เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ทางการของรัฐบาลมณฑลเสฉวนได้เผยแพร่เอกสารการตอบรับและอนุมัติการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่เฉิงตูตะวันออก (Eastern Chengdu New Area) ซึ่งระบุว่า เขตเศรษฐกิจแห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการพัฒนาวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง หรือ "Chengdu-Chongqing Economic Circle"
เฉิงตูและฉงชิ่งเป็นมหานครที่มีอาณาเขตติดกันในภาคตะวันตกของจีน โดยประชากรของทั้งสองเมืองมีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมการกินที่คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการบัญญัติคำว่า "Chengdu-Chongqing Economic Circle" ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลจีนที่ต้องการสร้างพื้นที่ดังกล่าวให้เป็น “ขั้วความเจริญที่สำคัญเพื่อการพัฒนาที่มีคุณภาพ”
การขยายตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของนครเฉิงตู อันเป็นหนึ่งในสองเมืองหลักของ "Chengdu-Chongqing Economic Circle" ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก โดยในเดือนตุลาคม 2562 สถาบันมิลเคน (Milken Institute) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองในสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับเมือง 262 แห่งในประเทศจีน โดยอ้างอิงจากดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนา 9 ข้อ พบว่า เฉิงตูแซงหน้าเซินเจิ้นขึ้นเป็นเมืองที่ทำผลงานดีที่สุดของจีน (Best-performing Chinese Cities)
นายหวง หัวเยี่ยว์ ผู้จัดการแผนกวิจัยของศูนย์เอเชียสถาบันมิลเคน และผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับดังกล่าว เผยว่า “ข้อมูลการจัดอันดับเมืองที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดของจีน เพียงพอที่จะชี้ว่า นวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรากฐานของการปฏิรูปเมืองของจีนในอนาคต” และระบุด้วยว่า “นครเฉิงตูกำลังสร้างเขตอุตสาหกรรมไฮเทคสมัยใหม่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล และกำลังขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจออกไปในการพัฒนาฝั่งตะวันตกของจีน ซึ่งทั้งสองปัจจัยนับเป็นแรงสนับสนุนสำหรับเมืองที่จะก้าวสู่ความเป็นอภิมหานคร”
เพื่อที่จะกระตุ้นแรงผลักดันและศักยภาพของอุตสาหกรรม บ่มเพาะและฟูมฟักองค์กรนวัตกรรมและเทคโนโลยีท้องถิ่น ตลอดจนดึงดูดบริษัทด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้มาตั้งธุรกิจในเมืองมากขึ้น นครเฉิงตูจึงสร้าง "เกาะยูนิคอร์น" ในเขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่ทางตอนใต้ของเมือง ซึ่งปัจจุบันยังได้กลายเป็นศูนย์อุตสาหกรรมแห่งแรกของโลกที่มุ่งเน้นการบ่มเพาะและฟูมฟักบริษัทระดับยูนิคอร์นเป็นหลัก ทั้งนี้ โครงสร้างหลักซึ่งได้แก่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม จะก่อสร้างแล้วเสร็จในไม่ช้า ขณะที่คาดว่า รวมทั้งโครงการจะบรรลุผลภายในปี 2565
นอกจาก "เกาะยูนิคอร์น" แล้ว ศูนย์นวัตกรรมและธุรกิจเพื่อความร่วมมือระหว่างจีนและยุโรป หรือ Business and Innovation Centre for China-Europe Cooperation ก็กำลังผงาดขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำในภาคตะวันตกของจีนที่บริษัทด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั่วโลกเลือกเข้าไปเปิดดำเนินธุรกิจ โดยปัจจุบัน มีบริษัทและองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 50 แห่ง เช่น ศูนย์นวัตกรรม AWS Joint Innovation Center สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเกรทเทอร์ของบริษัท Opera จากนอร์เวย์ Sigfox บริษัทด้าน IoT ของฝรั่งเศส และสำนักงานใหญ่ระดับโลกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัท Vertu จากสหราชอาณาจักร
เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเฉิงตู-อิสราเอลอย่างเป็นทางการภายใน Business and Innovation Centre for China-Europe Cooperation โดยศูนย์แห่งนี้มุ่งเน้นการบริการ เช่น การเงินระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมไฮเทค และการแปรผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ ด้วยเป้าหมายที่จะตอบสนองบรรดาโครงการเทคโนโลยีและนวัตกรรมท้องถิ่นของเฉิงตูที่ต้องการเพิ่มการติดต่อสื่อสารกับทั่วโลก
การรวมกลุ่มและการเติบโตของบริษัทเหล่านี้ ทำให้เฉิงตูกลายเป็นเมืองที่คึกคักมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของประชากร และการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ในฐานะเมืองศูนย์กลางของจีนที่ใกล้ชิดกับยุโรปมากที่สุด เมืองเฉิงตูจึงยิ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดมากขึ้นในฐานะศูนย์กลางระหว่างประเทศ
โดยท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวเป็นศูนย์กลางการบินอันดับ 4 ของจีน ด้วยเส้นทางการบินระหว่างประเทศ (ภูมิภาค) 127 เส้นทางไปยัง 5 ทวีป ขณะที่ท่าอากาศยานยานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2564 และจะทำให้เฉิงตูกลายเป็นเมืองแห่งที่สามในประเทศจีน ต่อจากปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ที่มีสนามบินนานาชาติสองแห่งตั้งอยู่ในเมือง
ในขณะเดียวกัน เฉิงตูยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากจีนไปยังยุโรป โดยมีขบวนรถไฟด่วนจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) เดินทางออกจากเฉิงตูเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศจีนเป็นปีที่สามติดต่อกัน และแม้อยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ขบวนรถไฟด่วนจีน-ยุโรปที่ออกจากเฉิงตูในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. ปีนี้ ก็ยังคงทำสถิติที่ 267 ขบวน ซึ่งพุ่งขึ้นถึง 88% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
เฉิงตูยึดตำแหน่งฮับที่สำคัญในประเทศไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยขณะนี้ ทางรถไฟความเร็วสูงสายกลางที่เชื่อมระหว่างเฉิงตูและฉงชิ่ง (Chengdu-Chongqing Hi-speed Railway Central Line) ระยะทาง 280 กม. ซึ่งเป็นทางรถไฟความเร็วสูงสายที่สามระหว่างเฉิงตูและฉงชิ่งนั้น กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเมื่อแล้วเสร็จ จะทำให้ระยะเวลาในการเดินทางระหว่างสองเมืองลดลงจาก 90 นาทีในปัจจุบัน เหลือเพียง 50 นาที การดำเนินการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะส่งผลดีต่อการพัฒนา Chengdu-Chongqing Economic Circle และ Chengdu-Chongqing City Cluster
เฉิงตูกำลังใช้เขตเศรษฐกิจใหม่ หรือ "new area" ในการสร้างประโยชน์จากการเป็นประตูสู่ภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาวงกลมเศรษฐกิจที่ครอบคลุมพื้นที่ของสองเมือง และอาจทำให้ "Chengdu-Chongqing Economic Circle" กลายเป็นอภิมหานครแห่งใหม่ของจีนในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ตลอดจนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่กระตุ้นการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ในขณะที่เฉิงตูจะทำหน้าที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการส่งพลังขับเคลื่อน
ที่มา: The Chengdu Eastern New Area
No comments:
Post a Comment