้ป่วยประมาณ 90% มีอาการที่เกิดขึ้นพร้อมกันมากกว่าหนึ่งจุด ซึ่งหมายความว่ามีการพบเนื้อร้ายที่แพร่กระจายห่างออกไป พร้อมๆกับที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเนื้องอกปฐมภูมิ ผู้ป่วยในลักษณะนี้พยากรณ์โรคได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เนื้องอกแพร่กระจายออกไปตามจุดต่างๆ หลังจากได้รับการวินิจฉัยเนื้องอกปฐมภูมิและได้ผ่าตัดออกไปแล้ว[8]
ผลการวิจัย SIRFLOX ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของระยะปลอดโรค (PFS) ทุกจุด ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเคมี-รังสีบำบัด ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เนื่องจาก SIR-Spheres Y-90 resin microspheres เป็นวิธีการรักษาที่เน้นไปที่ตับโดยตรง และไม่มีผลต่อเนื้อร้ายที่แพร่กระจายนอกตับ อย่างไรก็ดี คณะวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมีค่า PFS ในตับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อทำการวิเคราะห์ความเสี่ยง จากค่าเฉลี่ย 12.6 เดือนในผู้ป่วยกลุ่มควบคุม ไปเป็น 20.5 เดือน (p=0.002) ในกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาด้วย SIR-Spheres Y-90 resin microspheres จึงสรุปได้ว่า วิธีการดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงของการลุกลามในตับได้มากถึง 31% ซึ่งเป็นจุดที่รังสีบำบัดพุ่งเป้าเพื่อรักษาโดยตรง
สำหรับข้อมูลระยะการดำรงอยู่โดยรวมจะมีการรายงานในภายหลัง ภายใต้โครงการวิเคราะห์ข้อมูลการอยู่รอดแบบบูรณาการ ซึ่งครอบคลุมข้อมูลจากการวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมอีก 2 โครงการที่มีลักษณะคล้ายกับโครงการ SIRFLOX อันได้แก่ FOXFIRE ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการวิจัยในสหราชอาณาจักร และ FOXFIRE Global ซึ่งเป็นการวิจัยในระดับนานาชาติ โดยทั้งสองการวิจัยมีผู้ป่วยรวมกัน 573 ราย และเมื่อรวมกับ SIRFLOX ก็จะมีผู้ป่วยมากกว่า 1,100 ราย ซึ่งข้อมูลจากผู้ป่วยเหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลที่มีน้ำหนักในเชิงสถิติ สำหรับใช้ในการประเมินประโยชน์ในแง่ของการอยู่รอดจากการใช้ SIR-Spheres Y-90 resin microspheres ควบคู่กับการทำเคมีบำบัดพื้นฐาน ทั้งนี้ ข้อมูลระยะการอยู่รอดจากโครงการวิจัยทั้งสามคาดว่าจะเผยแพร่ได้ในปี 2560
เกี่ยวกับ SIR-Spheres Y-90 resin microspheres
SIR-Spheres Y-90 resin microspheres ผ่านการรับรองเพื่อใช้ในการรักษาเนื้องอกตับชนิดผ่าตัดไม่ได้ในอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล สหภาพยุโรป (CE Mark) สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และอีกหลายๆประเทศในเอเชีย ส่วนในสหรัฐอเมริกา SIR-Spheres Y-90 resin microspheres ได้รับการรับรอง Pre-Market Approval (PMA) จากองค์การอาหารและยา (FDA) สำหรับใช้รักษามะเร็งตับที่ลุกลามจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และผ่าตัดเฉือนเนื้อร้ายไม่ได้ ร่วมกับการทำเคมีบำบัดหลอดเลือดในตับโดยใช้ FUDR (Floxuridine)
เกี่ยวกับ Sirtex
Sirtex Medical Limited (ASX: SRX) เป็นธุรกิจเฮลธ์แคร์สัญชาติออสเตรเลียระดับแนวหน้าของโลกที่มุ่งยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผลิตภัณฑ์เด่นของบริษัทคือ SIR-Spheres Y-90 resin microspheres ซึ่งเป็นรังสีบำบัดเฉพาะจุดสำหรับรักษาโรคมะเร็งตับ โดยมีการส่งมอบไปแล้วราว 61,000 โดส เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในศูนย์การแพทย์กว่า 1,000 แห่ง ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ที่ http://www.sirtex.com
SIR-Spheres(R) เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ Sirtex SIR-Spheres Pty Ltd.
อ้างอิง
1. Heinemann V, van Hazel GA, Sharma NK et al. Evaluation of depth of response within a volumetric model in patients with metastatic colorectal cancer: Results of the SIRFLOX study. Annals of Oncology 2016; 27 (Suppl 2): Abs. O-014.
2. Heinemann V, Stintzing S, Modest DP et al. Early tumour shrinkage (ETS) and depth of response (DpR) in the treatment of patients with metastatic colorectal cancer (mCRC). European Journal of Cancer 2015; 51: 1927-1936.
3. Cremolini C, Loupakis F, Antoniotti C et al. Early tumor shrinkage and depth of response predict long-term outcome in metastatic colorectal cancer patients treated with first-line chemotherapy plus bevacizumab: results from phase III TRIBE trial by the Gruppo Oncologico del Nord Ovest. Annals of Oncology 2015; 26: 1188-1194.
4. van Hazel GA, Heinemann V, Sharma NK et al. SIRFLOX: Randomized phase III trial comparing first-line mFOLFOX6 (plus or minus bevacizumab) versus mFOLFOX6 (plus or minus bevacizumab) plus selective internal radiation therapy in patients with metastatic colorectal cancer. Journal of Clinical Oncology 2016; 34: 1723?1731.
5. Sherrill B, Kaye J, Sandin R et al. Review of meta-analyses evaluating surrogate endpoints for overall survival in oncology. OncoTargets and Therapy 2012; 5: 287-296.
6. Shi Q, de Gramont A, Grothey A et al. Individual patient data analysis of progression-free survival versus overall survival as a first-line end point for metastatic colorectal cancer in modern randomized trials: Findings from the analysis and research in cancers of the digestive system database. Journal of Clinical Oncology 2015; 33: 22-28.
7. Petrelli F, Barni S. Correlation of progression-free and post-progression survival with overall survival in advanced colorectal cancer. Annals of Oncology 2013; 24: 186-192.
8. Kumar R, Price TJ, Beeke C et al. Colorectal cancer survival: An analysis of patients with metastatic disease synchronous and metachronous with the primary tumor. Clinical Colorectal Cancer 2014; 13: 87-93.
No comments:
Post a Comment