การศึกษาระยะยาวของสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์สวิตเซอร์แลนด์ (FiBL) ในประเทศเคนยา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เกษตรอินทรีย์ไม่เพียงให้ผลผลิตที่เทียบเคียงได้กับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่าด้วย
การศึกษาระยะเวลา 10 ปีในเมือง Thika และ Chuka ซึ่งทางสถาบันฯ ได้จัดทำร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2550 นั้น ขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า การทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้พื้นที่มากกว่าเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เท่ากัน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์มีต้นทุนน้อยกว่า แต่สามารถขายผลผลิตได้ราคาดีกว่า โดยเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์จะเริ่มมีรายได้สูงกว่าเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบดั้งเดิมหลังทำการเพาะปลูกไปได้ 5 ปี และในปีที่ 6 จะมีรายได้มากกว่าเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบดั้งเดิมถึง 63%
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งจากการศึกษาครั้งนี้คือ ดินที่ใช้ทำการเกษตรแบบอินทรีย์จะมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น นอกจากนี้ การที่ระบบเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ยังส่งผลดีทั้งต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชน เนื่องจากไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตราย
การศึกษาคู่ขนานเรื่องการผลิตฝ้ายในประเทศอินเดีย และการผลิตกาแฟในประเทศโบลิเวีย เผยให้เห็นผลลัพธ์เชิงบวกที่เหมือนกันจากการใช้วิธีเกษตรอินทรีย์ โดยการเปรียบเทียบระบบเกษตรกรรมเขตร้อนในระยะยาว (SysCom) นั้นมุ่งหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการทำเกษตรอินทรีย์เทียบกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม และมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และนานาชาติ
การศึกษายังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวิธีทำการเกษตรแบบอินทรีย์เป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถปฏิบัติได้จริงในเขตร้อน ที่ซึ่งการเผยแพร่ความรู้และการฝึกอบรมการทำเกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญ ทั้งนี้ การเผยแพร่ความรู้ถือเป็นเรื่องหลักที่ Biovision Foundation ได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยในแอฟริกาตะวันออกปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น โดยทางมูลนิธิฯ ได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาระยะยาวในประเทศเคนยา ร่วมกับหน่วยงาน Swiss Agency for Development and Cooperation, Liechtenstein Development Service และบริษัท Coop ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์
นอกเหนือจากการวิจัยระยะยาวดังกล่าวซึ่งจะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2562 เป็นอย่างน้อย ทางสถาบันฯ ยังใช้วิธีการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรในท้องถิ่นทำการเกษตรแบบประยุกต์ เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน โดยเกษตรกรท้องถิ่นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่น ๆ ได้ดำเนินการทดลองภาคสนามในรูปแบบที่ต่างกัน เพื่อทดสอบและวิเคราะห์แนวทางปฏิบัติที่แปลกและแตกต่างกันไปตามพื้นที่เพาะปลูกและสถานีเกษตรแต่ละแห่ง
รับชมข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งดาวน์โหลดกราฟและรูปภาพได้ที่
http://www.systems-comparison.fibl.org
http://www.biovision.ch
No comments:
Post a Comment