หลังจากที่ได้ทดสอบประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำตามธรรมชาติของต้นสับปะรดสี โดยเฉพาะด้านรูปทรงของพืชที่สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดีแล้ว สุรีย์พร ตรีเพชรประภา ธิดารัตน์ เพียรจัด และ กาญจนา คมกล้า จึงได้สร้างอุปกรณ์กักเก็บน้ำที่มีกลไกการทำงานคล้ายกับการเก็บน้ำของต้นสับปะรดสี และได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้งบนต้นยางพารา ซึ่งผลปรากฏว่า นักเรียนไทยทั้ง 3 คนสามารถคว้ารางวัล Stockholm Junior Water Prize ประจำปี 2559 ไปครองได้สำเร็จ จากผลงานดังกล่าวซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ธรรมชาติคือครูที่ดีที่สุดของมนุษย์
คณะกรรมการตัดสินรางวัลรู้สึกประทับใจในความคิดสร้างสรรค์อันไร้ขีดจำกัด ความวิริยะอุตสาหะ ความกระตือรือร้น และความสนใจ เอาใจใส่ที่มีต่อน้ำ ของนักเรียนไทยผู้ชนะรางวัล
"ผลงานที่ชนะรางวัลในครั้งนี้จะช่วยจัดการกับปัญหาความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำในอนาคต รวมทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในชนบท ผ่านการใช้เทคโนโลยีสุดล้ำที่ออกแบบมาอย่างเรียบง่าย แต่ทว่าซ่อนความซับซ้อนของกลไกภายในไว้เป็นอย่างดี!" คณะกรรมการตัดสินรางวัลระบุในคำประกาศกิตติคุณ
"อุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง โดยเกษตรกรหลายร้อยคนได้ทดลองใช้อุปกรณ์ในพื้นที่เพาะปลูก และต่างก็ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพืชสวยงามที่มีศักยภาพในการกักเก็บน้ำอย่างยอดเยี่ยม"
เมื่อถามถึงการต่อยอดโครงการในอนาคต นางสาวสุรีย์พร ตรีเพชรประภา กล่าวว่า "ดิฉันจะนำแนวคิดนี้ไปใช้เพื่อช่วยบรรเทาความยากจนในชุมชนของเรา"
Torgny Holmgren กรรมการบริหารของ Stockholm International Water Institute (SIWI) กล่าวว่า "สิ่งนี้แสดงว่าในการที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับชุมชน และผลงานชิ้นนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมที่สะท้อนถึงความเรียบง่าย ความชาญฉลาด และตอบโจทย์เรื่องการปรับใช้งาน ซึ่งจะสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่"
การแข่งขันชิงรางวัล Stockholm Junior Water Prize จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นความสนใจด้านทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมในหมู่นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ระดับหัวกะทิจากทั่วทุกมุมโลก โดยปีนี้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับประเทศจำนวนหลายพันคน เพื่อเป็นตัวแทนจาก 29 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันรอบสุดท้าย ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างงานสัปดาห์น้ำโลกประจำปี 2559 ที่กรุงสตอกโฮล์ม
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Stockholm International Water Institute, Stockholm Junior Water Prize และ World Water Week สามารถเยี่ยมชมได้ที่ http://www.siwi.org และ http://www.worldwaterweek.org
ที่มา: Stockholm International Water Institute
No comments:
Post a Comment