- โครงการแรกตามแผนงาน "digital A9 motorway test bed" โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนและระบบควบคุมการจราจร
- ยกระดับเครือข่ายมือถือด้วยเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์
Continental, Deutsche Telekom AG, Fraunhofer ESK และ Nokia Networks ร่วมนำเสนอช่องทางสื่อสารแบบเรียลไทม์ระหว่างยานยนต์ผ่านเครือข่าย LTE ต่อนายอเล็กซานเดอร์ โดบรินด์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเยอรมนี ซึ่งนับเป็นการนำเสนอผลการดำเนินโครงการแรกที่เกิดขึ้นจาก "กฎบัตรว่าด้วยนวัตกรรมสำหรับการทดสอบระบบดิจิทัลบนทางหลวง A9" (Innovation Charter for the digital A9 motorway test bed)
การนำเสนอผลงานครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลความเสี่ยงของรถยนต์บนทางหลวงผ่านเครือข่าย LTE ของ Deutsche Telekom เนื่องจากช่องทางการรับส่งข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลาให้น้อยที่สุด เครือข่ายบางส่วนของ Deutsche Telekom จึงได้มีการติดตั้งเทคโนโลยี Mobile Edge Computing อันล้ำสมัยของ Nokia Networks เช่นเดียวกับเทคโนโลยีตรวจจับตำแหน่งที่พัฒนาขึ้นโดย Fraunhofer ESK การรวมพลังครั้งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสเป็นครั้งแรกในกรณีที่รถยนต์สองคันสามารถรับส่งสัญญาณระหว่างกันได้ในเวลาไม่ถึง 20 มิลลิวินาที นอกจากนี้เมื่อมีการผนวกรวมกับส่วนอินเทอร์เฟซอิเล็กทรอนิกส์ที่ทาง Continental ได้พัฒนาขึ้นแล้ว ก็จะช่วยต่อยอดการใช้งานในรูปแบบต่างๆที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการขับขี่
อเล็กซานเดอร์ โดบรินด์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างระบบดิจิทัลพื้นฐานแห่งเยอรมนี กล่าวว่า: "ตามแผนงาน 'digital A9 motorway test bed' นั้น เราได้คิดค้นระบบที่มีความเป็นกลางทางเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมและการวิจัย ซึ่งบริษัทผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆสามารถทดสอบระบบขับขี่อัตโนมัติผ่านเครือข่ายในสภาพการขับขี่จริงบนทางหลวง โดยเราพร้อมนำผลที่ได้จากห้องปฏิบัติการมาปรับใช้บนท้องถนนจริง การนำเสนอผลงานครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในแง่ของช่องทางสื่อสารระหว่างยานยนต์ ผ่านการเชื่อมต่อเซลลูลาร์ความเร็วสูงด้วยศักยภาพที่แทบจะเทียบเท่า 5G ด้วยเหตุนี้เราจึงพร้อมก้าวกระโดดสู่ยุคดิจิทัลแบบเรียลไทม์บนท้องถนน ซึ่งจะส่งผลให้การจราจรเป็นเรื่องที่คาดคะเนได้ง่ายยิ่งขึ้นสำหรับบรรดาผู้ขับขี่ และจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและการเกิดอุบัติเหตุ โครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า เยอรมนีกำลังปูทางสู่ยุค Mobility 4.0 แห่งโลกดิจิทัล และเรามีจุดมุ่งหมายเพื่อขับเคลื่อนให้ระบบที่ได้รับการทดสอบบนทางหลวงเยอรมนีนี้ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานสากล"
ทิม ฮัตเกส ซีอีโอของ Deutsche Telekom กล่าวเสริมว่า: "ระบบดิจิทัลโมบิลิตี้จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีความรวดเร็วซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ เราปรารถนาที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นแนวหน้าของยุโรป และนั่นเป็นเหตุผลที่เรายืนอยู่แถวหน้าในการพัฒนามาตรฐานใหม่ๆ ทั้งนี้ เราได้เข้ามามีบทบาทในแผน "digital A9 motorway test bed" เนื่องจากเราต้องการยกระดับความปลอดภัยในการขับขึ่ และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการขับขี่อย่างมีนัยสำคัญ"
ราล์ฟ เลนนินเจอร์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรมประจำฝ่ายระบบภายในของ Continental กล่าวว่า: "ที่ Continental เรามีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าระบบอินเทอร์เน็ตนั้นช่วยยกระดับการทำงานของยานยนต์ผ่านหลักการที่เข้าใจได้ง่าย คือ ยิ่งตัวยานยนต์สามารถรับรู้ถึงปัจจัยแวดล้อมและพฤติกรรมของผู้ใช้ถนนรายอื่นๆมากขึ้นเท่าใด อัตราการใช้พลังงานและอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนก็จะปรับตัวลดลงมากขึ้นเท่านั้น การสื่อสารแบบเรียลไทม์กับรถคันอื่นๆ ตลอดจนการสื่อสารกับท้องถนนและโครงสร้างการสื่อสารนั้น เปิดโอกาสให้ยานยนต์สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆที่ผู้ขับขี่ไม่สามารถมองเห็นได้ ไม่ว่าจะด้วยตาหรือผ่านระบบตรวจจับในตัวรถเอง"
คาธริน บูวัค ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของ Nokia Networks เสริมว่า: "เรากำลังขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเคลื่อนที่ยุคที่ห้า เพื่อให้ลูกค้าของเราซึ่งรวมถึงบริษัท Deutsche Telekom สามารถรองรับกับอนาคตในยุค Industry 4.0 และ Internet of Things การเปลี่ยนโฉมสู่ยุคดิจิทัลในวงการยานยนต์นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนี ซึ่งการสื่อสารในแวดวงนี้จำเป็นต้องสามารถใช้งานได้จริงแบบเรียลไทม์ และด้วยเทคโนโลยี Mobile Edge Computing ซึ่งทาง Nokia เป็นผู้นำการพัฒนา เราจึงมีการผนวกรวมองค์ประกอบต่างๆของระบบ 5G เข้ากับเครือข่าย LTE สมัยใหม่ พร้อมสนับสนุนการใช้งานในรูปแบบใหม่ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงได้เข้าไปมีบทบาทเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการขับขี่สำหรับโลกอนาคต"
ศ.ดร.รูดี คนอร์ ผู้อำนวยการสถาบัน Fraunhofer ESK กล่าวว่า: "ระบบเครือข่ายที่มีความน่าเชื่อถือนั้นสามารถยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ถนนได้เป็นอย่างมาก และด้วยโครงการวิจัยของเราที่มุ่งเน้นในส่วนของการใช้งาน เราจึงมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถพัฒนาระบบเครือข่ายยานยนต์ที่มีความน่าเชื่อถือได้อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ซึ่งผนวกรวมเข้ากับระบบแนะนำการขับขี่ ที่จำเป็นต้องอาศัยช่องทางสื่อสารที่มีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพเมื่อทำงานแบบเรียลไทม์"
ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี
โครงการดังกล่าวเป็นการยกระดับเครือข่าย LTE ของ Deutsche Telekom ที่มีอยู่เดิมตามทางหลวง A9 ด้วยเทคโนโลยี Mobile Edge Computing จาก Nokia Networks โดยได้มีการปรับปรุงสถานีฐาน LTE ด้วยปลั๊กอินโมดูล (ในชื่อ "Cloudlets") ซึ่ง Cloudlet เหล่านี้ทำหน้าที่จัดเส้นทางให้มีการรับส่งข้อมูลภายในเซลล์ แทนการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายมือถือบนระบบคลาวด์ ทั้งหมดนี้สามารถช่วยลดเวลาหน่วงแบบต้นทางถึงปลายทาง (End-to-end latency) ได้เป็นอย่างมากจนเหลือไม่ถึง 20 มิลลิวินาที ซึ่งหากไม่มีเทคโนโลยีใหม่นี้แล้ว การรับส่งสัญญาณระหว่างยานยนต์ผ่านเครือข่าย LTE และระบบคลาวด์ส่วนกลางนั้นอาจใช้เวลามากถึง 100 มิลลิวินาทีแม้ในกรณีที่เอื้ออำนวยที่สุด และอาจนานกว่าหลายร้อยมิลลิวินาทีเมื่อเงื่อนไขไม่เอื้ออำนวย ความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนนผ่านเครือข่ายมือถือนั้น เกิดขึ้นจริงได้ก็ต่อเมื่อมีระบบการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วเช่นนี้
สำหรับยานยนต์ที่ใช้ในการทดสอบนั้น ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ติดรถ (On-board unit) ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบยานยนต์และสื่อสารกับเครือข่าย LTE ผ่านโมดูลไร้สาย โดยทาง Continental เป็นผู้พัฒนาส่วนอินเทอร์เฟซให้กับตัวรถผ่านระบบ CAN bus และซอฟต์แวร์บนแท็บเล็ต ส่วน Fraunhofer ESK เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาซอฟต์แวร์ GeoService ซึ่งทำหน้าที่บันทึกและประมวลข้อมูลตำแหน่งของยานยนต์โดยตรงที่สถานีฐาน LTE ขณะที่ระบบทำงานด้านภูมิศาสตร์ที่สถานีฐานเครือข่ายมือถือจะทำหน้าที่แจ้งเตือนเหตุการณ์แบบเรียลไทม์ไปยังรถทุกคันในบริเวณนั้นๆ
No comments:
Post a Comment