Wednesday, May 3, 2017

รายงาน CGAP-World Bank เผยบริการทางการเงินช่วยยกระดับชีวิตประชาชนในยามที่โลกเผชิญวิกฤตมนุษยธรรม





          องค์กร Consultative Group to Assist the Poor (CGAP) ร่วมกับกองทุน State and Peacebuilding Trust Fund (SPF) ของ World Bank Group เปิดเผยรายงานล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบริการทางการเงินที่มีคุณภาพในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรม เช่น วิกฤตซีเรีย ซึ่งส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยง รายงานฉบับนี้ได้ชี้แนะแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีบทบาทด้านการพัฒนา ผู้ที่มีบทบาททางการเงิน ตลอดจนรัฐบาล ในการเชื่อมโยงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะสั้น เข้ากับการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงในระยะยาว
          สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ประมาณการว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ประชากรจำนวนถึง 65 ล้านคนทั่วโลกจำเป็นต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากเกิดภาวะสงคราม ความขัดแย้ง หรือภัยธรรมชาติ แม้วิกฤตเหล่าจะมีลักษณะเหตุการณ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่กลับพบว่าความถี่ ความรุนแรง และความซับซ้อนของวิกฤตได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องเปิดรับผู้ลี้ภัยมากกว่า 90% ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐาน ตลาดและบริการสาธารณะในประเทศเหล่านี้ต้องแบกรับภาระมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤตด้านมนุษยธรรมได้กลายเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการพัฒนา แต่หากประเทศต่างๆสามารถทำให้ทุกภาคส่วนและทุกระดับรายได้ของสังคมสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีคุณภาพ ก็อาจเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตด้านมนุษยธรรมได้
          รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า " The Role of Financial Services in Humanitarian Crises " หรือ "บทบาทของบริการทางการเงินในภาวะวิกฤตด้านมนุษยธรรม" โดยรายงานได้สังเคราะห์หลักฐานเชิงประจักษ์และบทเรียนที่เกิดจากการลงพื้นที่ สำหรับประชากรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตแล้วนั้น ความสามารถในการจัดการกับภาวะตื่นตระหนกนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปราะบางและไม่มั่นคงมักจะทำให้สถานการณ์ดังกล่าวย่ำแย่ลงไปอีก โดยถึงแม้ความต้องการใช้บริการทางการเงินในระบบยังคงมีอยู่มาก แต่การเข้าถึงบริการเหล่านี้กลับเป็นไปอย่างจำกัดในยามที่เกิดวิกฤต ทั้งนี้ บริการด้านการเงินช่วยให้ประชาชนสามารถจัดการกับวิกฤตได้ในหลายทางดังต่อไปนี้:
          - การส่งเงินกลับประเทศช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน:  ชาวเคนยาส่งเงินให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูงในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งในปี 2550-2551 ผ่านบริการ M-Pesa
          - การออมช่วยเพิ่มความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาพปกติ: ครัวเรือนที่มีบัญชีออมทรัพย์สามารถฟื้นตัวจากเหตุการณ์พายุใต้ฝุ่นโยลันดาพัดถล่มฟิลิปปินส์ได้เร็วกว่าครอบครัวที่ไม่มีเงินออม
          - การทำประกันภัยช่วยลดความเสี่ยง: เกษตรกรในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยแล้งในเซเนกัลและบูร์กินาฟาโซที่ทำประกันไว้ มีผลตอบแทนที่สูงกว่าผู้ที่ไม่ทำประกัน
          - บัตรกำนัลและการโอนเงินสดให้ผลทวีคูณต่อเศรษฐกิจ: การโอนเงินผ่านระบบดิจิทัลช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการส่งเงิน ทั้งยังลดการรั่วไหล
          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริการด้านการเงินจะส่งผลดีต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคสำคัญบางประการที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่อ่อนแอหรือมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นหลังเกิดวิกฤตได้, นโยบายการเงินที่ไร้ประสิทธิภาพและกรอบการกำกับดูแลที่จำกัดอำนาจของผู้ปฏิบัติ เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ในการให้บริการโอนเงินผ่านมือถือเพื่อเพิ่มช่องทางการส่งความช่วยเหลือ ไปจนถึงการที่ผู้ให้บริการด้านการเงินยังไม่มีการวางระบบจัดการความเสี่ยงที่ดีพอสำหรับบรรเทาปัญหาขาดสภาพคล่องและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นควบคู่กับวิกฤต
          Mayada El-Zoghbi หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ การวิจัยและการพัฒนา ประจำ CGAP กล่าวว่า "มีความเป็นไปได้สูงมากในการนำระบบการเงินมาใช้เพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมรับมือและตอบสนองเมื่อเกิดวิกฤต ในฐานะองค์กรที่รวมทั้งผู้ปฏิบัติและผู้บริจาค เราเพิ่งมาถึงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์วิกฤต เราหวังว่ารายงานฉบับนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติ ผู้บริจาค และผู้จัดทำนโยบาย สามารถตัดสินใจเลือกลงทุนและออกนโยบายที่ถูกต้อง"
          รายงานฉบับนี้กล่าวถึงวิธีการที่ผู้บริจาคและผู้มีบทบาทสำคัญรายอื่นๆ สามารถนำบริการทางการเงินมาใช้ประโยชน์ในฐานะเครื่องมือสำหรับรับมือและจัดการกับสถานการณ์วิกฤต ด้วยการกำหนดอย่างชัดเจนให้การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนการให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
          Ceyla Pazarbasioglu ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่าย Finance and Markets Global Practice ของ World Bank Group กล่าวว่า "รายงานฉบับนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกำหนดนโยบายทั่วโลก และผลักดันการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของบริการด้านการเงินในการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนสำหรับประชาชนที่เผชิญกับวิกฤต"
          CGAP (Consultative Group to Assist the Poor) เป็นความร่วมมือระดับโลกขององค์กรชั้นนำมากกว่า 30 องค์กร เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงิน CGAP พัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการเงินผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติและการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับบรรดาผู้ให้บริการทางการเงิน ผู้จัดทำนโยบาย และผู้ให้ทุนสนับสนุน CGAP ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ธนาคารโลก ได้นำแนวทางการพัฒนาตลาดด้วยความรับผิดชอบและแนวทางสนับสนุนที่อิงหลักฐานเชิงประจักษ์มาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีฐานะยากจนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.cgap.org
          State and Peacebuilding Trust Fund (SPF) เป็นกองทุนทรัสต์พหุภาคีขนาดใหญ่ที่สุดของ World Bank Group ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการใหม่ๆซึ่งเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากความเปราะบาง ความขัดแย้งและความรุนแรง รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.worldbank.org/en/programs/state-and-peace-building-fund

No comments:

Post a Comment