ผลวิจัยครั้งใหม่ล่าสุดพบว่า การเลี้ยงสุนัขช่วยให้ผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเดินออกกำลังกายได้มากขึ้น
ผลวิจัยที่ได้รับการเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า สำหรับผู้สูงวัยนั้น การเลี้ยงสุนัขจะช่วยเพิ่มแนวโน้มในการมีกิจกรรมทางกายตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
เป็นที่ทราบกันดีว่า กิจกรรมทางกายจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งชนิดต่างๆ และโรคซึมเศร้า ขณะที่ผลวิจัยล่าสุดช่วยตอกย้ำว่า การเลี้ยงสุนัขจะเป็นผลดีต่อสุขภาพเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นได้
ศาสตราจารย์แดเนียล มิลส์ ผู้นำโครงการวิจัย กล่าวว่า "เราต่างรู้ดีว่า เมื่อมีอายุมากขึ้นเราจะเคลื่อนไหวช้าลง แต่เราก็ต้องทำตัวให้กระฉับกระเฉงอยู่เสมอเพราะนั่นเป็นผลดีต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตในหลายแง่มุม สำหรับปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้สูงวัยมีกิจกรรมทางกายมากขึ้นยังไม่มีการระบุอย่างชัดเจน แต่เราสนใจศึกษาว่าการเลี้ยงสุนัขสามารถยกระดับสุขภาพของผู้สูงวัยด้วยการกระตุ้นให้มีกิจกรรมทางกายมากขึ้นหรือไม่"
อ่านการศึกษาที่นี่: https://bmcpublichealth.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12889-017-4422-5
การวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของมหาวิทยาลัยลินคอล์นและมหาวิทยาลัยกลาสโกว์คาเลโดเนียน และได้รับการเผยแพร่ทางวารสาร BMC Public Health โดยได้จัดทำขึ้นร่วมกับสถาบันวิจัยโภชนาการสัตว์เลี้ยงวอลแธม ในเครือมาร์ส เพ็ทแคร์ และได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก ISAZ/WALTHAM Award ทั้งนี้ คณะวิจัยได้ใช้ปัจจัยชี้วัดกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงเป็นครั้งแรก เพื่อรวบรวมข้อมูลกิจกรรมของผู้เข้าร่วมการวิจัยอย่างเป็นกลาง ทั้งกลุ่มที่เลี้ยงสุนัขและไม่ได้เลี้ยงสุนัข
ดร.ฟิลิปปา ดาลล์ หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า "จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่เลี้ยงสุนัขจะเดินมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสุนัขราว 20 นาทีต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง ในขณะที่ WHO แนะนำให้มีกิจกรรมทางกายปานกลาง-หนัก อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์เพื่อสุขภาพที่ดี ดังนั้น การเดินเพิ่มขึ้นวันละ 20 นาทีตลอดทั้งสัปดาห์ก็น่าจะเพียงพอตามคำแนะนำของ WHO สิ่งที่เราค้นพบตอกย้ำว่า การพาสุนัขเดินเล่นช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายได้อย่างมีนัยสำคัญ"
แนนซี่ จี นักวิจัยจากวอลแธมและผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวว่า "การวิจัยครั้งนี้บ่งชี้ว่า การเลี้ยงสุนัขอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูงวัยได้เดินออกกำลังกาย นอกจากนี้ เราพบว่าวิธีที่ใช้ในการชี้วัดกิจกรรมนั้นได้ผลดีมาก และอยากแนะนำให้การวิจัยในอนาคตนำปัจจัยการเลี้ยงสุนัขและการพาสุนัขเดินเล่นมาใช้เป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาด้วย แม้ว่าการวิจัยนั้นอาจไม่ได้เน้นเรื่องการเลี้ยงสุนัข แต่การเลี้ยงสุนัขก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม"
No comments:
Post a Comment