Monday, November 16, 2015

maribus เผยแพร่รายงาน “World Ocean Review 4” เน้นประเด็นการใช้มหาสมุทรอย่างยั่งยืน

          องค์กรไม่แสวงผลกำไร maribus และกลุ่มวิจัย Kiel Cluster of Excellence "The Future Ocean" ได้เน้นย้ำในประเด็นที่เกี่ยวกับมหาสมุทรและความยั่งยืนในรายงาน World Ocean Review ฉบับที่ 4 เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีความยั่งยืนกับการวิจัยเพื่อนำไปสู่การจัดการมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลอย่างมีความรับผิดชอบ

          มนุษย์เรามีความใกล้ชิดกับท้องทะเลมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เพราะทะเลมอบโอกาสและประโยชน์มากมายให้แก่ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง อย่างไรก็ดี เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เราจำเป็นต้องคำนึงถึงอนาคตของมหาสมุทรและชายฝั่งอย่างจริงจัง แรงกดดันที่มีต่อมหาสมุทรทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจากการใช้งานของมนุษย์ ในขณะที่ทรัพยากรทางทะเลมีอยู่อย่างจำกัด จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราจะสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรได้อย่างไร เราควรใช้หลักเกณฑ์ใดในการประเมินศักยภาพการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เราต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อรับประกันว่าจะมีการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เราควรตกลงเรื่องการชดเชยระหว่างผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์อย่างไร และ "ความยั่งยืน" ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมีความหมายว่าอะไรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและชายฝั่ง

          (รูปภาพ: http://photos.prnewswire.com/prnh/20151109/285435 )

          รายงาน "World Ocean Review 4 - Sustainable Use of Our Oceans - Making Ideas Work" (WOR 4) ซึ่งเผยแพร่โดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร maribus gGmbH โดยได้รับการสนับสนุนจากนิตยสาร mare, สถาบัน International Ocean Institute (IOI) และกลุ่ม Kiel Cluster of Excellence "The Future Ocean" ได้รวบรวมมุมมองจากทั่วโลกในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและมหาสมุทร "ความยั่งยืน" ได้กลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และมีความหมายแตกต่างกันไปตามนิยามหรือบริบท ทางคณะผู้จัดทำรายงานจาก Kiel Cluster of Excellence "The Future Ocean" จึงได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีความยั่งยืนกับการวิจัยเพื่อนำไปสู่การจัดการมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นในรูปแบบที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายสำหรับผู้อ่านทั่วไป ตลอดจนอธิบายแนวทางที่กลุ่มประชาสังคมและผู้วางนโยบายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญได้

          "จุดมุ่งหมายของเราในการเผยแพร่รายงาน World Ocean Review คือการมอบความรู้พื้นฐานให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องของความยั่งยืน ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับคุณค่ามากมายของมหาสมุทร" Professor Martin Visbeck โฆษกของ Kiel Cluster of Excellence "The Future Ocean" และนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจาก GEOMAR Helmholtz Centre for Ocean Research Kiel กล่าว "ความก้าวหน้าในการใช้มหาสมุทรอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลกจึงจำเป็นต้องมีการประสานการใช้งานหลากหลายรูปแบบ เข้ากับการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระดับระหว่างประเทศ"

          รายงาน World Ocean Review ยังนำเสนอมุมมองอย่างละเอียดเกี่ยวกับคุณค่าทางระบบนิเวศที่มหาสมุทรมอบให้มนุษย์ เช่น การผลิตออกซิเจน อาหาร พลังงานคลื่นและลม รวมถึงเส้นทางการคมนาคมทางทะเล นอกจากนั้นยังพิจารณาบทบาทของมหาสมุทรในฐานะแหล่งทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น น้ำมัน ก๊าซ และสิ่งที่ทับถมในทะเล (เช่น กรวดและทราย เป็นต้น) รวมถึงอธิบายว่าป่าชายเลนและสันทรายสามารถปกป้องแนวชายฝั่งได้อย่างไร ปัจจุบัน มหาสมุทรกำลังถูกคุกคามจากการใช้ประโยชน์มากเกินไป จากมลภาวะ และจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกเหนือจากการแจกแจงสาเหตุของปัญหาแล้ว รายงานฉบับนี้ยังระบุขอบเขตของปัญหา และเผยให้เห็นถึงความพยายามในการนำวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขามาใช้พัฒนารูปแบบและสมมติฐานต่างๆ เพื่อแปรเปลี่ยนทฤษฎีความยั่งยืนให้กลายเป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง

          "การอนุรักษ์ท้องทะเลจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อประชาชนลงมือทำจริงๆ และภาคประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางทะเลสามารถกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้" Nikolaus Gelpke กรรมการผู้จัดการของ maribus gGmbH ผู้จัดพิมพ์นิตยสาร mare และประธานสถาบัน IOI กล่าว "อย่างไรก็ดี การให้การสนับสนุนยังเป็นสิ่งที่จำเป็นเสมอ เพื่อให้ประชาชนสามารถร่วมรับผิดชอบในการจัดการสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้ การสร้างขีดความสามารถเช่นนี้มีความจำเป็นในระดับสูงสุด และได้รับการบรรจุอยู่ในวาระใหม่ด้านความยั่งยืนทั่วโลกขององค์การสหประชาชาติ"

          รายงาน "World Ocean Review 4" ได้รับการเปิดเผยในงาน Representation of Schleswig-Holstein ที่กรุงเบอร์ลิน ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ที่มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน และนักการศึกษาเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

          ภูมิหลัง  

          maribus gGmbH ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 โดย Nikolaus Gelpke เจ้าของนิตยสาร mare เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งมั่นกับการทำให้ประชาชนตระหนักว่า ส่วนต่างๆของระบบนิเวศทางทะเลมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด พร้อมกับพยายามผลักดันให้มีการอนุรักษ์ทะเลอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม "World Ocean Review 1" หรือ WOR 1 เป็นรายงานฉบับแรกของ maribus ที่แสดงข้อมูลอย่างครอบคลุม ละเอียด และเด่นชัด เกี่ยวกับสถานการณ์ของทะเลทั่วโลก รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างทะเลกับระบบนิเวศทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสังคมการเมือง จนถึงตอนนี้มีผู้ขอรับสำเนารายงาน WOR 1 ฉบับภาษาเยอรมันและอังกฤษไปแล้วราว 70,000 ฉบับทั่วโลก ส่วนรายงานฉบับต่อมาคือ "World Ocean Review 2 - The Future of Fish - The Fisheries of the Future" และ "World Ocean Review 3 - Marine Resources - Opportunities and Risks" ได้มีการวิเคราะห์เนื้อหาหลักอย่างละเอียดมากขึ้น

          สำหรับรายงานฉบับที่ 4 "Sustainable Use of Our Oceans - Making Ideas Work" เกิดขึ้นจากความร่วมมือของพันธมิตรหลายรายที่ทำงานกับทะเลมาตลอดหลายปีและมีมาตรฐานทางวิชาการในระดับสูงสุด ซึ่งประกอบด้วย

          - สถาบัน International Ocean Institute (IOI) ซึ่งก่อตั้งโดย Elisabeth Mann-Borgese เมื่อปี 2515
          - กลุ่ม Kiel Cluster of Excellence "The Future Ocean" ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์กว่า 200 ท่านจากสาขาวิชาต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Kiel University, GEOMAR Helmholtz Centre for Ocean Research Kiel, Kiel Institute for the World Economy และ Muthesius Academy of Fine Arts and Design นอกจากนั้นยังได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลของรัฐภายใต้กรอบการทำงาน Excellence Initiative ของ German Research Foundation (DFG)
          - mare ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับทะเล

          รายงาน "World Ocean Review 4" ตีพิมพ์ 25,000 ฉบับ และแจกฟรีโดยไม่มีการจำหน่ายและไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะแสวงหากำไร สามารถขอรับได้จากเว็บไซต์ WOR  ( http://www.worldoceanreview.com ) นอกเหนือจากรายงานฉบับภาษาเยอรมันแล้ว ยังมีการเผยแพร่รายงานฉบับภาษาอังกฤษด้วย สำหรับรายงานฉบับเต็มจะเผยแพร่พร้อมกันที่ http://www.worldoceanreview.com

          "World Ocean Review 4 - Sustainable Use of Our Oceans - Making Ideas Work" เผยแพร่โดย maribus gGmbH, ฮัมบูร์ก 2558 ในรูปแบบหนังสือปกอ่อนความยาว 152 หน้า มีภาพประกอบและภาพถ่ายหลายภาพ

          ลิงค์

          http://www.worldoceanreview.com
          http://www.mare.de
          http://www.futureocean.org

          การติดต่อและขอรับสำเนาตัวอย่าง

          maribus gGmbH
          Stephanie Haack
          Media & Public Relations
          โทร. +49-(0)40-368076-22
          อีเมล: haack@maribus.com

          Cluster of Excellence "The Future Ocean"
          Christian-Albrechts-Universitat zu Kiel / University of Kiel
          Friederike Balzereit, Public Relations
          โทร. +49-431-880-3032
          อีเมล: fbalzereit@uv.uni-kiel.de

          ที่มา: maribus gGmbH

          พีอาร์นิวส์ไวร์


No comments:

Post a Comment