ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งไปสู่ Industry 4.0 ในส่วนอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และก้าวขึ้นสู่การเป็นฮับด้านแฟชั่นของอาเซียน ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าแฟชั่น ทั้งสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องหนัง ให้เพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี นับจากนี้ไป
"การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทย ไปสู่ Industry 4.0 หนึ่งในกิจกรรมที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมั่นคงได้ คือ การพัฒนานักออกแบบแฟชั่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยต่อยอดให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมแฟชั่น ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยอยู่ในช่วงชะลอตัว ซึ่งเกิดจากผลกระทบหลายด้าน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องเร่งผลักดัน และพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างสรรค์ให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยทั้ง 3 สาขาดังกล่าว ให้พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียนภายในปี 2560 ตามเป้าหมาย ที่วางไว้"
จากคำกล่าวที่แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จึงทำให้เกิดกิจกรรม เพื่อสนับสนุนนักออกแบบไทย และผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเติบโต และก้าวไกลสู่ตลาดโลก "กิจกรรมการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Designer Creation 2017 : FDC2017)" ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมอุตาหกรรม ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อต่อยอดขยายผลความสำเร็จของการพัฒนาศักยภาพและยกระดับความสามารถในการสร้างสรรค์ของนักออกแบบ นักศึกษา บุคลากร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ด้วยกิจกรรมการอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบคอลเลคชั่นสินค้าแฟชั่น และประกวดชิงรางวัล FDC2017 ภายใต้แนวคิด "No Boundaries" ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ ตามแนวคิดนวัตกรรมแฟชั่น (INNOFASHION) เน้นการออกแบบทำให้ผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น แตกต่าง สร้างจุดขาย เพื่อผลักด้นผลงานสร้างสรรค์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมสู่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์ สามารถสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่ม ยกระดับความสามารถในการแข่งขันสู่ยุคอุตสาหกรรมแฟชั่น 4.0 โดยต้องอาศัย INNODESIGN (นวัตกรรมด้านการออกแบบ) INNOMATERIAL (นวัตกรรมด้านวัสดุ) INNOTECHNICS (นวัตกรรมด้านเทคนิคหรือการผลิต) และ INNOCONCEPT (นวัตกรรมด้านความคิดสร้างสรรค์) เป็นปัจจัยสำคัญ
นอกจากนี้กิจกรรมได้กำหนดคุณค่าหลัก (Core Value) ของผลงานโดยให้ความสำคัญกับความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Originality) ประโยชน์ใช้สอย (Usability) เทคนิคการผลิตและรายละเอียด (Technics and Details) และการสร้างสรรค์อย่างรับผิดชอบ (Responsible Design) ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะใช้เป็นแนวทางการออกแบบ ควบคู่ไปกับการค้นหาแรงบันดาลใจ จากธีมการออกแบบ "No Boundaries" ซึ่งเป็นการนำความประทับใจในอดีต ผสานกับองค์ประกอบที่ทันสมัย เพื่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ผ่าน 4 แนวคิดที่โดดเด่นแตกต่าง ได้แก่ Surreal Jungle ซึ่งกล่าวถึงการผสมผสานระหว่างความเป็นธรรมชาติ และความเหนือจริง International Ikat แนวโน้มแฟชั่นที่กล่าวถึงการผสมผสานระหว่างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของตะวันออก กับตะวันตก Inter twining แนวโน้มแฟชั่นที่กล่าวถึงการผสมผสานระหว่างโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม กับโครงสร้างของเครื่องแต่งกายในประวัติศาสตร์ และ Neo Nostalgic แนวโน้มแฟชั่นที่กล่าวถึงการผสมผสานของสไตล์ในยุค 90 กับ K-Pop ในปัจจุบัน
ในปีนี้การดำเนินกิจกรรมการสร้างออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น FDC2017 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากจำนวนผู้สมัครที่เพิ่มขึ้นจาก 200 คน ในปีแรก มาเป็นกว่า 500 คน ในปีนี้ นับเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักออกแบบ ผู้ประกอบการ และนักศึกษาด้านแฟชั่นทั้งในประเทศ จนถึงระดับสากล โดย FDC02017 ได้รับความสนใจจากนักออกแบบประเทศอินเดีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศภูฏาน เข้าร่วมกิจกรรม และผ่านการคัดเลือกสู่รอบ 130 คนเพื่อเข้าร่วมอบรม เรียนรู้ ฝึกฝน แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นจากทุกสาขา นำทีมโดย Executive Coach เจ้าของแบรนด์แฟชั่นที่ได้รับการยอมรับ คือ คุณมิริน ยุวจรัสกุล จาก แบรนด์ Milin คุณพัชรพิมล ยังประภากร จากแบรนด์ S'uvimol และคุณภิรดา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา จากแบรนด์ Trimode พัฒนาความคิดสร้างสรรค์สู่ต้นแบบสินค้าแฟชั่น เข้าสู่รอบสุดท้าย เพื่อค้นหาสุดยอดผลงานเด่น โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 12 ท่าน ร่วมพิจารณาคัดเลือกผู้เข้ารอบ 32 คน จนเหลือ 12 สุดยอดนักออกแบบ ในแต่ละสาขาแฟชั่น เป็นเจ้าของรางวัล FDC2017 และจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผลงานภายในงาน Thailand Industry Expo 2017 อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 พร้อมพิธีมอบรางวัลโดย นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แก่ผู้ชนะเลิศ สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คุณพีรดนย์ ก้อนทอง สาขาเครื่องหนังและรองเท้า คุณสัมฤทธิ์ ชูกลิ่น และสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ คุณศิริณา เมืองมูล และรองชนะเลิศทั้งไทยและต่างประเทศอีกรวม 9 รางวัล
กิจกรรมการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น FDC2017 นับเป็นอีกก้าวหนี่งของความสำเร็จ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เป็นเวทีในการเชื่อมต่อประสบการณ์ สร้างประโยชน์ และโอกาสต่อยอดสินค้าแฟชั่นไทยไปสู่การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง อันเป็นรากฐานและทิศทางที่สำคัญเพื่อทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นในประเทศไทยก้าวสู่ตลาดสากลต่อไปในอนาคต
No comments:
Post a Comment