Wednesday, May 30, 2018

สมาพันธ์หัวใจโลกย้ำ “บุหรี่” คือสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด

          - องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศคำขวัญประจำวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2561 คือ "รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่" (Tobacco breaks hearts, choose health and not tobacco)
          - การสูบบุหรี่มีส่วนในการเสียชีวิตของผู้คนราว 7 ล้านคนทั่วโลกทุกปี และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจล้มเหลว รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ
          - สมาพันธ์หัวใจโลก (WHF) ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างบุหรี่กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนส่งเสริมให้ตระหนักถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นทันทีและประโยชน์ในระยะยาวจากการเลิกสูบบุหรี่

          องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันงดสูบบุหรี่โลกตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี สำหรับปีนี้จะเน้นรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างบุหรี่กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การสูบบุหรี่มีส่วนในการเสียชีวิตของผู้คนราว 7 ล้านคนทั่วโลกทุกปี ทั้งจากการสูบบุหรี่โดยตรงหรือการได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น


 

          การสูบบุหรี่ทำลายหลอดเลือดและทำให้เลือดข้นขึ้น ส่งผลให้อัตราการสูบฉีดเลือดและความดันเลือดสูงขึ้น ทั้งยังทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุอันดับสองของโรคหัวใจและหลอดเลือด รองจากความดันโลหิตสูง และเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตทั่วโลก ทางสมาพันธ์หัวใจโลกจึงขานรับวันงดสูบบุหรี่โลกที่ริเริ่มโดยองค์การอนามัยโลก

          แม้ว่าประชาชนทั่วไปจะคุ้นเคยกับผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพ แต่องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า คนทั่วไปแทบไม่คิดว่าบุหรี่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ศาสตราจารย์เดวิด วู้ด ประธานสมาพันธ์หัวใจโลก กล่าวว่า "การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจให้เลิกสูบบุหรี่ รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเลิกสูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน การทำเช่นนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วย และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เราจำเป็นต้องรณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อหัวใจ รวมถึงรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนไม่ข้องแวะกับบุหรี่ตั้งแต่ต้น"

          เกือบ 80% ของผู้ที่สูบบุหรี่หนึ่งพันล้านคนทั่วโลก อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ซึ่งต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตเพราะบุหรี่สูงมาก ด้วยเหตุนี้ สมาพันธ์หัวใจโลกจึงดำเนินนโยบาย "เพราะทุกจังหวะหัวใจล้วนมีความหมาย" (Because every heartbeat matters) เพื่อยกระดับการเข้าถึงการดูแล ป้องกัน ควบคุม และจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับทุกคน ทุกสถานะ และทุกสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต

          ศาสตราจารย์วู้ดกล่าวเสริมว่า "เราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าถึงความจำเป็นในการเน้นย้ำความเสี่ยงของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดอย่างต่อเนื่อง การนำผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ ภาครัฐ สถาบันต่างๆ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไปมาร่วมมือกัน ทำให้เราสามารถให้ความรู้อย่างต่อเนื่องแก่ประชาชนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทำลายสุขภาพ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงการดูแลรักษาทั่วโลก" อีกไม่นานนี้ สมาพันธ์หัวใจโลกจะเผยแพร่เอกสารข้อเท็จจริง 2 ฉบับเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ โดยฉบับหนึ่งสำหรับประชาชนทั่วไป และอีกฉบับหนึ่งสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

          ในวันที่ 29 กันยายน สมาพันธ์หัวใจโลกจะเฉลิมฉลองวันหัวใจโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดที่ดี และหนึ่งในสาระสำคัญที่จะนำเสนอก็คือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นทันทีและประโยชน์ในระยะยาวจากการเลิกสูบบุหรี่ ดังนี้

          - ภายในเวลาเพียง 20 นาที อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตจะลดลง
          - 12 ชั่วโมงหลังจากหยุดสูบบุหรี่ ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดจะลดลงและกลับคืนสู่ระดับปกติ
          - ในระหว่าง 2-12 สัปดาห์ ระบบไหลเวียนเลือดและการทำงานของปอดจะดีขึ้น
          - ในช่วง 9 เดือนแรก อาการไอและหายใจลำบากจะลดลง
          - 1 ปีหลังจากเลิกสูบบุหรี่ ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของผู้ที่สูบบุหรี่
          - ในระหว่าง 5-15 ปีหลังจากเลิกสูบบุหรี่ ความเสี่ยงในการเจ็บป่วยจากโรคหลอดเลือดสมองจะลดลงเท่ากับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
          - 15 ปีหลังจากเลิกสูบบุหรี่ ความเสี่ยงในการเจ็บป่วยจากโรคหลอดเลือดหัวใจจะเท่ากับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

          ที่มา: สมาพันธ์หัวใจโลก

No comments:

Post a Comment